ไม่พบผลการค้นหา
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวิินิจฉัยให้การเสนอร่างแก้ไขม.112 ของพรรคก้าวไกลและการหาเสียงในเรื่องนี้เป็น 'การล้มล้างระบอบ' ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะก้าวหน้าและอดีตอาจารย์นิติศาสตร์ได้ออกมาวิจารณ์คำวินิจฉัยในวันเดียวกัน

“ผมในฐานะเคยเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับผิดชอบบรรยายทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายศาลรรัฐธรรมนูญ และวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ เล็งเห็นถึงความจำเป็นว่าต้องใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในทางวิชาการเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยนี้ และมีข้อวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการของวิชารัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ และคดีวิชารัฐธรรมนูญ และรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อไป” ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวตั้งต้น


ข้อวิจารณ์ต่อคำวินิจฉัยใน 6 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 

การเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขมาตรา 112 โดยสส. ไม่ใช่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพอันอยู่ในขอบเขตอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 

บทบัญญัติมาตรา 49 อยู่ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยบัญญัติเอาไว้ว่า ‘บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้’ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้บุคคลต่างๆ ใช้สิทธิหรือเสรีภาพในหมวด 3 จนเป็นการไปล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั่นเอง 

กรณีนี้ พรรคก้าวไกล โดย สส. ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถือเป็นการใช้ ‘อำนาจนิติบัญญัติ’ หากต้องการตรวจสอบการใช้อำนาจนิติบัญญัติที่ สส. พรรคก้าวไกลกระทำการนี้ ก็มีระบบในรัฐธรรมนูญรองรับอยู่  คือ 

  • ใช้เสียงข้างมากลงมติไม่ให้ความเห็นชอบ 
  • หากผ่านไปความเห็นชอบ สส. ก็สามารถเข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างฉบับนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
  • ในขั้นตอนการประกาศใช้ให้เป็นกฎหมาย พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐก็ทรงมีพระราชอำนาจในการยับยั้งประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยชั่วคราว
  • ในท้ายที่สุด หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านการบังคับใช้ขึ้นมา ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ยังสามารถร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายฉบับนี้ได้

จะเห็นได้ว่า กลไกตามรัฐธรรมนูญนั้นได้ออกแบบรองรับการตรวจสอบการใช้อำนาจนิติบัญญัติที่ สส. พรรคก้าวไกลกำลังใช้อยู่ โดยมิจำเป็นต้องใช้กระบวนการตามมาตรา 49 แต่อย่างใด 

การที่ศาลรัฐธรรมนูญนำการเสนอร่างพ.ร.บ.โดย สส. มาปะปนกับการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามมาตรา 49 นี้ ย่อมส่งผลให้ดุลยภาพของการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญนั้นเสียหาย 

หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีโอกาสแทรกแซง ขัดขวางกระบวนการนิติบัญญัติได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเสนอร่างพ.ร.บ. การบรรจุร่าง พ.ร.บ.เข้าระเบียบวาระการประชุม การพิจาณาให้ความเห็นชอบรับหลักการในวาระที่ 1 การพิจารณาในชั้นกรรมมาธิการ การพิจาณาในวาระที่ 2 วาระที่ 3 ไปจนถึงหลังการการลงมติให้ความเห็นชอบและหลังการประกาศใช้ ทั้งๆ ที่กรณีการตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติการตรากฎหมายนั้นมีกลไกต่างๆ อยู่แล้ว

ศาลรัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบว่ากฎหมายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยจำเป็นจะต้องตรวจสอบหลังมีมติให้ความเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรแล้วเท่านั้น หรือหลังประกาศใช้เท่านั้น การเปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้มาตรา 49 เข้ามาตรวจสอบการมใช้อำนาจนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎรแบบนี้ จะส่งผลให้ดุยภาพของอำนาจระหว่างศาลรัฐธรรมนูญและรัฐสภาเสียไป 

ต่อไปศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ใช่องค์กรตรวจสอบ ทบทวนหรือรีวิว แต่กลายเป็นผู้แทรกแซงทุกขั้นตอนของกระบวนการนิติบัญญัติจนกระทบกับระบบรัฐสภาและประชาธิปไตยแบบผู้แทนได้

ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ศาลเป็นคนอ้างเองว่า มาตรา 49 นั้น ไม่ได้ยกเว้นการเสนอร่าง พ.ร.บ. ไว้ ดังนั้น การเสนอร่าง พ.ร.บ. จึงรวมอยู่ในมาตรา 49 ด้วย

การให้เหตุผลเช่นนี้ดูจะไม่ถูกต้องและดูจะคลาดเคลื่อน และส่งผลประหลาดเพราะว่าการเสนอร่างกฎหมายไม่ใช่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพอยู่แล้วนั่นเอง ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นว่ามาตรา 49 จะต้องมาเขียนยกเว้นว่า ไม่รวมถึงอำนาจนิติบัญญัติแต่อย่างใด 

ประเด็นที่ 2 

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง และไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลโดยหยิบยก 3 ประเด็นสำคัญ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการล้มล้างการปกครองและขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 

1. การย้ายหมวด ออกจากหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร 

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าทำเช่นนี้ไม่ได้ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์สัมพันธ์กับความมั่นคงของรัฐ เป็นเนื้อเดียวกันกับความมั่นคงของรัฐ หากย้ายไปหมวดอื่นย่อมกระทบต่อความมั่นคง ทำให้ความผิดตามมาตรา 112 ลดความสำคัญลง การย้ายหมวดจึงเป็นการแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ ออกจากความมั่นคง 

หากพิจารณาถึงเหตุและผลที่พรรคก้าวไกลพยายามนำเสนอ และพิจารณาผลต่อเนื่องหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน สมมุติว่ากฎหมายฉบับนี้ผ่าน ความผิดและระบบการคุ้มครองเกียรติยศชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ยังคงอยู่ สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงได้รับการคุ้มครองอยู่ มิใช่หมายความว่า ใครๆ ก็หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ได้ ยังมีกฎหมายกำหนดฐานความผิดเอาไว้เช่นนี้อยู่ สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป 

และหากคิดตีความเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ต่อไป ทุกๆ ความผิดที่มุ่งหมายจะคุ้มครองรัฐ องค์กรของรัฐ หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสภาฯ รัฐบาล ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ศาล เจ้าหน้าที่ กองทัพ ก็จำเป็นต้องเขียนเป็นความผิดในหมวดความมั่นคงของรัฐทุกกรณีใช่หรือไม่ 

พรรคก้าวไกลยกเหตุผลว่า การย้ายหมวดออกจากความมั่นคงนั้น ก็เพื่อเปิดทาง ให้องค์กรตุลาการหรือศาลได้ใช้ดุลยพินิจในการปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) ง่ายกว่าเดิม หากยังอยู่ในหมวดความมั่นคงต่อไป จะทำให้ดุลยพินิจของศาลในการปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ทำได้อย่างยากลำบากยิ่งขึ้น 

2.การบัญญัติเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษในความผิดอาญาตามมาตรา 112 

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ทำไม่ได้ ความผิดตามมาตรา 112 นั้น ร้ายแรงกว่าความผิดหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา จึงไม่สามารถมีเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษได้เหมือนกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา 

ศาลยังเห็นต่อไปอีกว่า หากปล่อยให้มีเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษเช่นนี้ ต่อไปการพิจารณาคดีกันในศาล ในความผิดฐานนี้ก็จะเปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์ว่าเข้าเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษหรือไม่ ซึ่งการพิสูจน์กัน ก็จำเป็นต้องพูดและพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสียหาย 

ผมเห็นตรงกันข้ามกับศาลรัฐธรรมนูญ​ ด้วยความเห็นดังต่อไปนี้ 

ความผิดหมิ่นประมาทดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ความผิดฐานนี้ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เคยกำหนดเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษเอาไว้เช่นเดียวกัน ในเมื่อสมัยระบอบเก่ายังกำหนดได้ ในเมื่อกฎหมายในอดีตยังกำหนดเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษได้ เหตุไฉนในยุคปัจจุบันนี้จึงกำหนดไม่ได้ 

