ไม่พบผลการค้นหา
ท่ามกลางเสียงถกเถียง การยกข้อมูลตัวเลข GDP ขึ้นมาอ้างอิง เพื่ออธิบายสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เวลานี้ประเทศเรากำลังอยู่ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ หรือกำลังอยู่ในภาวะของการค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ หากเดินออกไปถามคนทั่วไปสักสิบคน ร้อยคน คำตอบที่ได้จะมีทั้งสองแบบ ขึ้นกับว่าผู้ให้คำตอบเป็นใคร ยืนอยู่ในช่วงชั้นในของสังคม และทำมาหากินกับอะไร แต่กับครอบครัวของนักโทษทางการเมือง คำตอบที่ได้มีเพียงทางเดียว คือ มันเป็นวิกฤติเศรษฐกิจระดับครัวเรือนโดยแท้

นุ๊ก อายุ 21 ปี ปัจจุบันเป็นลูกจ้างรายวันในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี เธอมีลูกวัย 1 ขวบเศษ ชื่อ ‘ไออุ่น’ เขาเป็นเด็กผู้ชายอารมณ์ดี ตัวจ้ำม่ำ น่ารัก ไม่เหนียมอายคนแปลกหน้า วิ่งเข้าใส่ ยอมให้อุ้ม ยอมให้กอด ทั้งคู่อาศัยอยู่แถวย่านราชพฤกษ์ ในบ้านยายของไออุ่น ส่วน อารีฟ วีรภาพ วงษ์สมาน คุณพ่อวัย 21 ปี ไม่ได้มีโอกาสอยู่ที่นั่นด้วย 

อารีฟ ถูกศาลพิพากษาให้มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  เขาถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา เพราะถูกกล่าวหาว่า เป็นคนพ่นสีสเปรย์เป็นข้อความที่ว่า “ควรปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไอ้...(แต่ใช้คำพ้องเสียงที่ใกล้เคียงกับคำกษัตริย์)” 28 ก.ย. 2566 คือวันสุดท้ายที่เขาได้มีโอกาสกอดเจ้าไออุ่น ลูกชายที่เวลานั้นมีอายุเพียง 8 เดือน แน่นอนจนถึงตอนนี้ อารีฟ ยังไม่ได้สิทธิประกันตัวเพื่อสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์ แม้ที่ผ่านมาเขายังมีโอกาสได้เจอหน้าลูกบ้าง จากการที่แม่ของเด็กพาไปเยี่ยม แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสอุ่นไอจากเจ้าตัวน้อย

ย้อนกลับไปช่วงปี 2563 - 2564 นุ๊ก และ อารีฟ คือคนหนุ่มสาว ที่ออกไปร่วมชุมนุมทางการเมืองในม็อบราษฎร เขาทั้งคู่รู้จักกันในม็อบหมู่บ้านทะลุฟ้าช่วงกลางเดือน มี.ค. 2564 คล้ายกับความบังเอิญในวันที่ 27 มี.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้เข้าสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า ที่ปักหลักค้างคืนข้างทำเนียบรัฐบาลมาตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. ทั้งคู่ถูกควบคุมตัวไปพร้อมกันกับผู้คนอีกหลายสิบชีวิต และวันนั้นคือ วันแรกที่เขาตกลงที่จะพัฒนาความสัมพันธ์

เกือบปีหลังจากนั้น ‘ไออุ่น’ ก็กลายเป็นสมาชิกใหม่ในความสัมพันธ์ที่พวกเขาสร้างขึ้น นุ๊ก เล่าว่า ชื่อนี้อารีฟ ตั้งขึ้นจากเพลงที่ส่งมาจีบในช่วงที่เริ่มคุยกันแรกๆ และหลังจากมีลูก อารีฟ ที่เคยเป็นคนใจร้อน หงุดหงิดง่าย ก็มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น 

ในเวลาที่อิสรภาพยังไม่ถูกจำกัด ความสัมพันธ์ของครอบครัวยังไม่มีลูกกรงกั้น ด้วยความที่ทั้งคู่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวคนจนเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ได้สบายนัก ไม่ต้องพูดถึงฐานทางเศรษฐกิจที่คนรุ่นพ่อแม่สร้างไว้เพื่อรองรับคนรุ่นพวกเขา แม้จะมีลูกเล็กแต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในทุกวัน 

ตามที่ขึ้นต้น นุ๊กมีอาชีพเป็น พนักงานรายวัน ทำงานอยู่ในห้องจัดยาของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี เวลาการทำงานของเธอตรงตามเวลาราชการ เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ ถึงวันศุกร์ หากเดือนไหนมีวันหยุดพิเศษ หรือวันนักขัตฤกษ์บ่อยๆ รายรับที่ควรจะได้ก็จะลดน้อยลง โดยเฉลี่ยแล้วเธอได้ค่าแรงประมาณหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือน เงินในส่วนนี้จะถูกใช้ไปกับค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องจ่ายเป็นรายเดือน 

ส่วนอารีฟ หลังจากที่การชุมนุมกระแสต่ำ เขากลับมาหางานทำหลังจากตกงานเพราะโควิด-19 เป็นเวลานาน ก่อนหน้าที่เขาจะถูกศาลตัดสิน อารีฟสมัครงานเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดัง ที่กระจายตัวทุกซอกซอย แต่อยู่ได้ไม่นานนัก เขาก็ต้องลาออก เพราะขอลางานไปศาลแต่ถูก ‘เจ้านาย’ ปฏิเสธ จากนั้นเขาได้งานประจำที่ใหม่ เป็นพนักงานในร้านเหล้าย่านดอนเมือง ได้รับงานค่าจ้างวันต่อวัน เงินในส่วนนี้จะเป็นเงินที่อารีฟส่งเป็นค่านม ค่าอาหารของไออุ่นโดยเฉพาะ 

