ไม่พบผลการค้นหา
ไทยมีไฟฟ้าล้นเกินเกือบ 40% แต่วางแผนนำเข้าเพิ่ม เอ็นจีโอชี้ประโยชน์ตกอยู่กับนายทุน ผอ.กองนโยบายไฟฟ้าแจงเล็งเห็นปัญหา-กำลังแก้ไข ที่ผ่านมาต้นทุนทั้งหมดคนไทยต้องแบกภาระ ขณะ ปชช.ลาวสูญเสียชีวิต

ย้อนกลับไปปี 2562 ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะถูกวิกฤตโรคระบาดแทรกแซงจนพังยับเยิน ตามข้อมูลตรงจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) กำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศมีมากถึง 50,932 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการสูงสุดอยู่แค่เพียง 31,377 เมกะวัตต์ 

ไฟฟ้าล้นเกินระดับ 38% อาจไม่ทำให้คนหยุดคิดถึงผลกระทบที่ตามมา หรือต้องยอมรับความจริงตั้งแต่แรกว่า มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รับรู้การมีอยู่ของตัวเลขดังกล่าว ทว่าเบื้องหลังที่หลบซ่อนอยู่ในกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินเต็มไปด้วยผลประโยชน์ของชาติ ที่ไม่ได้ตกอยู่ในมือประชาชนและชีวิตของผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องสูญสลาย 

 
ประโยชน์นี้ 'เพื่อไทย' หรือ 'เพื่อใคร'

การมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ตาม 'ไพรินทร์ เสาะสาย' ตัวแทนจากองค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) และ 'เปรมฤดี ดาวเรือง' ผู้ประสานงานโปรเจกต์เสวนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ทำงานใกล้ชิดประเด็นการลงทุนไทยในเขื่อนลาวทั้ง 2 คน ชี้ชัดว่า สัดส่วนพลังงานสำรองที่มากเกินพอดีไม่สร้างประโยชน์กับผู้ใด นอกจาก บริษัทก่อสร้าง ผู้ดำเนินการบริหารโรงไฟฟ้า และสถาบันการเงิน

จากความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลนั้น 'ไพรินทร์' อธิบายว่า กรณีเขื่อนลาวซึ่งเป็นแหล่งพลังงานต่างประเทศหลักของไทยในปัจจุบัน ผลประโยชน์ของบริษัทเอกชนเริ่มต้นตั้งแต่วันที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจ ผู้ดูแลกิจการโครงข่ายพลังงาน หรือกล่าวโดยง่ายว่าเป็นผู้ผูกขาดกิจการขายไฟฟ้าของประเทศ 

ไพรินทร์ เสาะสาย
  • 'ไพรินทร์ เสาะสาย' ตัวแทนจากองค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)

นอกจากบริษัทเอกชนจะสามารถนำสัญญาดังกล่าวเป็นหลักค้ำประกันไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศที่มักระบุเวลาระยะยาวไม่ต่ำกว่า 20 ปี ยังเป็นการรับรองจากภาครัฐว่า กฟผ.ต้องรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดตามข้อตกลง

ไม่ว่าในความเป็นจริง ไทยจะใช้ไฟฟ้าที่ซื้อไปจริงหรือไม่ หรือเป็นการ 'ซื้อไปทิ้ง' ให้ครบตามสัญญา เนื่องจากข้อตกลงซื้อขายดังกล่าว ตามคำอธิบายของ 'ไพรินทร์' ถูกจัดอยู่ในประเภท 'Take-or-Pay'

ขณะที่ 'เปรมฤดี' อธิบายเพิ่มเติมถึงบทบาทของบริษัทก่อสร้างที่ได้ประโยชน์ตรงผ่านกำไรจากการสร้างเขื่อนไฟฟ้า เช่นเดียวกับสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้ให้กับโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำได้รับผลตอบแทนโดยตรงจากดอกเบี้ยเงินกู้