หากมีความกังวลว่า การพิสูจน์เหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษกันในโรงในศาล จะทำให้ไปพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลแห่งคดีนั้นก็ยังมีดุลยพินิจในการพิจารณาคดีในทางลับได้ เพื่อไม่ให้บุคคลภายนอกได้รับรู้เรื่องราวการพิจารณาคดีกันในโรงในศาล 

3.การกำหนดให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ การกำหนดให้สำนักพระราชวังทำหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษความผิดฐานนี้แต่เพียงผู้เดียว

ศาลเห็นว่าทำให้ความผิดตามมาตรา 112 กลายเป็นความผิดส่วนพระองค์ ไม่ใช่ความผิดต่อรัฐ เป็นการลดสถานะความคุ้มครองพระมหากษัตริย์ลง กลายเป็นว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน 

ผมเห็นต่างจากศาลรัฐธรรมนูญ การที่เราไม่กำหนดเอาไว้ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งรับผิดชอบหรือมีอำนาจหน้าที่ในการร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยปล่อยให้ใครๆ มาร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ จะทำให้มีบุคคลจำนวนมาก อาศัยกฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกัน 

หากมองว่า การกำหนดให้สำนักพระราชวัง จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนก็มีทางแก้อื่น คือเปลี่ยนให้เป็นองค์กรอื่นก็ได้ อาจจะไม่ใช่สำนักพระราชวัง แต่เป็นหน่วยงานอื่นใด ก็ได้ ให้มาทำหน้าที่เหล่านี้ 

การเสนอเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ในอดีตคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ตั้งในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีประธานคือ ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดก็เคยเสนอไว้ทำนองคล้ายๆ กัน คณะนิติราษฎร์ ก็เคยเสนอไว้ในทำนองเดียวกัน 

ตรงกันข้าม หากศาลรัฐธรรมนูญเล็งเห็นว่า การกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษแต่เพียงผู้เดียว จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน การปล่อยให้ใครก็ได้เที่ยวแจ้งความคดีมาตรา 112 ตามสถานีตำรวจต่างๆ เพื่อดำเนินคดีเหล่านี้ ก็เป็นการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนดุจกัน 

ในยุคปัจจุบัน ในช่วงเวลานี้ ยังคงมีกลุ่มบุคคลหลายองค์กรเที่ยวไปแจ้งความตาม สน. ต่างๆ ว่าคนนั้นผิด 112 คนนี้ผิด 112 บ้างครั้งก็เที่ยวไปแจ้งความในที่ไกลๆ จากภูมิลำเนาของผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย การทำแบบนี้ก็คือการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนเช่นเดียวกัน 

การยกประเด็น 3 เหตุผลดังกล่าว ผมมีความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเหตุและผลแต่เพียงมุมเดียว มิได้นำเหตุและผลของ สส. พรรคก้าวไกล ของพรรคก้าวไกล หรือฝ่ายสนับสนุนเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 มาพิจารณาแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่เมื่อใดก็ตามที่มีการรณรงค์การแก้มาตรา 112 พวกเขาเหล่านั้นต่างพูดกันอย่างชัดเจนว่า การปล่อยให้กฎหมาย 112 เป็นอย่างที่เป็นอยู่ จะส่งผลเสียต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และจะกระทบกระเทือนต่อตัวสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย และการแก้ 112 ต่างหากที่จะช่วยปกป้องและรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นประมุขของราชอาณาจักรไทยและสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยต่อไป 

ประเด็นที่สาม วัตถุแห่งคดี

คดีนี้ผู้ร้องได้ร้องว่า การกระทำต่างๆ ของหัวหน้าพรรคและพรรคก้าวไกลเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ผู้ถูกร้องคือหัวหน้าพรรคและพรรค วัตถุแห่งคดีหรือการกระทำที่ถูกร้องคือการเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาและการนำเรื่องนี้มาเป็นนโยบายหาเสียง ดังนั้น ศาลก็ต้องพิจารณาเฉพาะการเสนอร่างพ.ร.บ.เข้าสภาและการนำเรื่องนี้มาเป็นนโยบายหาเสียง โดยต้องดูจากสองข้อนี้เท่านั้น 

แต่ปรากฏว่าในคำวินิจฉัยว่าศาลได้นำข้อเท็จจริงต่างๆ จำนวนมาก มายืนวันว่าพรรคมีพฤติกรรมล้มล้างการปกครอง ไม่ว่าการชุมนม, การเข้าร่วมกิจกรรมยืนหยุดขังของ สส., การที่ สส.เป็นนายประกันให้ผู้ถูกกล่าวหาในความผิดฐาน 112 , การที่สมาชิกพรรค สส.พรรคแสดงความเห็นในที่สาธารณะ กรณีที่ สส.ตอนนี้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตาม 112 ในช่วงก่อนจะเป็น สส. และจนกระทั่งถึงเหตุการณ์การติดสติ๊กเกอร์ของหัวหน้าพรรคที่เวทีปราศรัยหาเสียงแหลมฉบัง จ.ชลบุรี มาผสมปนเป ผูกโยงไปสู่ข้อสรุปว่า พรรคมีพฤติกรรมล้มล้างการปกครอง ทั้งที่วัตถุแห่งคดีคือ การเสนอร่าง พ.ร.บ. กับ การเขียนนโยบายหาเสียงดังกล่าวเป็นการล้มล้างฯ หรือไม่เท่านั้น

ประเด็นที่ 4

ปัญหาสถานะความเป็นกลางทางการเมืองและอยู่เหนือการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์

ศาลรัฐธรรมนูญเอาคำวินิจฉัยในอดีตไม่ว่าคำวินิจฉัยที่ 6/2543, 3/2562,19/2564  มาอ้างถึงสถานะความเป็นกลางและเหนือการเมือง โดยศาลอธิบายว่า การที่พรรคเอาเรื่องการแก้ไข 112 มาเป็นนโยบายหาเสียง ทำให้ประเด็นสถาบันเข้ามาแปดเปื้อนการเมือง แต่ลองดูการเสนอนโยบายของพรรค ก้าวไกลเสนอ 300 นโยบาย เรื่อง 112 เป็นเพียงอันหนึ่งในกลุ่มการแก้ไขกฎหมายเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก แล้วมีคนไปร้องเรียนกับกกต.มาแล้ว กกต.ก็ยืนยันว่าทำได้ เพราะเป็นการเสนอแก้ไขกฎหมาย ตลอดการหาเสียงพรรคไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องแก้ไข 112 เลย แต่เรื่องการแก้ 112 ปรากฏในเวทีสาธารณะจากอะไร มันเกิดจากเวทีดีเบตจากสื่อและองค์กรต่างๆ เชิญพรรคต่างๆ มา แล้วถามคำถามทำนองนี้จากผู้ดำเนินรายการและประชาชน ทำให้ตัวแทนพรรคต้องตอบ โดยเฉพาะประเด็นว่า ถ้ามีเรื่องนี้จะร่วมรัฐบาลกันหรือไม่ ไม่ใช่การพูเดเน้นย้ำจากพรรคก้าวไกล และช่วงหาเสียง ไม่ใช่เพียงมีพรรคก้าวไกลที่รณรงค์เรื่องนี้ มีบางพรรคเห็นด้วย บางพรรคเห็นว่าควรพูดในสภา บางพรรคบอกมีปัญหาการบังคับใช้ บางพรรคบอกห้ามแตะต้อง ทุกพรรคต่างพูดเพราะมีการหยิบยกประเด็นนี้มาในเวทีดีเบต

ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ปรากฏคำอธิบายในหนังสือของ ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย ศ.ไพโรจน์ ชัยนาม ซึ่งเป็นอาจารย์ของผู้พิพากษาตุลาการจำนวนมากในประเทศไทย ทั้งสองท่านมีบทบาทยกร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับ คำอธิบายของนักวิชาการสองท่านยืนยันชัดเจนว่า สถานะความเป็นกลางและทรงอยู่เหนือการเมืองของพระมหากษัตริย์หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า รัฐธรรมนูญต้องออกแบบให้พระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชอำนาจในทางการเมืองหรือการบริหารราชการแผ่นดินโดยแท้ แต่ให้รัฐมนตรีผู้รับสนองพระบรมราชโองการมีอำนาจรับผิดชอบ หากเกิดความเสียหาย วิจารณ์เกิดขึ้นก็ให้กระทำกับรัฐมนตรีที่รับสนองพระบรมราชโองการ หากทำเช่นนี้จะทำให้ทรงเป็นกลางและทรงอยู่เหนือการเมือง ไม่ถูกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งวิจารณ์ติฉิน ดังนั้น การทำให้พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองและทรงเป็นกลางโดยแท้ ต้องออกแบบระบบป้องกันมิให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินโดยแท้ เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาว่าเป็นฝักฝ่ายกับกลุ่มใด จนกระทบกับความเป็นกลางของพระมหากษัตรย์ นี่คือคำอธิบายที่ถูกต้องของการที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางและทรงอยู่เหนือการเมือง

แต่ดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พรรคก้าวไกลเป็นคนนำพระมหากษัตริย์มาใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นอย่างนั้นหรือ พรรคก้าวไกลนำพระมหากษัตริย์มาผูกโยงกับประเด็นการเมืองอย่างนั้นหรือ ตรงกันข้าม เรื่องแบบนี้เกิดตั้งแต่ปี 2548 ผ่านการรัฐประหารปี 2549 ชุมนุมปี 2553 ชุมนุมปี 2556 รัฐประหาร 2557 และต่อเนื่องจนปัจจุบัน นี่ต่างหากเป็นการนำสถาบันมาโจมตีอีกฝั่ง กล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี พรรคก้าวไกลต่างหากที่ต้องการปัญหาเรื่องนี้จึงเสนอให้แก้ไข ม.112 แต่ที่ไหนได้ คำวินิจฉัยกลับบอกว่า พรรคเป็นคนนำประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์มาพูดในการรณรงค์หาเสียง

ประเด็นที่ 5

การล้มล้างการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับผลที่เป็นการล้มล้าง

ศาลบอกว่าแม้การกระทำต่างๆ ผ่านไปแล้ว แต่อาจจะส่งผลโดยตรงต่อไปได้อีกต่อการล้มล้างการปกครอง แล้วนำบรรทัดฐานคำวินิจฉัยของพรรคไทยรักษาชาติมาอธิบายไม่ว่าจะเป็น การเซาะกร่อนบ่อน การทำลายให้เสื่อม ฯลฯ  แต่การพิจารณาประเด็นปัญหาในทางกฎหมายว่าการกระทำหนึ่งส่งผลถึงผลลัพธ์หรือไม่อย่างไร จำเป็นต้องยึดหลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับผล ซึ่งต้องเป็นผลโดยตรง (causation) 

กรณีเช่นนี้ การกระทำที่ถูกร้องคือ การเสนอร่างแก้ 112 กับการเสนอนโยบาย ถามว่าสองเรื่องนี้เป็นผลสำเร็จแล้วหรือยัง ไม่มี 112 ยังไม่ถูกแก้ ดังนั้น ต่อให้เห็นว่าการแก้แบบนี้ทำไม่ได้ ถามว่าวันนี้สำเร็จแล้วหรือยัง คำตอบคือไม่มี ไม่มีการเสนอแก้ 112 ไม่มีการเสนอในสภา แล้วเช่นนี้จะอนุมานว่า จะเป็นผลโดยตรงจนส่งผลล้มล้างได้อย่างไร ณ วันนี้สถาบันก็ดำรงอยู่ ระบอบยังก็ยังดำรงอยู่

ประเด็นที่ 6 คำบังคับ

ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกคำบังคับไว้ในตอนท้ายว่า สั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงควาามคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกม.112 และห้ามมิให้มีการแก้ไข ม.112 ซึ่งไม่ใช่กระบวนการนิติบัญญัติโดยมิชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย 

จำเป็นต้องพิจารณาว่า ผู้ถูกร้องคือใคร และศาลจะสั่งอย่างไร ในช่วงเวลาไหน ผู้ถูกร้องกรณีนี้คือพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ดังนั้น ถ้าหากศาลต้องการสั่งห้ามการกระทำก็ต้องสั่งห้ามเฉพาะพิธาและพรรคก้าวไกลเท่านั้น เพราะสองคนนี้เป็นผู้ถูกร้อง แล้วการสั่งห้ามกระทำการต้องอธิบายอย่างชัดเจนว่าห้ามอะไรบ้าง ในช่วงเวลาไหน ศาลบอกว่า ต่อไปในอนาคต ไม่ให้มีการแก้ 112 ด้วยวิธีการกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ ถามว่าสั่งไปที่ใคร สั่งพิธาและพรรคก้าวไกลหรือสั่งทุกคนในแผ่นดินนี้ ต่อไปในอนาคตคือแค่ไหน มีจุดสิ้นสุดหรือไม่  แล้ว “ไม่ใช่กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ” แปลว่าอะไร แก้ได้อยู่ใช่ไหมหากทำโดยกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ จะเห็นว่าการออกคำบังคับในคำวินิจฉัยยังคลุมเครืออยู่


ผลกระทบต่อเนื่องอันเกิดจากคำวินิจฉัย

1. ต่อไปนี้กระบวนการนิติบัญัติ ซึ่งรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการตรากฎหมาย จะสูญเสียดุลยภาพแห่งอำนาจ ต่อไปศาลมีโอกาสจะให้มาตรา 49 เข้าแทรกแซงกระบวนการนิติบัญญัติได้ทุกขั้นตอน

2. มาตรา 112 กลายเป็นบทบัญญัติที่มีสถานะพิเศษอย่างยิ่ง มากกว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นๆ ดุจดั่งกลายเป็นซูเปอร์รัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นองค์กรชี้เป็นชี้ตายการใช้อำนาจทุกองค์กรการเมืองตามรัฐธรรมนูญในประเทศไทย จนนานวันเข้า การตีความเช่นนี้จะส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง

3. เป็นการปิดประตูการแก้ปัญหาอย่างสันติ ผ่านสถาบันการเมือง ผ่านระบบการการเลือกตั้ง ผ่านระบบรัฐสภา ต่อไปใครคิดอ่านว่าประเด็นนี้เป็นปัญหาจะไม่สามารถหรือแทบจะไม่มีโอกาสผลักดันมาพิจารณาในรัฐสภา

4. นิยามของคำว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญทีละเล็กทีละน้อย จนทุกวันนี้เราไม่อาจแน่ใจ ไม่อาจมั่นใจได้ว่า ตกลงแล้วระบอบนี้มีองค์ประกอบอะไรบ้าง แก่นแกนหรือเนื้อหาสาระสำคัญคืออะไรกันแน่ ตกลงแล้วคำคำนี้หมายความว่าอย่างไร 

5. จะเปิดทางให้บรรดานักร้องทั้งหลายรับลูกไปร้องต่อ ไม่ว่าร้องไปที่ กกต.ให้ส่งศาลยุบพรรคก้าวไกล หรือการร้องไปที่ ป.ป.ช.ว่าบรรดา สส.ของพรรคกระทำความผิดจริยธรรมร้ายแรง เพื่อใหศาลฎีกาวินิจฉัยและตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต


ข้อเสนอ

1. ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่า ห้ามแก้ไข 112 โดยเด็ดขาด แต่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ห้ามยกเลิก , ห้ามรณรงค์ , ห้ามแก้แบบเดิม ซึ่งศาลยกเอาไว้แบบเดิมแบบพรรคก้าวไกลใน 3 ประเด็น ศาลติดใจในสามกรณีนี้เท่านั้น ตรงนี้หมายความว่ามาตรา 112 ยังคงแก้ไขได้อยู่ แต่อาจจะต้องแก้ในประเด็นอื่นที่ศาลไม่ได้พูดถึง เช่น การแก้เรื่องการลดโทษจากโทษจำคุก 3-15 ปี อาจแก้ให้ไม่มีโทษขั้นต่ำและลดโทษขั้นสูงลงมาก็ได้ แสดงว่ายังแก้ได้ในประเด็นแบ่งแยกฐานความผิดออกจากกัน หมิ่นประมาทอันหนึ่ง ดูหมิ่นอันหนึ่ง อาฆาตมาดร้ายอีกอันหนึ่ง แสดงว่ายังสามารถกำหนดหน่วยงานรัฐหนึ่งมาร้องทุกข์กล่าวโทษได้อยู่ แต่เป็นสำนักพระราชวังไม่ได้เท่านั้นเอง

ถามว่าใครจะต้องทำ หากเห็นว่ายังเห็นว่าพอแก้ได้อยู่ ผู้เสนอร่างกฎหมายคือ  สส. 20 คนขึ้น ไป ครม. ประชาชนเข้าชื่อ

2. ในเมื่อคำวินิจฉัยส่งผลกับดุลยภาพอำนาจระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับรัฐสภา รัฐสภามมีอำนาจการแก้กฎหมายและรัฐธรรมนูญ เมื่อใดก็ตามที่ศาลตีความอำนาจตัวเองกินแดนอำนาจองค์กรอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ ทางตอบโต้กลับไปคือ รัฐสภาก็ต้องใช้อำนาจแก้ไขกฎหมายโต้กลับไป เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ และแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นดังต่อไปนี้  

  • คุมกรอบและเงื่อนไขของมาตรา 49 เอาไว้ให้ชัด โดยบอกว่าต่อไปนี้มาตรา 49 ไม่รวมถึงอำนาจนิติบัญญัติ ไม่รวมถึงร่างพรบ. การเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา 
  • คุมเขตอำนาจและเงื่อนไขการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีไหนที่ศาลใช้อำนาจกินแดนอันอื่นเข้ามาก็ออกแบบให้ชัดขึ้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญห้ามทำแบบไหนบ้าง 
  • มาตรการที่ไปได้ไกลที่สุดอีกอันคือ จัดการเปลี่ยนองค์ประกอบ ลดอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือกระทั่งยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ แล้วกำหนดให้องค์กรอื่นทำหน้าที่แทน

ปรากฏการณ์เหล่านี้เคยเกิดมาแล้วในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญ เช่น ตุรกี หรือประเทศที่ใช้ศาลสูงแทนศาลรัฐธรรมนูญ เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย

3. ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอทางการเมือง เข้าใจดีว่าประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลอาจเจ็บปวดและผิดหวังกับคำวินิจฉัยนี้ ประชาชนจำนวนมากแม้ไม่สนับสนุนพรรคก้าวไกล แต่ก็มีเหตุและผล และสติสัมปชัญญะพอที่เห็นปัญหา อีกไม่ช้าไม่นานจะมีการเลือกตั้ง การเลือกตั้งเร็วที่สุดคือ การเลือกตั้งท้องถิ่นคือ เลือก นายกฯ อบจ. และสมาชิก อบจ. ในต้นปี 2568 ถ้าทุกท่านสนับสนุนพรรคก้าวไกลเล็งเห็นว่าสิ่งที่เขาทำถูกต้อง สิ่งที่เขาถูกกระทำไม่ถูกต้อง แสดงพลังออกมาผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ และในการเลือก สส.ครั้งถัดไป ซึ่งอาจเกิดในปี 2570 ไม่ว่าวันนั้นจะมีพรรคที่ชื่อว่าพรรคก้าวไกลหรือไม่ มีพรรคใดเกิดมาแทน ประชาชนเก็บความเจ็บปวด เก็บความโกรธแค้นแล้วไประเบิดพลังออกในการเลือกตั้ง สส ครั้งหน้า เลือกพรรคก้าวไกลหรือพรรคอื่นที่ทำหน้าที่แทนให้ถล่มทลาย ให้มากกว่า 14.4 ล้านเสียง มากกว่า 20 ล้านเสียงให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ เป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองให้เห็นว่าอำนาจสูงสุดของทั้งประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย