ไม่พบผลการค้นหา
คปช. 53 โดย “อ.ธิดา-หมอเหวง” นำญาติวีรชนคนเสื้อแดงพร้อมทนาย ไปกระทรวงยุติธรรม ทวงถามความคืบหน้าคดีการตายของประชาชนปี 53 ร้องเยียวยา ปชช. ที่ศาลยกฟ้อง

วันที่ 9 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 น. ที่ กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53) นำโดย ธิดา ถาวรเศรษฐ เลขาธิการกรรมการ คปช.53 นพ.เหวง โตจิราการ, ทนายโชคชัย อ่างแก้ว, ทนายวิญญัติ ชาติมนตรี พร้อมทั้งตัวแทนญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 และมวลชนคนเสื้อแดงผู้รักประชาธิปไตยและรักความยุติธรรม ได้เดินทางมายื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยมี ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนผู้รับหนังสือแทน 

ทั้งนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ ได้กล่าวก่อนรับหนังสือข้อเรียกร้องว่า จะได้นำข้อเรียกร้องของ คปช.53 ทั้ง 4 ข้อและสิ่งที่ได้พูดคุยกันซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขในกฎหมายบางประการด้วย พร้อมทั้งกล่าวว่าขอให้สบายใจ คนเสื้อแดงก็เป็นประชาชนคนไทยที่ถือว่ามีความเสมอภาคกันในเรื่องของสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายเดียวกันตามรัฐธรรมนูญ และตนจะติดตามเรื่องนี้ให้สำเร็จและคิดว่าไม่เกินความสามารถของตน

จากนั้น ธิดา ได้กล่าวว่า เรามานำเสนอข้อเรียกร้อง 4 ข้อจริง ๆ เราเริ่มต้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยต้องการให้ทำหน้าที่ที่เขายังไม่ได้ทำคือสำนวนชันสูตรพลิกศพ 62 ศพ วันนี้เรามาที่กระทรวงยุติธรรมเพื่อมาถามหาข้อมูลใน

ข้อที่ 1 คือ DSI ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบคดีการปราบปรามประชาชนในปี 2553 ทั้งหมด 99 ศพ ที่มีหลักฐานชัดเจน 94 ศพ เราไม่พบว่า DSI ได้สั่งฟ้องสักคดีเดียว เราจึงมาขอให้กระทรวงยุติธรรมเร่งรัด สอบสวน แล้วเปิดเผยข้อมูลให้สังคมไทยได้รับรู้ว่า ในปี 2553 ที่ DSI ทำคดี รับทราบมาว่า 300 กว่าคดี แต่ในนี้เป็นคดีที่ฟ้องประชาชนในคดีก่อการร้าย 156 คดี, คดีบังคับข่มขืนใจ 25 คดี แต่คดีที่เจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายประชาชน มี 181 คดี แต่รายละเอียดไม่พอ เราจึงมาขอข้อมูลเพิ่มเติมว่าคดีใดส่งไปอัยการแล้วบ้าง ไปอัยการทหาร หรือสำนักงานอัยการ เพราะมันมีความแตกต่างกัน อย่างเช่นคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ส่งไปที่ไหน? เป็นต้น ดังนั้น คปช.53 จะได้ไปทำการบ้านต่อ และเราจะเปิดเผยข้อมูลกับประชาชนว่า DSI ทำอะไรไปแล้วบ้าง ส่งสำนวนในลักษณะไหน ไปที่ไหน 

ธิดา กล่าวเพิ่มว่า พูดง่าย ๆ ว่าเราไม่ต้องการให้คนตายฟรี ถ้าการตาย 99 ศพ ตายฟรีได้ มันก็จะตายฟรีไปเรื่อย ๆ เพราะก่อนหน้านี้ก็ตายฟรีมาแล้วเป็นลำดับ ถ้าเราไม่ทำ ประชาชนไทยมีสิทธิ์จะตายฟรีอีก

ข้อที่ 2 ก็คือติดคุกฟรี คือมีพี่น้องเราจำนวนหนึ่งถูกจับตั้งแต่ปี 53 ไม่ได้รับการประกันตัวในข้อหาต่าง ๆ ตั้งแต่ยิงเฮลิคอปเตอร์ หรือคดีก่อการร้ายและอื่น ๆ แล้วศาลยกฟ้อง แม้กระทั่งคดีชายชุดดำ ติดคุกฟรีไม่ได้รับการเยียวยา เราจึงขอให้สั่งการไปยังกรมคุ้มครองสิทธิ หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง คือในกรณีเหล่านี้มันมีปัญหาที่ศาลไม่ได้สามารถตัดสินได้เลยว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ แต่ว่าหลักฐานไม่เพียงพอจึงยกฟ้อง ดังนั้นพี่น้องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นคดีเผาเซ็นทรัลเวิล์ด หรือคดีอื่น ๆ และล่าสุดเมื่อไม่กี่วันมานี้เป็นคดีปาระเบิดก็ยกฟ้อง แต่ก็ไม่ได้รับการเยียวยา 