"เขื่อนเป็นธุรกิจที่เริ่มตั้งแต่การก่อสร้าง ในกลุ่มของผู้สร้างต้องมีการทำข้อตกลงกันว่า ผู้สร้างจะได้ผลประโยชน์จากการก่อสร้างในฐานะบริษัทก่อสร้าง บริษัทที่ร่วมหุ้นที่จะได้รับผลประโยชน์จากการขายไฟ เพราะฉะนั้นผลประโยชน์มีมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ว่าสัญญาการซื้อไฟฟ้าต้องเกิดก่อน เพราะว่าสัญญานี้คือสิ่งที่จะเอาไปกู้เงินธนาคาร เพื่อจะบอกว่าเราได้สัญญามาแล้วนะว่า กฟผ.จะซื้อ ก็ขอกู้เงินเท่านั้นเท่านี้"

เปรมฤดี ดาวเรือง ลาว เขื่อน
  • 'เปรมฤดี ดาวเรือง' ผู้ประสานงานโปรเจกต์เสวนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข้อมูลจาก 'รายงานการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน' ที่จัดทำโดย คณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดน หรือ ETOs Watch พบว่า ในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มี 5 บริษัทจากไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง ได้แก่ 

  • บริษัท ช.การช่าง
  • บริษัท ซีเคพาวเวอร์ ซึ่งมี ช.การช่าง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 30.25%
  • บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ ในฐานะบริษัทลูกของ โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ซึ่ง ปตท.ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจพลังงานโดยเฉพาะ
  • บริษัท ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ.
  • บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ช.การช่าง 

การลงทุนยังมีความเกี่ยวข้องกับธนาคารพาณิชย์ 6 แห่งของไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ ในฐานะผู้ให้เงินกู้ด้วยวงเงินรวมประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาท โดยมีธนาคารกรุงไทยเป็นตัวแทนเจ้าหนี้ ก่อนที่ ธนาคารทิสโก้ และธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก จะเข้าร่วมในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มภายหลัง 


ภายใต้โครงการดังกล่าว บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่ง ช.การช่าง เป็นผู้จัดตั้งขึ้นมา ถือเป็นบริษัทผู้รับสัมปทานสร้างเขื่อนไฟฟ้าจากลาว และเป็นคู่สัญญาของ กฟผ.โดยตามสัญญา PPA กฟผ.ประกันรับซื้อไฟฟ้าตลอด 31 ปีของสัญญา ของพลังงาน 3 ประเภท คือ Primary Energy (PE), Secondary Energy (SE) และ Excess Energy (EE) ในสัดส่วนปีละ 4,299 และ 1,410 ล้านหน่วย สำหรับ 2 ประเภท แต่ไม่ระบุจำนวนของประเภทสุดท้าย 

นอกจาก ช.การช่าง ภายใต้ชื่อ ไซยะบุรี จะได้ประโยชน์จากสัญญาซื้อขายไฟระยะยาวกับ กฟผ.แล้ว เมื่อไปดูแผนการสร้างเขื่อน พบว่า บริษัทไซยะบุรี ยังลงนามว่าจ้าง ช.การช่าง (ลาว) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ช.การช่าง ให้ดำเนินการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ในวงเงินประมาณ 7.3 หมื่นล้านบาท 

ภายใต้งานวิจัยของ 'แดนนี มาร์กซ์' และ 'จุน ชาง' จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ที่ตีพิมพ์บนวารสารวิชาการ Asia Pacific Viewpoint มีการประเมินว่า ช.การช่าง อาจมีกำไรสูงถึง 3.1 หมื่นล้านบาท 

‘วอยซ์ออนไลน์’ ได้ติดต่อขอความเห็นจากบริษัทซีเคเพาเวอร์ในประเด็นดังกล่าวแต่ไม่ได้รับคำตอบกลับมา

 
9,000 MW กับชีวิตที่ 'ก้าว' ไปไหนไม่ได้ 

กระบวนการทั้งหมดในการลงทุนสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำหรือการสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดใดก็ตาม ถูกกำหนดจากภาครัฐ ผ่านสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ในบทบาทผู้คำนวณว่าประเทศมีความต้องการพลังงานมากน้อยแค่ไหนในอนาคต ก่อนมอบอำนาจต่อให้ กฟผ.ให้จัดหาพลังงาน ผ่านทั้งการลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้าเอง รับซื้อจากเอกชน ทั้งจาก รายใหญ่ (IPP), รายเล็ก (SPP), รายเล็กมาก (VSPP) รวมไปถึงการรับซื้อจากต่างประเทศ 

'วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู' ผู้อำนวยการกองนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ชี้ว่า ที่ผ่านมา การคำนวณความต้องการเป็นสิ่งที่ต้องพยากรณ์ไปข้างหน้า โดยใช้หลักอ้างอิงการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศ ที่ได้ตัวเลขจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง โดยคาดว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวเฉลี่ย 3.8% ระหว่างปี 2560-2580 

ผอ.กองนโยบายไฟฟ้า เสริมว่า นอกจากประเด็นเรื่องจีดีพี การคำนวณยังต้องอ้างอิงตัวเลขความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดของแต่ละปี ก่อนกลับมาประเมินว่าประเทศมีศักยภาพในการผลิตได้เพียงพอหรือจำเป็นต้องนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ

วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู สนพ.
  • 'วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู' ผู้อำนวยการกองนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

ปัจจุบันไทยมีกรอบความร่วมมือ (MoU) ในการซื้อไฟฟ้าจากลาวทั้งสิ้น 9,000 เมกะวัตต์ ซึ่งตามข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน นับตั้งแต่ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) จากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเทิน-หินบุญ ในปี 2539 ลาวขายไฟให้ไทยแล้วทั้งสิ้นประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ ยังเหลือสัญญาซื้อขายกันอีกราว 3,000 เมกะวัตต์ 

อย่างไรก็ตาม ทั้งจากตัวเลขในตอนต้นที่ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินเกือบ 40% ประกอบกับข้อมูลทั้งจากเอ็นจีโอและ ผอ.กองนโยบายไฟฟ้า ที่ยอมรับว่าระดับกำลังสำรองควรอยู่ที่ราว 15% เท่านั้น 'เปรมฤดี' จึงตั้งข้อสังเกตว่า การเพิ่มยอดการนำเข้าไฟฟ้าใน MoU ไทย-ลาว จากระดับ 7,000 เมกะวัตต์ เป็น 9,000 เมกะวัตต์ เป็นการเอื้อให้มีการลงทุนสร้างเขื่อนเพิ่ม เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มนักลงทุนหน้าเดิมๆ หรือไม่ 

"การที่บอกว่าต้องมีพลังงานเท่านี้จากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะไปเซ็นเอ็มโอยูกับเขาแล้ว ซึ่งพอมาเปรียบเทียบกับไฟฟ้าที่ล้นเกินอยู่แล้ว หักลบกลบหนี้ไปแล้วจะพบว่าเราไม่จำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ประเด็นไม่ได้อยู่เรื่องความต้องการ อันนี้คือประเด็นของพวกเรา ประเด็นอยู่ที่ธุรกิจของพวกคุณคือตกลงกันแล้ว"

'ไพรินทร์' เสริมในประเด็นดังกล่าวว่า แม้ตอนนี้ประเทศจีนจะขึ้นมาเป็นนักลงทุนหลักในเขื่อนลาว แต่ไทยผู้เคยครองอันดับที่ 1 ไม่ได้ล่วงหายไปไหนไกล ยังยึดแท่นอันดับที่ 2 เอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น พร้อมรั้งตำแหน่งผู้นำเข้าไฟฟ้าจากลาวสูงสุดเฉกเช่นที่ผ่านมา

เอ็นจีโอหญิงยังเสริมว่า วัฏจักรผลประโยชน์นักลงทุนไทยในเขื่อนลาวคือความพอเหมาะพอดีที่ลงตัว ประกอบด้วย แผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านผู้ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติด้วยการเป็น 'แบตเตอรีแห่งเอเชีย' ประกอบกับกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดน้อยกว่าไทยมาก 

รวมไปถึง ปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ว่าไทยไม่มีพื้นที่เพียงพอต่อการสร้างโครงการขนาดใหญ่มานานแล้ว หรือแม้แต่ ความจริงสูงสุดว่าการเรียกร้องของคนไทยย่อมมีน้ำหนักมากกว่าความเดือดร้อนของคนต่างชาติ ซึ่งอยู่ห่างไกลความรับรู้ของบุคคลภายนอก ยังไม่นับว่าระบบการปกครองประเทศของลาวทั้งปิดกั้นและไม่เอื้อให้ประชาคมโลกรับทราบว่ากำลังเกิดปัญหาอะไรขึ้นอยู่


คุณเห็นชีวิตคนไหม ?

นอกจากประโยชน์มหาศาลในเชิงเม็ดเงินตกอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม 'เปรมฤดี' ฉายภาพกลับไปยังโศกนาฏกรรมปี 2561 ในห้วงเวลาซึ่งเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ที่มีบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ. ถือหุ้นอยู่ 25% แตก เป็นเหตุให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใต้เขื่อนจำนวนหนึ่งเสียชีวิต ขณะที่อีกอย่างต่ำ 6,600 ราย สูญเสียที่อยู่อาศัยไปอย่างฟื้นคืนกลับมาไม่ได้ 

เขื่อน ลาว เอเอฟพี
  • ประชาชนลาวที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก

'เปรมฤดี' อธิบายว่า ตำแหน่งที่ตั้งของเขื่อนดังกล่าวอยู่เหนือพื้นที่อยู่ชุมชนขึ้นไปเพียง 30 กิโลเมตรเท่านั้น และไม่มีการแจ้งให้คนในพื้นที่ทราบว่ามีการสร้างเขื่อนเหนือที่อยู่อาศัย ทำให้เมื่อเขื่อนแตกชาวบ้านไม่สามารถหลบหนีได้ทัน 

เอ็นจีโอผู้ศึกษาประเด็นการลงทุนในลาวลงความเห็นว่าประชาชนของทั้ง 2 ประเทศต้องทำความเข้าใจ ว่ากำลังถูกรัฐเอาเปรียบอยู่ ฝั่งลาวมีต้นเหตุมาจากการปกครองประเทศแบบไร้ซึ่งประชาธิปไตยแต่กลับเปิดเสรีรับการลงทุนจากต่างประเทศ ไม่เปิดรับฟังความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งยังไม่เปิดโอกาสให้ข่าวสารความทุกข์ยากนี้หลุดรอดออกไปถึงสายตาประชาคมโลก ขณะที่คนไทยยังขาดความตระหนักรู้ของสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน มองไม่เห็นความเชื่อมโยงที่ซ่อนอยู่

"คนไทยต้องเข้าใจประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ถ้าไม่มีตรงนั้น เราจะไม่มีความสามารถในการวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วมันกระทบกับเรายังไง อาจจะบอกว่าน่าสงสารคนลาวถูกน้ำท่วม แต่ไม่สามารถจะเชื่อมโยงได้ว่าน้ำท่วมนั้นอาจจะกระทบกับบิลค่าไฟของคุณนะ เพราะว่าเราเป็นผู้รับซื้อไฟ การที่เขื่อนเสียหายถูกกระทบ ต้องลงทุนใหม่หรือต้องแขวนไว้ ค่าเสียหายตรงนั้นเราไม่มีสิทธิรู้เลย มันอาจจะวกกลับมาที่บิลค่าไฟของเรา อันนี้เป็นสิ่งที่มันต้องสร้างให้มันเกิดขึ้นให้ได้ภายในบ้านเรา" 

เธอเน้นย้ำถึงการตั้งคำถามอย่างแท้จริงต่อที่มาของพลังงานที่ใช้อยู่ใช้ชีวิตประจำวัน พร้อมกล่าวว่า "เราไม่สามารถจะฉาบฉวยได้ตลอดเวลา ว่ามีไฟฟ้าก็ดีแล้วไง ตราบใดที่มีไฟฟ้าเราไม่ต้องตั้งคำถามอะไร มันก็ไม่ได้ ใช่ไหม"

ทั้งยังเชื่อมโยงความสัมพันธ์เหล่านี้ให้ลึกขึ้นไปว่า การปราศจากคำถามและข้อมูลที่ทั่วถึงให้กับสาธารณชนของทั้ง 2 ประเทศ ทำให้ทั้งคนไทยและคนลาวต้องทนกับสารพัดปัญหาที่พ่วงตามมาภายหลัง

เขื่อน ลาว เอเอฟพี
  • ประชาชนลาวที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก
"ไม่ใช่เถียงแค่เราไทย นู่นไม่ใช่ไทย อันนั้นไม่พอ คงไม่ได้" เปรมฤดี กล่าว

 

ตัวเลือกมีแต่(ยัง)ไม่ทำ

คำอธิบายโดยง่ายจาก ‘คมกฤช ตันตระวาณิชย์’ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แบ่งโครงสร้างค่าไฟฟ้าคนไทยออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ‘อัตราค่าไฟฟ้าฐาน’ เกิดจากต้นทุนที่รัฐบาลควบคุมได้ กับ ‘อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร’ (Ft) ซึ่งเป็นประเด็นนอกเหนืออำนาจของประเทศ อาทิ ราคาน้ำมันดิบดูไบในฐานะตัวแปรที่มีผลกับราคาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้า ไปจนถึงอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ 

ไม่ว่าจะมีต้นทุนมาจากสิ่งที่รัฐบาลควบคุมได้หรือปัจจัยที่นอกเหนืออำนาจการออกคำสั่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตั้งแต่ต้นจนจบออกมาเป็นไฟฟ้าคือภาระที่ประชาชนไทยทุกคนต้องแบกร่วมกัน แม้หลายฝ่ายจะไม่ตระหนักว่า บางส่วนเป็นการเสียเงินอย่างสูญเปล่าเพราะไฟฟ้าที่ผลิตได้ในปัจจุบันล้นเกินจากความต้องการ

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ กกพ. ไฟฟ้า
  • ‘คมกฤช ตันตระวาณิชย์’ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

คำถามสำคัญตีคู่กับเทคโนโลยีที่ก้าวไปข้างหน้าจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องว่าทำอย่างไรประชาชนจะได้ใช้ไฟถูกลง ประเทศมีความมั่นคง และสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศทั้งของไทยและประเทศเพื่อนบ้านไม่ถูกทำลาย 

ที่ผ่านมา ไทยพูดถึงการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบเก่าที่ใช้แล้วหมดไปทั้งยังสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สู่พลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือในธรรมชาติ อาทิ พลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม 

ก่อนหน้านี้ ภาครัฐยังเคยออกมาบอกว่าจะให้เอกชนสามารถขายไฟฟ้าล้นเกินเหล่านี้กลับเข้าระบบ ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนผ่านจากที่มาพลังงานไฟฟ้าดั้งเดิมไปเป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมลดลง ยังเป็นการช่วยเรื่องกำลังการผลิตไฟฟ้า ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ 

‘อุทัย อุทัยแสงสุข’ ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ดูแลโครงการ T77 ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบความพยายามสร้างระบบนิเวศการใช้ชีวิตด้วยการสร้างพลังงานไฟฟ้าและซื้อขายกันเองในชุมชุนผ่านโซลาเซลล์ที่ติดบนดาดฟ้าอาคาร ชี้ว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการมา T77 สามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว 15-20% ของความต้องการทั้งหมด โดยมีบางอาคารทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตหลักให้ตนเองและเมื่อมีไฟฟ้าล้นเกินก็ขายให้อาคารข้างเคียง ขณะที่บางอาคารก็รับบทเป็นผู้ซื้อแต่อย่างเดียว

อุทัย อุทัยแสงสุข ฮาบิโตะ
  • ‘อุทัย อุทัยแสงสุข’ ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารโครงการชี้ว่า ปัจจุบันเวลาผ่านไปเกือบ 2 ปี โครงการของตนเองที่อยู่ในระบบนิเวศจำลอง มีการทดลองซื้อขายไฟฟ้าภายในและไม่พบปัญหาใดๆ กลับไม่สามารถขยับขึ้นมาซื้อขายไฟฟ้ากันอย่างจริงจังได้ เพราะปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีกฎหมายและแนวนโยบายในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม 

ผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการชี้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว วงการพลังงานหมุนเวียนในภาคเอกชนจะเดินไปข้างหน้าได้ดีต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากรัฐบาลเท่านั้น


ปล่อย ปชช.ซื้อขายกันเอง = เสี่ยง

วีรพัฒน์ ผอ.กองนโยบายไฟฟ้า เผยว่า ปัจจุบันเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองอย่างมากโดยเฉพาะกับโซลาเซลล์ แต่ที่รัฐบาลยังไม่เข้าไปสนับสนุนประเด็นการขายไฟฟ้าคืนเข้าสู่ระบบหรือขายกันเอง เป็นเพราะที่ผ่านมา กฟผ.เป็นผู้ลงทุนในโรงไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้า การอนุญาตให้เอกชนเข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นอาจนับเป็นการเอาเปรียบ กฟผ.ซึ่งเป็นผู้ลงทุน

"สมมติ กฟผ.เขาลงทุนไปแล้ว อยู่ๆ วันดีคืนดีพวกนี้เข้ามาเยอะ มากกว่าที่คิดไว้ กฟผ.ก็กลายเป็นลงทุนเหมือนสูญเปล่า ลงทุนแล้วใช้ได้ไม่เต็มที่”

นอกจากนี้ ผอ.กองนโยบายไฟฟ้ายังพากลับเข้าประเด็นความมั่นคงไฟฟ้าประเทศว่า หากรัฐบาลปล่อยให้เอกชนมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานหมุนเวียนในจำนวนที่มากขึ้นและมีการซื้อขายกันเองระหว่างประชาชนกับประชาชน ระบบพลังงานประเทศจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ภาครัฐต้องเข้ามาตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าสำรองเพิ่ม ลงท้ายกลายเป็นภาระค่าไฟของประชาชน

"สมมติแดดหาย หายปุ๊บมันหายเลย แล้วเราต้องให้ไฟฟ้าเข้าไปทันที การที่จะให้ไฟฟ้าเข้าไปแทนทันที เราต้องเดินเครื่องทิ้งไว้ คุณมีแดดเราก็ต้องเดินเครื่องทิ้งไว้ 

"คุณไม่มีแดดเราต้องจ่ายให้ได้ ไม่ใช่ค่อยเดินเครื่อง มันเปิดเครื่องไม่ทันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันเรื่องของการบริหารจัดการยาก มีเรื่องของเชิงเทคนิคด้วย แดดหายปุ๊บ ความถี่หาย อะไรพวกนี้เต็มไปหมด”

สำหรับประเด็นว่า กฟผ.เป็นผู้เล่นรายเดียวคือการเอื้อประโยชน์ให้กับองค์กรและอาจเป็นประโยชน์กว่าหากรัฐบาลเปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นๆ เข้ามาแข่งขันอย่างเสรี ‘วีรพัฒน์’ ย้ำว่า ที่ผ่านมา กฟผ.เป็นเพียงแค่ผู้ดูแลโครงข่าย คนกำหนดทิศทางพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศคือภาครัฐ และเป็นผู้ออกคำสั่งว่า “กฟผ.คุณควรจะมีโรงไฟฟ้าเท่านี้นะ เปิดให้เอกชนเท่านี้” 

อย่างไรก็ตาม เหตุที่ต้องให้อำนาจส่วนหนึ่งกับ กฟผ.เป็นเพราะ กฟผ.เป็นของรัฐ ในแผนผลิตไฟฟ้าที่ต้องขึ้นอยู่กับความมั่นคง จึงเห็นควรให้องค์กรของรัฐเป็นผู้บริหารจัดการ ส่วนบทบาทของเอกชนเป็นเพียงการเข้ามาเสริมในส่วนของการผลิต แต่ก็ยังต้องขายให้กับ กฟผ.โดยตรงอยู่ดี

นอกจากนี้การเปิดให้เอกชนขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.ยังเป็นการบังคับให้ กฟผ.พิจารณาระดับความสามารถของตนเองไปในตัว

ตั้งแต่ประเด็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลาวที่มีนักลงทุนของไทยรวมถึงบริษัทลูกของ กฟผ.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเข้าไปมีส่วนร่วม มาจนถึงโครงสร้างบิลค่าไฟ และความหวังพลังงานทดแทน ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่กลับห่างไกลจนประชาชนมองไม่เห็นความเชื่อมโยง 

แม้ไม่มีอำนาจเข้าไปแก้ไขโครงสร้างเชิงนโยบายโดยตรง แต่คนไทยจำเป็นต้องตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งมีผลเชื่อมโยงกลับมายังชีวิตของตนเอง อย่างน้อยที่สุด คือบิลค่าไฟที่จ่ายทุกเดือน 

ไม่เพียงการรับรู้เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ควรทำในฐานะผู้บริโภคที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับที่มาของสินค้าที่ตนเองซื้อ ยังเป็นสิทธิอันชอบธรรมในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกผู้นำประเทศคนใหม่ พรรคการเมืองใหม่ ที่เล็งเห็นปัญหาและพร้อมเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริงเพื่อพัฒนาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น


หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อสารมวลชน หัวข้อ 'รายงานการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน' ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;