โดยปกติครอบครัวที่เพิ่งเริ่มต้นนี้จะได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาก็ต่อเมื่อ พ่อ และแม่มีวันหยุดที่ตรงกัน นุ๊ก เล่าว่า ถ้าวันไหนว่างตรงกันอารีฟมักจะพาลูกออกไปเที่ยว หรือไม่ก็มาหาลูก อยู่กับลูก ใช้เวลากับลูกให้มากที่สุด 

“วันที่จะตัดสิน เขาขอให้หนูพาลูกไปด้วย ตอนแรกหนูไม่อยากให้ลูกไป แต่เขาขอเพราะเขาต้องการกำลังใจ ตอนศาลตัดสินจำคุก ถึงเตรียมใจกันไว้บ้างแล้ว แต่รีฟก็ร้องไห้ออกมาไม่หยุด ตอนถูกผู้คุมพาตัวออกไป เขาของผู้คุมกอดลูกเป็นครั้งสุดท้าย ก็ยังดีที่เขาอนุญาต”

ในด้านสภาพจิตใจ นุ๊ก ซึ่งใกล้ชิดบอกว่า อารีฟ เป็นโรคซึมเศร้า และเคยมีประวัติทำร้ายตัวเอง ตอนได้เยี่ยมผ่านระบบออนไลน์ของทางเรือนจำ เธอไม่สามารถจับใจความสิ่งที่อารีฟพูดได้ เพราะเขาร้องไห้ตลอดเวลาที่ได้คุยกัน แต่สิ่งที่พอฟังรู้เรื่องคือ เขาคิดถึงลูก 

จากนั้นเธอได้รับจดหมายจากอารีฟส่งมาหลายฉบับ ในช่วงแรกจะเป็นการเขียนเรื่องเดิมซ้ำๆ เช่น ขอให้รอเขาออกมา คิดถึงลูก คิดถึงทุกคนที่อยู่ข้างนอก แต่ผ่านไปได้ระยะหนึ่ง เนื้อหาที่อารีฟเขียนถึง แสดงให้เห็นว่าเขาเริ่มปรับตัวได้ แต่ความคิดถึงลูก และความคิดถึงช่วงเวลาที่ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันก็ยังไม่จางไป 

ไม่นานมานี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีโอกาสได้เยี่ยมอารีฟบ่อยครั้ง ได้เผยแพร่เรื่องราวในเรือนจำของอารีฟ สิ่งที่น่าเจ็บปวดใจคือ โดยปกติแล้วจดหมายทุกฉบับที่ส่งออกไปจากเรือนจำไม่ว่าจะเป็นจดหมายที่ส่งทางอิเล็กทรอนิกส์(ให้ผู้ต้องขังเขียนใส่กระดาษ แล้วทางเรือนจำจะสแกนภาพจดหมายส่งไปยังญาติ) หรือจดหมายปกติแบบในอดีต จะมีผู้คุมตรวจสอบข้อความในจดหมายทุกบรรทัด ทุกย่อหน้า ทุกตัวอักษร ตามมาตรการของเรือนจำ เช่น การป้องกันผู้ต้องหานัดแนะกับบุคคลภายนอกเพื่อกระทำความผิดบางอย่าง หรือป้องกันการสื่อสารในทางการเมือง 

จดหมายของอารีฟทุกฉบับที่ส่งถึงเมียและลูก ไร้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทุกฉบับส่งมาถึงมือผู้รับ แต่จากคำบอกเล่าของทนายความ สิ่งที่อารีฟเจอคือ การที่ผู้คุมหยิบคำพรรณาถึงลูกและเมียของเขา มาแซว เยาะเย้ย เหน็บแนม ในฐานะมนุษย์นี่เป็นสิ่งที่ยากจะรับได้

ส่วนสถานะภาพของครอบครัวนี้ หลังจากอารีฟถูกขังมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนปีก่อน นุ๊ก กลายเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพียงคนเดียวโดยสมบูรณ์ แน่นอนว่านั้นไม่ใช่เพียงเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่รวมถึงค่าใช้จ่ายของอารีฟที่จำเป็นต้องใช้ในเรือนจำด้วย ทุกครั้งที่มีโอกาสไปเยี่ยมแบบเห็นหน้า ที่เรือนจำก็จะมีค่ารถเพิ่มเข้ามา รวมทั้งค่าอาหารที่สั่งให้อารีฟ เนื่องจากอาหารของเรือนจำแย่เกินกว่าจะกินได้ 

แม้เวลานี้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้ว และเธอเห็นว่ารัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นนี้ เป็นรัฐบาลที่มาจากคนเสื้อแดง ซึ่งก็เคยผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายมาก่อน นุ๊ก คาดหวังว่า รัฐบาลควรทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับนักโทษทางการเมือง และเธอเห็นว่าการลงโทษจำคุก 3 ปี ที่เกิดขึ้นกับอารีฟเป็นสิ่งที่รุนแรงเกินไป ไม่ได้สัดส่วน

“รัฐบาลนี้เข้ามาคนเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ตอนนี้หนูก็เห็นว่าข้าวของก็ยังแพงอยู่ รู้สึกเหมือนไม่มีอะไรดีขึ้น เงินดิจิทัลก็ไม่รู้จะได้ตอนไหน แล้วได้มาจะทำให้อะไรดีขึ้นหรือเปล่า สิ่งที่อยากได้ตอนนี้ อยากให้เขาปล่อยนักโทษการเมือง มันไม่สมควรมีใครต้องติดคุกด้วยเรื่องแบบนี้ ปล่อยคนของเราออกมาให้กลับมาช่วยกันทำงานหาเงินจะดีกว่า”