ไม่พบผลการค้นหา
ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว หลังจากการต่อสู้ทางการเมืองอย่างหนักตลอดระยะเวลา 45 วันที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศที่ย่ำแย่ และการกดดันจาก ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมกันเอง รวมถึงการสูญเสียรัฐมนตรีคนสำคัญออกจากตำแหน่งไปกว่า 2 คนในรอบสัปดาห์

ทรัสส์ได้ออกมาแถลงบริเวณหน้าบ้านหมายเลข 10 ณ ถนนดาวนิง เพื่อระบุว่า ตนได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรแล้ว หลังจากตนเสียอำนาจทางการเมืองแทบจะสมบูรณ์ จนทำให้ราคาตลาดของประเทศตกต่ำ รวมถึงการเสียรัฐมนตรี 2 คนสำคัญออกจากตำแหน่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อีกทั้งการที่เธอสูญเสียความเชื่อมั่นในฐานะผู้นำพรรคอนุรักษนิยมจากสมาชิกพรรค

ทรัสส์ระบุว่าต่อสื่อมวลชนว่า เธอเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงที่ประเทศเผชิญหน้าอยู่กับ”ความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการระหว่างประเทศอย่างรุนแรง” ก่อนที่ทรัสส์จะยอมรับว่า “ดิฉันได้ตระหนัก… จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ดิฉันไม่สามารถส่งมอบอำนาจได้ตามการที่ดิฉันได้รับเลือกตั้งมาจากพรรคอนุรักษนิยม” อย่างไรก็ดี ทรัสส์ถูกวิจารณ์จากนโยบายลดภาษีเพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งถูกมองว่าไม่ตอบโจทย์ประเทศในยามวิกฤตนี้

ทั้งนี้ ทรัสส์ได้เข้าพบกับ เกรแฮม บราดี ประธานคณะกรรมการ 1922 ในวันนี้แล้ว โดยมีการตกลงที่จะจัดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่ในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ทรัสส์จะยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป จนกว่าผู้สืบทอดตำแหน่งคนใหม่ของเธอจะได้รับเลือกขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่ ซึ่งจะมีการลงมติเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันที่ 28 ต.ค.นี้ และจะประกาศชื่อผู้ชนะจากพรรคอนุรักษริยมในวันที่ 31 ต.ค.นี้

นอกจากนี้ ทรัสส์ยังได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เพื่อกราบบังคมทูลฯ ว่าตนกำลังลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมแล้ว โดยระหว่างนี้ ทรัสส์ยืนยันว่า ตนจะยังคงเดินหน้าเพื่อทำให้มั่นใจว่า “เราจะยังคงอยู่บนเส้นทางที่จะออกแผนการเงิน และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และความมั่นคงของชาติ”

ทรัสส์เผชิญหน้ากับความสาหัสทางการเมือง หลังจาก ควาซี ควาร์เตง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหราชอาณาจักร เสนอแผนงบประมาณที่ส่งผลสะเทือนต่อตลาดอย่างรุนแรง จนทำให้ควาร์เตงถูกทรัสส์ไล่ออกจากตำแหน่ง ตามมาด้วยการประกาศลาออกของ ซูเอลลา บราเวอร์แมน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสหราชอาณาจักร ทรัสส์ยังถูกกดดันจาก ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมร่วมร้อยคน ที่ขู่จะเสนอการลงมติไม่ไว้วางใจเธอ โดยทรัสส์ได้ขู่กลับว่า ความพยายามดังกล่าวจะส่งผลให้เธอประกาศยุบสภา อย่างไรก็ดี คำขู่ของทรัสส์กลับไม่เป็นผล เธอยังคงถูกกดดันอย่างหนักจนนำมาสู่การตัดสินใจลาออกในครั้งนี้

การลาออกในครั้งนี้ของทรัสส์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของสหราชอาณาจักร จะส่งผลให้เธอกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร และสหราชอาณาจักรจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ 3 คนในรอบปีเดียว สะท้อนความผันผวนทางการเมืองประเทศที่หนักหน่วงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ เคียร์ สตาร์เมอร์ หัวหน้าพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็ว หลังจากทรัสส์ประกาศการลาออก

ก่อนหน้านี้ จอร์จ แคนนิง เคยเป็นนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุด ด้วยระยะเวลา 119 วัน ก่อนที่แคนนิงจะเสียชีวิตลงในปี 2370 อย่างไรก็ดี ทรัสส์ได้ทำลายสถิติดังกล่าวลงแล้ว ด้วยการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ก่อนการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ เพียง 2 วัน ทั้งนี้ ทรัสส์เป็นนักการเมืองคนสุดท้ายที่ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถ