ไม่พบผลการค้นหา
'เดลต้า' จัดโปรแกรมสอนนักศึกษา จาก 5 มหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ 'ไทยแลนด์ 4.0'

ในยุคเปลี่ยนผ่านที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน คลื่นนวัตกรรมลูกใหม่กำลังพัดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และคลื่นลูกปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญอยู่คือการเปลี่ยนผ่านด้านข้อมูลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

ในภาวะเช่นนี้ ความรู้และความเชี่ยวชาญเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการใช้พัฒนาวงการอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนของประเทศ เนื่องจากการตามไม่ทันเทคโนโลยีเพียงก้าวเดียวอาจทำให้ไทยเสียอำนาจการแข่งขันให้กับคู่แข่งทางการค้าได้ไม่อยาก

เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ของ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมและบริการของไทยยืนอยู่บนพื้นฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นประเด็นที่สำคัญมากที่จะมองข้ามไม่ได้

นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยจะกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ดังนั้น การเตรียมความรู้ที่จำเป็นและใช้ได้จริงจึงเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนต้องร่วมมือกัน

'เอกชน' ร่วมหลักสูตรการสอน



เดลต้า

บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (KMUTNB)  และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT)จัดโครงการเดลต้าออโตเมชั่น อะคาเดมี (Delta Automation Academy) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกทักษะด้านอุตสาหกรรมอัตโนมัติหรือ Industrial Automation ขั้นสูงให้กับนิสิตนักศึกษา

นายเซีย เชน เยน ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่เดลต้าจัดโครงการแบบนี้ขึ้นมา แท้จริงแล้ว บริษัทไม่ได้ได้ประโยชน์ทางตรง แต่เสมือนเป็นการคืนประโยชน์ให้กับชุมชน หรือการทำซีเอสอาร์ด้วยการให้ความรู้ที่จำเป็นในอนาคตต่อนักศึกษา

"เขาจะมีความรู้ติดตัวออกไปใช้ทำงานในอนาคต เขาไม่ต้องมาทำงานกับเราก็ได้ แต่ถ้าเขามาเราก็ยินดี" นายเซีย เชน เยน กล่าว

ในงานมอบประกาศนียบัตร โครงการเดลต้าออโตเมชั่น อะคาเดมี ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตัวแทนจากภาครัฐบาล ยังขึ้นมากล่าวถึงการตระหนักเห็นความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ และพูดถึงแผนการพัฒนาโครงการด้านนวัตกรรมต่างๆ ทั้งในภาคประชาชนและภาคธุรกิจ

ด้วยกระแสความไม่สงบของการเมืองไทยในปัจจุบัน อาจส่งผลให้ประเทศเผชิญค่าเสียโอกาสจากการเข้ามาลงทุนและพัฒนาของบริษัทต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถ ดังนั้น การมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศจึงจะเป็นทางออกระยะยาวที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนไทยไปข้างหน้า