ไม่พบผลการค้นหา
‘นพดล’ เผยต้องสอบข้อเท็จจริง หลังชาติพันธุ์กะเหรี่ยงออกแถลงการณ์ชี้ รบ.ทหารเมียนมา แทรกแซงความช่วยเหลือมนุษยธรรมฯ แนะ รบ.ไทย ร่วมมือ NGO ขยายความช่วยเหลือถึงคนในพื้นที่ ย้ำไม่เห็นด้วยหากส่งเด็กไร้สัญชาติ 19 ปีกลับ ‘เมียนมา’ หวั่น กระทบการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมฯ ไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศ

วันที่ 28 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา นพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union; KNU) หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ ออกแถลงการณ์ระบุว่า ในระหว่างการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงมีคนจากรัฐบาลทหารเมียนมา หรือสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Coucil; SAC) เข้ามาในพื้นที่โดยไม่คาดคิด 

โดย นพดล มองว่า เรื่องมีการแทรกแซงการช่วยเหลือหรือไม่นั้น คงจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งทาง กมธ.ไม่มีข้อเท็จจริงที่จะให้การยืนยันได้ แต่เบื้องต้นเห็นว่า การให้ความช่วยเหลือตามหลักการมนุษยธรรม หรือระเบียงมนุยธรรม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เราสนับสนุนการเริ่มต้นเล็กๆ ก้าวแรก และสนับสนุนให้รัฐบาลให้การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม เพื่อสอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้อ ของอาเซียน

นพดล ย้ำว่า ในเมื่อมีการช่วยเหลือ คำวิพากษ์วิจารณ์ย่อมมีเสมอ แต่ทาง กมธ.การต่างประเทศ ได้เคยเสนอแนะรัฐบาลไปว่า ต้องเพิ่มเงิน และงบประมาณให้มากขึ้น และเพิ่มคนให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงต้องพยายามให้ความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) ในพื้นที่เพื่อให้ขยายการช่วยเหลือให้ครอบคลุม ไม่ใช่เพียงแค่คนที่อยู่ในการดูแลของ SAC ชนกลุ่มน้อย หรือชาติพันธ์ุเท่านั้น 

“รัฐบาล และนายกรัฐมนตรีเองก็ทราบเรื่อง และเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ก็ขอให้ทำงานต่อไป เราให้กำลังใจ” นพดล กล่าว 

นอกจากนี้ นพดล ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดการส่งตัวเด็กไร้สัญชาติอายุ 19 ปีกลับประเทศเมียนมาว่า จากกรณีดังกล่าวทราบว่า ขณะนี้เด็กกลุ่มดังกล่าวอยู่ที่ จ.เชียงราย และทาง กมธ. ไม่เห็นด้วยเนื่องจากเป็นการผลักดันเด็ก ไม่ว่า จะมี หรือไร้สัญชาติอาจฝ่าฝืน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2556 เพราะรัฐมีหน้าที่ที่ต้องให้การสงเคราะห์เด็กดังกล่าว 

นอกจากนี้ยังอาจเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (United Nations Conventions on the Rights of the Child; UNCRC) และในขณะนี้ รัฐบาลไทยกำลังผลักดันเรื่องจุดมนุษยธรรมที่แม่สอด เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในเมียนมา ซึ่งเป็นการแสดงบทบาทของไทยอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาค 

“กมธ. เห็นว่าการผลักดันเด็ก19 คนกลับเมียนมา น่าจะเป็นการกระทำที่สวนทาง และกระทบต่อหลักการ ช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ การคุ้มครองเด็กไร้สัญชาติมิเพียงแต่เป็นการดำเนินการทางมนุษยธรรมเท่านั้น แต่เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ สร้างเกียรติภูมิของประเทศ ทำให้ไทยมีจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศอย่างสง่างาม” นพดล กล่าว