ไม่พบผลการค้นหา
แบงก์ชาติปรับเกณฑ์คลินิกแก้หนี้ เลื่อนวันเป็นหนี้เสีย-ปรับกฎก่อหนี้ใหม่ได้หลังผ่อนเงินต้นแล้วอย่างน้อยร้อยละ 50 ย้ำสถาบันการเงินต้องช่วยแบ่งเบาภาระ ปชช.ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มากขึ้น

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ เห็นชอบให้ปรับปรุงเงื่อนไขของโครงการ 2 เรื่อง ได้แก่

(1) การปรับคุณสมบัติลูกหนี้ โดยเลื่อนวันของการเป็นหนี้เสีย หรือ NPL (วัน cut-off date)

(2) การปรับเกณฑ์ห้ามก่อหนี้ใหม่ เพื่อให้โครงการสามารถขยายความช่วยเหลือลูกหนี้ในวงกว้างมากขึ้น

ผู้ช่วยผู้ว่าฯ ธปท.ย้ำ มาตรการใหม่นี้สอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในระยะที่ 2 ของ ธปท. พร้อมกำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินต้องเสนอแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเดียวกับคลินิกแก้หนี้ ให้แก่ลูกหนี้ที่ต้องการแก้ปัญหาเช่นเดียวกัน


เลื่อนวันเริ่มต้นหนี้เสียเป็น 1 ก.ค.2563-ก่อหนี้ใหม่ได้หลังผ่อนเงินต้นแล้วร้อยละ 50

สำหรับการปรับเกณฑ์คุณสมบัติผู้สมัครเข้าโครงการจากเดิมที่ผู้สมัครต้องเป็นหนี้เสีย หรือ NPL ก่อนวันที่ 1 ม.ค.2563 มาเป็นวันที่ 1 ก.ค.2563 เพื่อขยายความช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้ที่กลายเป็น NPL ในช่วงครึ่งแรกของปีจากผลของวิกฤตโควิด-19 ให้ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที

หลังจากปรับเงื่อนไขในครั้งนี้ ธปท.คาดว่าจะมีลูกหนี้สนใจสมัครเข้าโครงการจำนวนมาก และทำให้ขั้นตอนการพิจารณาใช้เวลานานกว่าช่วงปกติอยู่บ้าง จึงขอให้ผู้สมัครยื่นและเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน ซึ่งจะช่วยให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อทราบผลการพิจารณาแล้ว โครงการจะติดต่อกลับเพื่อแจ้งผลให้ทราบโดยเร็ว

ขณะเกณฑ์ข้อที่สองคือการปรับเกณฑ์ห้ามก่อหนี้ใหม่ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยปัจจุบันกำหนดให้ผู้เข้าโครงการห้ามก่อหนี้ใหม่ภายในเวลา 5 ปี แต่ครั้งนี้ได้เพิ่มเกณฑ์ว่า หากผู้เข้าร่วมโครงการสามารถผ่อนชำระเงินต้นได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ก็สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้ ซึ่งอาจใช้เวลาไม่ถึง 5 ปี อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อขึ้นกับหลักเกณฑ์ของผู้ให้บริการทางการเงินแต่ละแห่ง

นอกจากนี้ ตามที่ ธปท.ยังประกาศให้ผู้ให้บริการทางการเงินจะต้องจัดให้มีช่องทางหรือกลไกแก้ไขหนี้ในลักษณะเดียวกับคลินิกแก้หนี้ รวมทั้งมีแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เอื้อต่อการผ่อนชำระเช่นเดียวกับโครงการคลินิกแก้หนี้ และเสนอให้ลูกหนี้พิจารณา

นางธัญญนิตย์ ชี้ว่า ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จะส่งผลให้จำนวนลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อ ส่วนบุคคล (หนี้บัตร) มีแนวโน้มกลายเป็นหนี้เสียสูงขึ้น ดังนั้น การที่เจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกันจะเป็นวาระทางเศรษฐกิจที่สำคัญมาก โดยเฉพาะหนี้บัตรซึ่งเป็นหนี้ที่มีจำนวนบัญชีลูกหนี้มากที่สุดในบรรดาหนี้รายย่อยทั้งหมด

ความสำคัญของแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กลางของโครงการคลินิกแก้หนี้จึงอยู่ที่การเป็นหนึ่งในทางออกที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาหนี้บัตรของลูกหนี้รายย่อยจำนวนมาก ลุกลามกลายเป็นวิกฤตหนี้รายย่อยที่อาจจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดี ยึดทรัพย์ในวงกว้าง ซึ่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :