ไม่พบผลการค้นหา
สหประชาชาติตัดสินว่า ประเทศปลายทางไม่สามารถส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศไปเผชิญความเสี่ยงที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งคำตัดสินนี้อาจเปิดทางให้มีคนขอลี้ภัยจากวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

คณะกรรมการด้านสิทธิมนษยชนของสหประชาชาติ หรือ 'ยูเอ็น' ตัดสินว่า การที่รัฐบาลส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับไปประเทศต้นทาง อาจทำให้ผู้ลี้ภัยเสี่ยงอันตรายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือเป็นการตัดสินคดีลักษณะนี้ครั้งแรก และอาจเป็นการเปิดประตูไปสู่การปกป้องสิทธิของคนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในอนาคต เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้า จะมีคนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเนื่องจากภาวะโลกร้อน

คำตัดสินดังกล่าวมาจากคดีของ 'เอียน เททิโอตา' ชายชาวคิริบาส ประเทศเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นมากที่สุดในโลก หลังจากที่เขายื่นขอลี้ภัยในนิวซีแลนด์เมื่อปี 2013 โดยระบุว่า ชีวิตของเขาและครอบครัวเสี่ยงอันตราย

หลักฐานในคดีล่งชี้ว่า เกาะเซาท์ทาราวาที่เททิโอตาอาศัยอยู่เป็นเกาะที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น จากเดิมมีประชากร 1,641 คนในปี 1947 เพิ่มมาเป็น 50,000 คนในปี 2010 เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้คนจากเกาะอื่นไม่สามารถอยู่อาศัยได้ จนต้องอพยพมาอยู่ที่เกาะแห่งนี้ ซึ่งนำไปสู่เหตุรุนแรง และความตึงเครียดทางสังคม

นอกจากนี้ เกาะดังกล่าวยังขาดแคลนน้ำสะอาด และเพาะปลูกได้ยากเพราะมีแต่น้ำเค็ม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในครอบครัว เททิโอตาคาดการณ์ว่า เกาะเซาท์ทาราวาจะจมน้ำจนอยู่ไม่ได้ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า หากเขาจะอาศัยอยู่ที่นั่นก็จะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

แม้คำตัดสินของยูเอ็นจะระบุว่า รัฐไม่สามารถส่งคนกลับไปเผชิญอันตรายจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังยืนยันตามคำตัดสินของศาลของนิวซีแลนด์ว่า แม้ระดับน้ำทะเลที่มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ในอนาคต แต่กรอบเวลา 10-15 ปีที่เททิโอตาคาดการณ์ไว้ก็นานพอที่ประเทศจะมีมาตรการในการปกป้องและหาถิ่นฐานใหม่ให้ประชาชนในกรณีจำเป็น

อย่างไรก็ตาม เคท ชูตเซอ นักวิจัยด้านแฟซิฟิกของแอมเนสตี้ อินเทอร์เนชันแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลก็มองว่า แม้คำฟ้องของเททิโอตาจะไม่แข็งแรงพอ แต่คำตัดสินของยูเอ็นเป็นการเปิดทางให้มีการขอลี้ภัยได้หากเสี่ยงชีวิตจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ที่มา : The Guardian, CNN