ไม่พบผลการค้นหา
'อนุทิน' ชื่นชมโครงการ 'เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่' หรือ UCEP เร่งพัฒนาระบบให้ยั่งยืน เป็นธรรม เพิ่มการเข้าถึงบริการ เผยรอบ 2 ปีที่ผ่านมาช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินได้ร้อยละ 84 ส่วนใหญ่อยู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยเรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 10 และให้สัมภาษณ์ว่า โครงการ "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" หรือ Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP ที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินงาน เพื่อให้ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินวิกฤตได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและลดความพิการ โดยไม่ต้องสำรองเงินค่ารักษาพยาบาลใน 72 ชั่วโมงแรก

มีผลการดำเนินงานในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต 55,987 ราย จากผู้ขอใช้สิทธิทั้งหมด 417,956 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รองลงมาคือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สิทธิประกันสังคม ซึ่งสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ถึงร้อยละ 84


DSC_3594.jpg

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ได้มอบให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ พัฒนาระบบให้เกิดความยั่งยืน เป็นธรรมกับทุกฝ่าย อาทิ การแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงานเพื่อรองรับการเบิกจ่าย แก้ไขประเด็นทางเทคนิค เช่นการรับเรื่องอุทธรณ์ ร้องเรียน การย้ายผู้ป่วย การสำรองเตียง เพิ่มความครอบคลุมกลุ่มประชากร พัฒนาระบบสารสนเทศให้เชื่อมโยงทั้งระบบ รวมทั้งเพิ่มรายการยา 906 รายการ และการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับให้สอดคล้องกับการดำเนินงานมากขึ้น 

"ขอชื่นชมทุกหน่วยงานที่ร่วมกันดำเนินงานโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น หากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุดหรือไปถึงเร็วที่สุด เพื่อให้ได้รับการช่วยชีวิตอย่างรวดเร็ว อย่าให้เสียโอกาสในช่วงนาทีวิกฤตของชีวิต โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง" นายอนุทินกล่าว  

เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ตามโครงการนี้จะต้องมีอาการฉุกเฉินวิกฤติที่สำคัญ ได้แก่ 1.หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่รู้สึกตัว 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3.เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง 4.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็นหรือมีการชักร่วม 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6.มีอาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตร่วม ประชาชนหรือสถานพยาบาลมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ โทร 02-8721669 หรือ ucepcenter@niems.go.th ตลอด 24 ชั่วโมง