ไม่พบผลการค้นหา
ทีเฟ็กซ์จับมือ 3 ผู้ผลิตและค้ายางพารา- 5 โบรกเกอร์ ปลุกเชื่อมั่นตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน่้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 ผู้จัดการทีเฟ็กซ์เผยซื้อขายมาปีกว่า มีปริมาณเฉลี่ย 100 สัญญาต่อวัน ฟากผู้ประกอบการหวังประเทศไทยกำหนดราคาได้ ขณะที่ผู้ว่าการ กยท. ชี้มาตรการหยุดกรีดยาง 3 ล้านไร่รอสรุป เม.ย.

นายบัณฑิต เกิดวงศ์บัณฑิต รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด ในฐานะ เลขาธิการสมาคมยางพาราไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยาง RSS3 (Ribbed Smoked Sheets 3) หรือยางแผ่นรมควันชั้น 3 รายใหญ่และรายเดียวในโลกมานาน แต่ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยกำหนดราคาเองได้ ดังนั้น การพัฒนาตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX พร้อมกับองค์กรพันธมิตร ประกอบด้วย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สมาคมยางพาราไทย และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อพัฒนาตลาดยางพาราล่วงหน้า พร้อมกับสร้างสภาพคล่องในตลาด จึงจะเป็นการสนับสนุนตลาดยางพาราไทยในอีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ที่่ผ่านมา TFEX ได้เปิดให้มีการซื้อขายสัญญายางพาราล่วงหน้า หรือ 'RSS3 Futures' มาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2559 ต่อมาได้เพิ่มสินค้าใหม่เปิดให้ซื้อขายสัญญายางพาราล่วงหน้า อีกตัวหนึ่งในชื่อ 'RSS3D Futures' ในเดือน พ.ค. ปีเดียวกัน ซึ่ง RSS3D Futures มีลักษณะสัญญาคล้าย RSS3 Futures แต่แตกต่างตรง RSS3D Futures กำหนดให้มีการรับมอบ/ส่งมอบสินค้าแผนรมควันชั้น 3 ที่เป็น Physical Delivery เมื่อสิ้นสุดอายุสัญญาเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการยางพาราเกิดความเชื่อมั่นและสามารถใช้ RSS3D Futures บริหารความเสี่ยงได้สอดคล้องกับความต้องการสินค้าในตลาดมากยิ่งขึ้น

นางสาวรินใจ ชาครพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ TFEX ระบุว่า ที่ผ่านมาหลังจากเปิดให้มีการซื้อขายยางพาราล่วงหน้าในตลาดทีเฟ็กซ์มาได้ปีกว่าๆ พบว่า มีปริมาณซื้อขายสัญญายางแผ่นรมควันชั้น 3 ล่วงหน้า มีเฉลี่ย 100 สัญญา/วัน ซึ่งยังไม่เยอะ เมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ทีเฟ็กซ์มีอยู่ในปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 320,000 สัญญา/วัน 

โดยล่าสุด (5 มี.ค.) ทีเฟ็กซ์ลงนามความร่วมมือกับ กยท. สมาคมยางพาราไทย และโบรกเกอร์ ในบันทึกข้อตกลงสนับสนุนการซื้อขายและส่งมอบสินค้าที่อ้างอิงกับยางแผ่นรมควันชั้น 3 หรือ RSS3D Futures ระหว่างผู้ประกอบยางพารา 3 ราย ได้แก่ บริษัท ไทยฮั้วยางพาราไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด และบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด กับ โบรกเกอร์ อีก 5 รายได้แก่ บริษัท คลาสสิก ออสสิริส ฟิวเจอร์ส จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัด, บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ ฟิวเจอร์ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ไอร่า จำกัด (มหาชน) 

"เนื่องจากผลิตภัณฑ์ตัวนี้ยังใหม่ จึงยังมีปริมาณซื้อขายไม่มาก อีกทั้งการเข้ามาลงทุนในสินค้าตัวนี้ ต้องสร้างความเข้าใจในตัวสินค้าให้ได้มากกว่านี้ การทำเอ็มโอยูวันนี้จึงเหมือนจุดเริ่มต้นสร้างความเชื่อมั่นเชื่อใจให้ผู้ประกอบการ ให้กับนักลงทุน ทั้งในเรื่องการลงทุน การรับและส่งมอบสินค้า และหลังจากนี้ คาดหวังว่าจะมีโบรกเกอร์รายอื่นๆ ที่มากกว่า 5 รายนี้เข้ามาในตลาดและมาช่วยการสร้างสภาพคล่องมากขึ้น" นางสาวรินใจ กล่าว

TFEX

ด้านนางสุนทรี เกียรติพงษ์ถาวร รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายตราสารอนุพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด เปิดเผยว่า การซื้อขายสัญญาล่วงหน้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 นี้ เป็นสินค้าที่ขายยาก ยากกว่าการขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทองคำ เพราะถ้าซื้อสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทองคำสัก 1 กิโลกรัม เมื่อส่งมอบสินค้ายังพอแบกได้ แต่ถ้าเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้ายางแผ่นรมควัน เมื่อส่งมอบสินค้า ยาง 1 กิโลกรัมจะทำอย่างไร จะแบกไปไว้ที่ไหน ดังนั้นที่ผ่านมา การซื้อขายสัญญาล่วงหน้า หรือในตลาดฟิวเจอร์สยางพารา จึงมีการส่งมอบได้จริงๆ เพียง 1% ของปริมาณการซื้อขายสัญญาทั้งหมด และต้องเป็นการทำสัญญาระยะยาวด้วย 

"ดังนั้น การทำงานของโบรกจึงต้องลงไปเคาะประตูผู้ประกอบการ การนักลงทุนถึงในพื้นที่ปลูกยาง เพราะเราต้องการสร้างตลาดให้เกิดขึ้น ซึ่งยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าสามารถปิดช่องว่างหรือการรับส่งมอบสินค้าได้ เมื่อครบกำหนดอายุสัญญา และถ้าทำให้เกิดสภาพคล่องในตลาดได้ ก็เชื่อว่านักลงทุนกลุ่มเก็งกำไรจะเข้ามาในตลาดนี้เพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ก็ยอมรับว่า การขายผลิตภัณฑ์ตัวนี้เหนื่อยมาก" นางสุนทรีกล่าว

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. เปิดเผยว่า ยางพาราเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทย และมีมูลค่าการส่งออกมากกว่าข้าวด้วยซ้ำ ที่ผ่านมา ส่งออกยางพารามีมูลค่ากว่าปีละ 2 แสนล้านบาท สามารถสร้างเงินทุนหมุนเวียนให้ผู้ปลูกยางผู้ประกอบการยางปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก แต่ตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้ายางพาราที่มีปริมาณการซื้อขายมากๆ และเป็นตลาดหลักในโลกกลับไม่อยู่ที่ประเทศไทย แต่อยู่ที่ตลาด SICOM ในสิงคโปร์ ตลาด SHFE ในเซียงไฮ้ และตลาด TOCOM ในญี่ปุ่น ดังนั้น การสร้างตลาดซื้อขายล่วงหน้ายางพาราในประเทศไทยจึงเป็นโอกาสที่จะสร้างความทัดเทียมกับตลาดโลก

'มาตรการหยุดกรีดยาง 3 ล้านไร่' รอเคาะ เม.ย.

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทยยังกล่าวถึงข้อเสนอเรื่องมาตรการหยุดกรีดยาง 3 ล้านไร่ ในระยะ 3 เดือน (พ.ค. - ก.ค. 2561) ว่าขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยมีเป้าหมายลดปริมาณยางในตลาด และดันราคายางพาราให้เข้าถึงระดับที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ (เดือน ม.ค. -มี.ค.) เป็นช่วงหยุดกรีดยางตามปกติอยู่แล้ว ดังนั้นจึงคาดว่า ภายในเดือน เม.ย. หรือ พ.ค. น่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการหยุดกรีดยาง 3 ล้านไร่ ในระยะ 3 เดือนดังกล่าว 

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอมาตรการลดการกรีดยาง ซึ่งมี 2 แนวทาง คือ ลดกรีดยาง 3 ล้านไร่ ระยะเวลา 3 เดือน แต่จะมีการจ่ายเงิน 'ชดเชย' ให้ชาวสวนยางที่หยุดกรีดรายละ 4,500 บาทต่อไร่ หรือจะลดกรีดยางแบบวันเว้นวันตลอดทั้งปี หรือให้กรีด 15 วันกับหยุดกรีด 15 วัน เพื่อลดปริมาณยางที่จะออกสู่ตลาด ซึ่งอยู่ระหว่างการคำนวณตัวเลขผลผลิตยางที่จะออกสู่ตลาดที่ชัดเจน รวมถึงงบประมาณรองรับในระหว่างที่ชาวสวนยางไม่สามารถกรีดยางได้ 

อ่านเพิ่มเติม: