ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ ย้ายเข้าบ้านหลังใหม่ได้ 2 เดือนกว่าๆ เรานัดพูดคุยกับ บุญชัย เทียนวัง เพื่อถอดรหัสความงดงามของ ‘ฟาซาด’ (Façade) หรือเปลือกหุ้มตัวอาคาร ที่หากมองผ่านๆ จากภายนอกอาจเห็นเป็นแค่แผ่นอะลูมิเนียมฉลุลวดลายเรียบง่าย ทว่าเบื้องหลังการออกแบบกลับแฝงด้วยสัญลักษณ์ ความหมาย แล���การถ่ายทอดวัฒนธรรมผ่านสถาปัตยกรรม

แน่นอนอยู่แล้วว่า ผู้คนแวดวงดนตรี ภาพยนตร์ และแฟชั่น คงคุ้นเคยกับ ‘สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ’ (Alliance française de Bangkok) กันเป็นอย่างดี เพราะมันเป็นสเปซแห่งการเรียนรู้ศิลปะหลากหลายแขนง ที่อยู่เคียงคู่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่ปี 1912 โดยเดินหน้าสอนภาษา สร้างสรรค์เวิร์คช็อป และส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง

ทว่าท่ามกลางการพัฒนาความเป็นเมือง และความเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ ส่งผลให้เมื่อประมาณ 2 เดือนก่อน (27 กรกฎาคม 2561) อัลลิยอง ฟรองเซส์ จำต้องย้ายเข้าบ้านหลังใหม่ ใกล้ๆ พิกัดเดิม เพื่อต้อนรับอภิมหาโครงการอสังหาริมทรัพย์แสนล้าน ‘วัน แบงค็อก’ (OneBangkok) ซึ่งกินพื้นที่บริเวณหัวมุมถนนวิทยุมากกว่า 1,830,000 ตารางเมตร

หากมองจากภายนอก บ้านหลังใหม่ของอัลลิยอง ฟรองเซส์ เปี่ยมด้วยความทันสมัยของสถาปัตยกรรมรูปทรงเรขาคณิต ผลงานของบุญชัย เทียนวัง ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบจากบริษัทสโตนเฮ้นจ์ (Stonehenge) โดยเบื้องหน้าอาคารชวนสะดุดตาด้วยแผ่นอะลูมิเนียมลวดลวยวิจิตรบรรจง หรือตามศัพท์แวดวงสถาปนิกเรียกกันว่า ‘ฟาซาด’ (Façade) ซึ่งมาจากภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ‘ส่วนหน้า’ ซึ่งเปรียบเป็นตัวแทนสะท้อนความคิดสร้างสรรค์ และความประณีตของงานออกแบบ

af2.jpg
  • ลวดลวยบนฟาซาดที่ห่อหุ้มอาคารหลังใหม่ของสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ
af7.jpg
  • บุญชัย เทียนวัง ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบอาคารหลังใหม่ของสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ

ถ้าคุณเคยไปเยือนปารีส คุณต้องเคยเห็นตึกรามบ้านช่องปะหน้าด้วยฟาซาดสะพรั่งบานเต็มไปหมด เพราะนอกเหนือจากความหรูหราทรงพลังของสถาปัตยกรรมเก่าแก่แบบโบซาร์ (Beaux) การตกแต่งอาคารบ้านเรือน ห้างสรรพพสินค้า โรงเรียน หรือปรับปรุงพื้นที่ต่างๆ ของเมืองด้วยฟาซาดสวยๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมฝรั่งเศส

สำหรับความพิเศษของฟาซาดดีไซน์ของอัลลิยอง ฟรองเซส์ นอกจากจะสวยงามชวนหลงไหล และสอดคล้องกับบริบทรอบข้างแล้ว เบื้องหลังการประดับประดาด้วยฟอร์มเรียบๆ มินิมอลๆ มันมาพร้อมความต้องกาารสื่อเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และความเป็นฝรั่งเศส โดยแผ่นอะลูมิเนียมเจาะเป็นรูปทรงหกเหลี่ยม (Hexagon) ซึ่งพัฒนามาจากสัณฐานทางภูมิศาสตร์ และชื่อเล่นของประเทศฝรั่งเศสเอง (L'Hexagone) 

เนื่องจากวัฒนธรรมฝรั่งเศสนับเป็นวัฒนธรรมทรงอิทธิพล และแข็งแกร็งมาก เพราะเมื่อพูดเรื่องปรัชญา ประวัติศาสตร์ ศิลปะ ละคร สถาปัตยกรรม อาหาร ไวน์ แฟชั่น ฯลฯ ทุกแขนงล้วนมีสกุลช่าง และวิธีคิดค่อนข้างยูนีค ดังนั้น โจทย์หลักของการออกแบบตัวอาคารหลังใหม่ของสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ จึงไม่ใช่แค่การแทนอาคารหลังเก่า แต่ต้องทำหน้าที่รองรับ และเผยแพร่วัฒนธรรมอันหลากหลายของฝรั่งเศสให้ได้อย่างดีที่สุด

“อนาคตบริเวณที่ตั้งของสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวัน แบงค็อก ขนาดใหญ่เกือบ 2 ล้านตารางเมตร แต่ตัวอาคารของสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ นั้นพื้นที่แค่ 6,500 ตารางเมตร จึงจำเป็นต้องพยายามสร้างบทสนทนา หรือสื่อสารกับอาคารอื่นๆ ในระแวกเดียวกันด้วย เพื่อสร้างความสอดคล้อง

“ผมออกแบบฟาซาดของอาคารด้วยความต้องการสร้างบทสนทนาใหม่ๆ ระหว่างอาคารหลังนี้กับอาคารโดยรอบ ด้วยการนำแผ่นอะลูมิเนียมเจาะรูเป็นสัญลักษณ์หกเหลี่ยม หรือรูปทรงทางกายภาพของประเทศฝรั่งเศส ลักษณะเดียวกับประเทศไทยที่เป็นขวาน ประเทศจีนเป็นไก่ อิตาลีเป็นรองเท้าบู๊ต” บุญชัยกล่าว

af5.jpg
  • วิวจากสตูดิโอเต้นรำบนชั้น 6 มองทะลุช่องฟาซาดขนาดใหญ่เห็นการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพท์วัน แบงค็อก

นอกจากความหมายที่เชื่อมโยงกับสัณฐานทางภูมิศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสแล้ว ความทึบ และความถี่ของลวดลายก็เป็นการเรียบเรียงจังหวะใหม่ เพื่อสร้างสุนทรียภาพ ขณะเดียวกันก็เชื่อมความสัมพันธ์กับกิจกรรมภายในอาคาร โดยบริษัทสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารพยายามเน้นการสร้างพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ส่วนตัว และการสร้างมิติของแสงเงา

“ทุกอย่างล้วนมาจากการศึกษา วางแผน และออกแบบการจัดการใหม่ เพื่อให้รูปแบบการใช้อาคารมีลำดับขั้นของความเป็นพื้นที่สาธารณะ กึ่งสาธารณะ ไพรเวท และกึ่งไพรเวทอย่างบริเวณสตูดิ หรือโถงก่อนเข้าออดิทอเรียม ซึ่งต้องการมองเห็นวิวด้านอก หรือรับแสงธรรมชาติมาก ก็เจาะลายบนฟาซาดเป็นช่องขนาดใหญ่ ขณะที่ห้องเรียน และออฟฟิศ เปิดลายบนฟาซาดเป็นช่องเล็กๆ เพราะต้องการความเงียบสงบ

“แนวความคิดมาจากแต่ละห้องต้องการความเชื่อมโยงกับธรรมชาติไม่เท่ากัน ดังนั้น ตัวฟาซาดจึงทำหน้าที่ทั้งสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ภายใน แต่ขณะเดียวกันก็สามารถสื่อสารกับภายนอกได้ด้วย คือเป็นทั้งการเชื่อมโยง (Conection) และการแบ่งแยก (Separation) หน้าที่ที่เหมาะสม” บุญชัยเสริม

ตัวอาคารหลังใหม่ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 6,500 ตารางเมตร ความสูง 5 ชั้น ภายในประกอบด้วยห้องเรียน ห้องสมุด ห้องเวิร์กช้อป ออฟฟิศ คาเฟ่ ออดิทอเรียม และสตูดิโอเต้นรำ ด้านประโยชน์ใช้สอยเน้นความยืดหยุ่นในการสัญจร โดยชั้นล่างออกแบบเป็นลานกิจกรรมอเนกประสงค์ โซนจัดนิทรรศการศิลปะ และแผนกต้อนรับ ซึ่งถือเป็นการผลิกโฉมอัลลิยอง ฟรองเซส์ ไปจากเดิมที่เคยเก็บแผนกต้อนรับไว้บนชั้น 3

af9.jpg
  • บันไดอัฒจรรย์สามารถดัดแปลงเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น รันเวย์แฟชั่น


af4.jpg
  • โซนนิทรรศการบริเวณชั้น 1 กำลังจัดแสดงภาพถ่าย


af8.jpg
  • สกายไลท์บริเวณส่วนที่เป็นเอเทรียมสูง 6 ชั้น เจาะช่องรับแสงธรรมชาติประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยออกแบบเป็นสีตามธงชาติฝรั่งเศส

อีกส่วนหนึ่งที่เป็นไฮท์ไลท์สำคัญของโครงการคือ โถงกลางขนาดย่อมสูง 6 ชั้น ที่มีบันไดอัฒจันทร์ไม้ขนาดใหญ่เชื่อมต่ออาคารทั้งหมดเข้าด้วยกัน

“อาคารของเดิมนั้น บันไดถูกซ่อนอยู่ในปล่องบันไดหนีไฟ ซึ่งไม่ค่อยมีใครใช้ ขึ้นลงชั้นเดียว ก็ใช้ลิฟต์เป็นหลัก ผมจึงออกแบบให้มีบันไดไม้ให้ overscale อยู่กลางโถงนิทรรศการ เชื่อมต่อกับพื้นที่สาธารณะหลักๆ ตั้งแต่ชั้น 1 ถึงช้ั้น 3 ไปเลย บันไดอัฒจันทร์นี้ ไม่เพียงแค่เชื่อมพื้นที่ต่างระดับเข้าด้วยกันเท่านั้น แต่ยังเป็นใช้งานอย่างอเนกประสงค์ทั้งนั่งเล่น จัดแสดงงานนิทรรศการ หรือจะเดินแฟชั่นโชว์ก็ได้

“ผมเชื่อว่า อาคารหลังใหม่ของอัลลิยอง ฟรองเซส์ ที่สโตนเฮ้นจ์ออกแบบสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในการใช้งานระหว่างผู้คน และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ของฝรั่งเศส รวมถึงมีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม” บุญชัยกล่าวทิ้งท้าย

On Being
198Article
0Video
0Blog