ไม่พบผลการค้นหา
นักวิทยาศาสตร์วิจัยผลิต 'นอแรดเทียม' จากหางม้า หวังลดอุปสงค์ในตลาด ถมนอแรดปลอมให้แยกไม่ออกจากของจริง ดึงราคาถูกลงจนไม่คุ้มที่จะลักลอบล่า

วันที่ 8 พ.ย. ทีมนักวิทยาศาสตร์เผยแพร่งานวิจัยผ่านเว็บไซต์วารสารวิชาการไซเอนทิฟิกรีพอร์ตส (Scientific Reports) เผยกระบวนการที่คาดหวังว่าจะใช้เป็นพิมพ์เขียวสำหรับการสร้างนอแรดปลอม

ขณะที่นอแรดเป็นที่ต้องการด้วยหลายเหตุผล ตั้งแต่การใช้ในการแพทย์แผนจีน ตลอดจนการทำเครื่องประดับ นำไปสู่การเติบโตของธุรกิจการลักลอบล่าและค้าผิดกฎหมายข้ามชาติ โดยในปี 2561 เพียงปีเดียวนั้น ในประเทศแอฟริกาใต้มีการลักลอบล่าแรดเพื่อเอานอถึง 769 ตัว

ทั้งนี้ นอแรดไม่ใช่กระดูก แต่เป็นเส้นใยเคราตินที่อัดตัวกันจนแข็งแน่น ซึ่งเป็นเคราตินโปรตีนที่พบได้ในขนหรือเล็บของสิ่งมีชีวิตทั่วไป

ในการพิสูจน์ความเป็นไปได้ของแนวทางการทำนอแรดปลอม ทีมวิจัยได้ผลิตนอแรดปลอมขึ้นจากขนหางของม้า โดยชี้ว่าจากการศึกษาเชิงวิเคราะห์นี้ จะให้ผลลัพธ์ที่แสดงให้เห็นว่านอแรดปลอมและนอแรดจริงมีองค์ประกอบและคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน แม้จะส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ก็ตาม

ส่วนการเลือกใช้ขนม้า เพราะว่ามีเชื้อสายใกล้เคียงกันกับแรด และเส้นใยเคราติน หรือขนก็มีความคล้ายคลึงกัน

ทีมวิจัยเชื่อว่าความก้าวหน้าในครั้งนี้ สามารถนำไปสู่การผลิตนอแรดปลอมมาถมตลาดค้านอดแรด และจะส่งผลให้ราคาของนอแรดจริงลดลง กระทั่งแรงจูงใจในการลักลอบล่าลดลง เพราะไม่คุ้มค่าการลักลอบฆ่าแรดเอานอ

'ฟริตซ์ โวลแรท' ผู้ร่วมวิจัยจากคณะสัตววิทยา มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด กล่าวว่าจากการตรวจสอบพบว่าวัสดุเลียนแบบนอแรดนี้ผลิตได้ค่อนข้างง่ายและราคาถูก

"แนวคิดมีอยู่ว่า ผู้ซื้อรายใดก็ตามที่อยากจะใช้เงินเป็นพันปอนด์เพื่อซื้อนอแรดซักสองสามกรัมจะต้องฉุกคิดว่า มีโอกาสแค่ไหนที่นอแรดนี่จะเป็นของจริงหรือเป็นแค่หางม้า" โวลแรท กล่าว

อีกทั้ง ทีมผู้วิจัยจะปล่อยให้คนอื่นรับไม้ต่อในการพัฒนาแผนเพื่อนำไปสู่การถมตลาดด้วยนอแรดปลอม


ov.png

อย่่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ไม่ใช่งานวิจัยชิ้นแรกที่มุ่งหาความเป็นไปได้ในการผลิตนอแรดปลอม ครั้งหนึ่งมีผู้ให้ความสนใจเรื่องนี้คือ 'เพมเบียนต์' (Pembient) สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ที่มุ่งสร้างนอแรดปลอมที่เหมือนของจริงอย่างแยกไม่ออก โดยมีกำหนดจะวางขายในปี 2565

'ดร. ริชาร์ด โทมัส' จากทราฟฟิก (Traffic) องค์กรคุ้มครองสัตว์ป่า กล่าวว่าแม้งานวิจัยนี้จะมีเจตนาดี แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่

"การผลักดันของเทียมเลียนแบบอาจยิ่งทำให้เกิดการมองว่านอแรดเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการ ส่งผลทำให้อุปสงค์ที่มีอยู่เพิ่มขึ้น ขณะที่การมีนอแรดเทียมอาจกระตุ้นให้เกิดความต้องการของจริง และทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่แย่ลง" เขากล่าว พร้อมเสริมว่าอีกปัญหาหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นคือนอแรดเทียม อาจทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมายทำงานได้ยากขึ้น

ที่มา: Phys / Scientific Reports / Guardian

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: