ไม่พบผลการค้นหา
ทุกครั้งที่มนุษยชาติต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ, สงคราม หรือปัญหาเศรษฐกิจ วงการที่โดนหางเลขเป็นกลุ่มท้ายๆ คือวงการภาพยนตร์ เนื่องจากการชมภาพยนตร์ในโรงหนังถูกจัดให้เป็น 'ความบันเทิงราคาถูก' ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ถึงกิจกรรมการกินเที่ยวอย่างอื่นจะซบเซา แต่ถึงวันที่โปรแกรมดังเข้าฉาย คนก็แน่นโรงอยู่ดี

แต่ปี 2020 วงการภาพยนตร์ต้องเผชิญวิกฤตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อการระบาดของ 'โควิด-19' นำไปสู่การระงับการฉายหนังทั้งในเมืองไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก โรงภาพยนตร์ในสหรัฐกว่า 5 พันโรงต้องปิดตัวเป็นเวลาตั้งแต่ 6 สัปดาห์จนถึง 3 เดือน ทำให้หนังที่ค้างอยู่ในโปรแกรมต้องทำการ "ตัดจบ" การฉายในโรง แล้วหันไปเผยแพร่ทางออนไลน์กว่า 10 เรื่อง ทั้ง The Invisible Man, Bloodshot, Sonic the Hedgehog และ Onward

ส่วนภาคต่อการ์ตูนดัง Trolls: World Tour ซึ่งมีกำหนดฉายในเดือนหน้า ขอไปต่อด้วยการเตรียมเผยแพร่ในรูปแบบ video on demand โดยไม่รอลุ้นว่าจะได้ฉายในโรงตามกำหนดเดิมหรือไม่

ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ ยังนำไปการเลื่อนฉายหนังดังกว่า 20 เรื่อง อาทิ Black Widow, Mulan, F9, The New Mutants และ No Time to Die ส่วนเรื่องที่ยังอยู่ในระหว่างการถ่ายทำ ทั้ง Avatar ภาค 2 และ Fantastic Beasts ภาค 3 ต่างประกาศปิดกองถ่ายกันถ้วนหน้า

กลุ่มคนที่สาหัสยิ่งกว่าเจ้าของหนังและโรงหนัง ก็คือทีมงานในกองถ่ายที่ต้องหยุดงานแบบไม่ทันตั้งตัว ประเมินว่าคนงานในฮอลลีวูดซึ่งส่วนใหญ่เป็นฟรีเลนซ์ จะต้องเป็นคนว่างงานทันทีกว่า 120,000 คน แม้ทีมงานที่เป็นสมาชิกของ IATSE หรือสหภาพแรงงานในฮอลลีวูด จะได้รับค่าจ้างชดเชยเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แต่ก็ยังมีความกังวลว่า การแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสาย 2019 ต้นตอโรคโควิด-19 อาจจะยังเป็นปัญหาต่อไปอีกหลายเดือน ดังนั้นค่าจ้างชดเชยเพียง 2 สัปดาห์ จึงจะไม่เพียงพอต่อการเยียวยา

1.jpg2.jpg

ครั้งสุดท้ายที่ฮอลลีวูดต้องอยู่ในสภาพสุญญากาศเช่นนี้ ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 90 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ พังพินาศ จากวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ตลอดทศวรรษ 30's

ในช่วงแรกที่สังคมอเมริกันเข้าสู่ภาวะ Great Depression ฮอลลีวูดนับว่าได้รับผลกระทบเพียง "รอยข่วน" เนื่องจากผู้คนเลือกใช้โรงหนังเป็นที่หลีกหนีจากปัญหาชีวิตประจำวัน โดยมีปัจจัย 1) ภาพยนตร์เพิ่งเข้าสู่ยุคหนังเสียงได้ไม่นาน 2) ภาพยนตร์ถูกใช้เสมือน "โทรทัศน์" สำหรับประชาชน ประกอบกับค่าตั๋วหนังที่มีราคาเพียง 30 เซนต์ (เทียบค่าเงินปัจจุบันได้ประมาณ 4.5 ดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้จำนวนผู้ชมในโรงหนังอเมริกันยังทรงตัวอยู่ที่ 60 ถึง 80 ล้านคนต่อสัปดาห์

กระทั่งถึงปี 1933 เมื่อคนอเมริกัน 1 ใน 4 กลายเป็นคนว่างงาน วงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดจึงได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ เมื่อยอดผู้ชมในโรงหนังลดลงไปทันทีถึง 40 เปอร์เซ็นต์ รายได้รวมต่อปีจาก 720 ล้านดอลลาร์ในปี 1929 ลดลงเหลือ 480 ล้านดอลลาร์ในปี 1933

3.jpg

ที่เจ็บหนักคือบรรดาค่ายหนัง Big Five ที่ร่ำรวยจากการสร้างโรงหนังเป็นของตนเอง เพราะเงินที่ลงทุนไปกับการสร้างโรงหนัง และติดตั้งระบบเสียง กลายเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า ทำให้ค่ายหนัง RKO, Fox, และ Paramount ที่มีโรงหนังอยู่ในมือมากที่สุด ต้องประกาศภาวะล้มละลายหรือถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์, Warner Bros. ต้องเฉือนเนื้อด้วยการขายทรัพย์สินบริษัทออกไป 1 ใน 4 ส่วน MGM ซึ่งมีโรงหนังน้อยที่สุดในกลุ่ม Big Five ยังคงทำกำไรต่อไปได้ แม้กำไรต่อปีจะลดลงกว่า 1 ใน 3 จาก 15 ล้านดอลลาร์ต่อปีเหลือ 4.3 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ขณะที่ค่ายหนังกลุ่ม Little Three หรือ 3 ยักษ์เล็กทั้ง Columbia และ Universal ซึ่งไม่มีโรงหนังเป็นของตนเอง ต่างเอาตัวรอดด้วยการหันมาทำหนังเกรดบีทุนต่ำ ส่วน United Artists ก็ยังพอเอาตัวรอดไปได้ จากการฉายหนังโดยนักสร้างมือทอง Samuel Goldwyn และหนังของราชาตลก Charlie Chaplin

แต่กลุ่มคนรับเคราะห์ไปเต็มๆ ก็คือทีมงานระดับปฏิบัติการ ที่ถูกบีบให้เลือกระหว่างการถูกลดค่าจ้าง หรือยอมเป็นคนว่างงาน

Louis B. Mayer เจ้าสัวจอมเฮี้ยบของ MGM เคยยืนข้อเสนอแก่บรรดาผู้บริหารของค่าย ว่าจะยอมลดค่าจ้าง 50 เปอร์เซ็นต์ ไปซักระยะ หรือให้เขาปิดค่ายหนังไปเสียเลย!

เมื่อถึงทางตัน บรรดาทีมงานของค่ายหนังต่างๆ จึงยอมรับการตัดเงินเดือน และฝากความหวังไปยังองค์กรที่ตั้งขึ้นมาใหม่ในเวลานั้นอย่าง Academy of Motion Picture Arts and Sciences ซึ่งพวกเขาเชื่อมั่นว่าสถาบันที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของคนในฮอลลีวูด จะรับประกันว่า การลดค่าแรงครั้งนี้เป็นสิ่งจำเป็น และเป็นไปอย่างเสมอภาค ทั้งในกลุ่มผู้ใช้แรงงานจนถึงฝ่ายบริหาร ตลอดจนรับประกันว่า การชดเชยจะเกิดขึ้น หลังจากระยะเวลาของการลดค่าแรงสิ้นสุดลง

4.jpg

แต่พอเอาเข้าจริง มีค่ายหนังเพียงบางเจ้าเท่านั้นที่รักษาสัญญา...

Darryl F. Zanuck โปรดิวเซอร์ชั้นแนวหน้า ประกาศลาออกจาก Warner Bros. เพื่อประท้วงการตัดสินใจของพี่น้องตระกูลวอร์เนอร์ ที่ปฎิเสธการปรับค่าแรงให้กับเขาและลูกน้อง โดยภายหลัง Zanuck ไปก่อตั้งค่ายหนัง 20th Century Pictures, Inc. ก่อนจะเป็นที่รู้จักในชื่อ 20th Century Fox ในเวลาต่อมา

หน่วยงานที่สร้างความผิดหวังให้กับบุคลากรในฮอลลีวูดมากที่สุดก็คือสถาบัน Academy ที่ถูกคนในฮอลลีวูดตราหน้าว่า "ไร้น้ำยา" และ "ทองไม่รู้ร้อน" ต่อความอยุติธรรมที่เกิดกับสมาชิกผู้เป็นกระดูกสันหลังของฮอลลีวูด จน Academy ถูกมองว่าเป็นเพียงสถาบันที่ตั้งขึ้นเพื่อปกป้องประโยชน์ของกลุ่มนายทุน มากกว่าค้ำจุนความอยู่รอดของลูกจ้าง

แสงปลายอุโมงค์ของคนฮอลลีวูดมาเกิดขึ้นในปี 1933 เมื่อประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ ผลักดันให้มีการผ่านกฎหมายแรงงาน 2 ฉบับในปี 1933 และปี 1935 ซึ่งหัวใจของกฎหมายทั้งสองฉบับ คือการกำหนดชั่วโมงสูงสุดในการทำงาน, การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ และการมอบสิทธิ์การรวมตัวของลูกจ้างเพื่อต่อรองผลประโยชน์กับนายจ้าง แนวคิดดังกล่าว นำไปสู่การสถาปนาสมาคมวิชาชีพในฮอลลีวูดมากมาย ทั้ง Screen Writers Guild (สมาคมนักเขียนบท) ในปี 1933, Screen Actors Guild (สมาคมนักแสดง) ในปี 1933 และ Directors Guild (สมาคมผู้กำกับ) ในปี 1936

หลังจากมีสมาคมของตนเองแล้ว สิ่งที่ตามมาคือมหกรรมการ "ชิ่ง" เมื่อชาวฮอลลีวูดพร้อมใจกันถอนตัวจากการเป็นสมาชิก Academy อย่างถ้วนหน้า

ผลกระทบมาเห็นได้ชัดในงานแจกรางวัลออสการ์ครั้งที่ 8 เมื่อปี 1936 เมื่อคนมาร่วมงานกันแค่หรอมแหรม เนื่องจากแต่ละสมาคมประกาศให้สมาชิกของตนคว่ำบาตรงานออสการ์ในปีนั้น หนึ่งในคนที่ไม่มาร่วมงานปีนั้นคือ Dudley Nichols ผู้ชนะในสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม โดยในจดหมายที่เขาส่งมาถึง Academy ระบุว่า


"ในฐานะหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมนักเขียนบท องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยเฉพาะเพื่อต่อต้าน Academy จากความไม่พอใจที่ล้มเหลวในการช่วยเหลือสมาชิกในภาวะคับขัน ข้าพเจ้าจึงรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่ไม่สามารถรับรางวัลนี้ได้"


นับจากความขัดแย้งครั้งนั้น Academy จึงเลือกที่จะลดบทบาทการเป็น "คนกลาง" ในการเจรจาระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง และหันมาให้ความสำคัญกับงานส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูด ผ่านงานแจกรางวัลออสการ์อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในวันนี้

ปัจจัยหลักที่ทำให้ฮอลลีวูดและเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ กลับมาฟื้นตัวจากฝันร้ายในทศวรรษที่ 30's คือการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทศวรรษที่ 40's เมื่อสงครามทำให้ความต้องการสินค้าขยายตัวในวงกว้าง จนอัตราจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

อย่างไรก็ดี ในห้วงเวลา 10 ปีที่บ้านเมืองกำลังระส่ำระสายอย่างหนัก ผู้ที่คอยประคับประคองไม่ให้เศรษฐกิจอเมริกาย่ำแย่ไปกว่าที่เป็นอยู่ ก็คือประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์

สิ่งที่รูสเวลต์ใช้กอบกู้บ้านเมือง คือการฟื้นฟูความเชื่อมั่นแก่อเมริกันชน ผ่านสุนทรพจน์อันลือลั่นที่ย้ำว่า "สิ่งเดียวที่เราควรกลัวคือความไม่กล้า" (The only thing we have to fear is fear itself) ซึ่งกล่าวเอาไว้ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง และเมื่อเข้ามาทำงานในทำเนียบขาว รูสเวลต์ก็ทำอย่างที่พูด เพราะในระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 100 วันแรกที่ดำรงตำแหน่ง เขาเร่งให้สภาผ่านกฏหมายสำคัญๆ ออกมามากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยยึดหลัก 3R คือ บรรเทา, ฟื้นฟู และปฎิรูป (Relief, Recovery, and Reform) ทั้งการสร้างงาน, การปกป้องทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนปรับปรุงความโปร่งใสในสถาบันทางการเงินต่างๆ

ความกล้าอีกอย่างของรูสเวลต์ คือการ "หลอกล่อประชาชน" เพื่อเห็นแก่ความอยู่รอดของบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง

ก่อนหน้าที่รูสเวลต์จะเข้ามาบริหารประเทศ ธนาคารของสหรัฐต้องปิดตัวไปถึง 9,000 แห่ง เนื่องจากประชาชนที่หวาดกลัว ต่างแห่กันถอนเงินจากธนาคารมาเก็บไว้กับตัวเองกันหมด

5.jpg

รูสเวลต์ยุติกระแสความตื่นกลัว ด้วยการประกาศวันหยุดธนาคารหรือ Bank Holiday เป็นเวลา 4 วัน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการซื้อเวลาให้รัฐบาล สำหรับการออกมาตรการสร้างความเสถียรภาพทางการเงินให้กับธนาคาร แม้ความเป็นจริงแล้ว เวลาแค่ 4 วันไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ รูสเวลต์เองรู้อยู่แก่ใจ แต่ทำไปเพื่อลดความตื่นตระหนกของประชาชน และระงับการถอนเงินที่มีแต่จะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก

จากนั้นรูสเวลต์ก็ผลักดันให้สภาผ่านกฎหมายฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูธนาคาร โดยสั่งปิดธนาคารที่มีหนี้สินเกินเยียวยาและช่วยเหลือธนาคารที่ขาดสภาพคล่องให้กลับมาดำเนินการอีกครั้ง แม้จะมีธนาคารต้องปิดตัวเพราะกฎหมายดังกล่าวถึง 2,000 แห่ง แต่การปฎิรูปดังกล่าวทำให้ประชาชนกลับมาอุ่นใจกับการฝากเงินอีกครั้ง โดย 2 สัปดาห์หลังจากธนาคารทั่วประเทศกลับมาเปิดทำการ มีประชาชนนำเงินมาฝากธนาคารเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่พวกเขาถอนออกไปกักตุนก่อนหน้านี้

บทเรียนของ Bank Holiday ไม่ได้อยู่ที่ว่า ผู้นำควรทำทุกวิถีทาง แม้แต่การโกหกประชาชน เพื่อเอาตัวรอดในวันที่ประเทศชาติอยู่ในภาวะวิกฤต แต่คือการทำให้ประชาชนระลึกว่า พวกเขายังมีผู้นำที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดของบ้านเมือง โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน, พวกพ้อง หรือพรรคร่วมรัฐบาล

ความเชื่อมั่นที่รูสเวลต์มอบให้แก่ประชาชน เห็นได้จากความสำเร็จของ Fireside Chats (ชวนคุยข้างเตาผิง) รายการวิทยุที่รูสเวลต์ใช้สื่อสารกับประชาชนตลอด 12 ปีของการดำรงตำแหน่ง บทบาทในการจัดรายการวิทยุ ทำให้เขามีโอกาสอธิบายแนวทางการบริหารประเทศและแก้ไขความเข้าใจผิดที่มีต่อรัฐบาล ตั้งแต่สมัยที่ประเทศอยู่ในภาวะเศรษฐกิจฟืดเคือง จนถึงยุคที่ประเทศชาติต้องเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2

แม้ประเด็นที่ชี้แจงจะมีแต่เรื่องคอขาดบาดตายและซับซ้อน แต่รูสเวลต์ก็ดำเนินรายการ Fireside Chats ด้วยความเยือกเย็น อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างละมุนละม่อม แต่ชัดถ้อยชัดคํา จนประชาชนที่เคยตกอยู่ในความหวาดกลัว กลับมีความมั่นใจในการดำรงชีวิตอีกครั้ง

ถึงความพิการจะเป็นสิ่งที่อยู่ติดตัว แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ มาตลอดชีวิตการทำงานของเขา แต่ชาวอเมริกันก็ไว้วางใจให้เขากลับมาเป็นผู้นำประเทศถึง 4 สมัย จนกระทั่งเสียชีวิตไปขณะที่ยังเป็นผู้นำของชาติ สิ่งเหล่านี้แสดงถึงศรัทธาที่ประชาชนมีต่อผู้นำ ผู้ใช้ทั้งความสามารถ, ความอุตสาหะ และวิสัยทัศน์ นำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤต จนมีการกล่าวกันว่า...

"รูสเวลต์ลุกจากเก้าอี้รถเข็น เพื่อพยุงให้คนทั้งชาติกลับมายืนบนลำแข้งของตนเองอีกครั้ง"

**************************

อ้างอิง: GH BANK/ OSCAR/ Hollywood Reporter/ Independent/ Film Reference

AdizxA
0Article
0Video
5Blog