ธิดา กล่าวว่า ดังนั้นข้อ 2 ก็คืออย่าให้ประชาชนติดคุกฟรี เราไม่ได้เรียกร้องอื่นใด แต่เรียกร้องสิทธิในการเยียวยาเท่านั้น ไม่ได้มีการฟ้องกลับ ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงยุติธรรมควรพิจารณา

ข้อที่ 3 นั่นก็คือชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ที่ถูกพิพากษาไปแล้วหรืออยู่ในระหว่างประกันตัวของผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง ควรจะมีสถานที่ที่อยู่แยกจากคดีอาชญากรรมอื่น ๆ เราเคยทำมาแล้วในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ฯ เรามีเรือนจำพิเศษบางเขน ซึ่งพอมีการทำรัฐประหารเขาก็ยุบปิดเลย เราจึงขอเสนอสถานที่ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องหรูเริ่ด แต่อยากให้แยกจากคดีอาชญากรรมอื่น ๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมอิสรภาพของผู้ถูกคุมขัง แต่ไม่ควรจะย่ำยีความเป็นมนุษย์ ชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษควรได้รับสิทธิในการดูแลโดยไม่ถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และใช้การลงโทษนอกเหนือจากควบคุมอิสรภาพจนเหมือนกับคุกในบางประเทศ

และข้อที่ 4 สำคัญที่สุด เราขอให้กระทรวงฯ ได้หารือกับศาลเกี่ยวกับสิทธิประกันตัวของประชาชนเพื่อให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนตามสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่เราได้ไปลงนามในสหประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสิทธิมนุษยชน ICCPR เป็นต้น ที่สำคัญก็คือรัฐธรรมนูญไทย มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ดังนั้นในกรณีที่บอกว่าต้องควบคุมเพราะจะกระทำความผิดซ้ำ ในทัศนะดิฉันถือว่าผิดมาตรา 29 วรรคสอง เพราะเราต้องถือว่าคนเหล่านั้นยังไม่ได้ถูกพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด 

ธิดา กล่าวต่อว่า มาตรา 29 วรรคสาม ก็บอกว่า การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหา ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น คำถามว่าปัจจุบันนี้มันเกินความจำเป็นหรือเปล่า และในมาตรา 29 วรรคห้า บัญญัติว่า คำขอประกันฯ ต้องได้รับการพิจารณาและเรียกปลักประกันจนเกินควรมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ 

ดังนั้น เราเรียกร้องเฉพาะคดีขอปี 53 คือข้อเดียวคือข้อ 1 แต่ข้อ 2-3-4 เราเรียกร้องความยุติธรรมให้กับประชาชนทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนและประชาชนที่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว สำหรับการเยียวยาทางท่านเลขานุการบอกว่าน่าจะทำได้ แต่ต้องไปแก้ไขในส่วนของระเบียบและกฎหมาย 

ธิดา กล่าวยืนยันว่า เราทำทั้งหมดตั้งแต่ สตช. เราอาจจะต้องไปโรงพัก, อัยการ แต่วันที่ 10 เมษายนนี้ พบกันที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เราจะเปิดเวทีให้พรรคการเมืองแสดงทัศนะต่อข้อเรียกร้องของคปช.53 อีกครั้งหนึ่ง เราจะไม่หยุด และถ้ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยไม่สามารถให้ความยุติธรรมกับเราได้ เราก็จะนำข้อมูลเหล่านี้ส่งศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) นี่ไม่ใช่คำขู่! ไม่ใช่ว่าเราไม่เคยไป เราไปมาแล้วและได้ผลแล้ว เราจะไปอีกเพื่อไปเพิ่มข้อมูลว่าเวลาที่ผ่านมาประมาณ 9-10 ปี ทุกอย่างมันยิ่งเลวร้ายลงไปกว่าเดิม ย้ำว่านี่ไม่ใช่คำขู่!

คปช53 4-2566_page-0001.jpgคปช53 4-2566_page-0002.jpgคปช53 4-2566_page-0003.jpg