ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากการปกครองประเทศยาวนาน 37 ปี โรเบิร์ต มูกาเบ ประธานาธิบดีซิมบับเว ถูกโค่นล้มโดยชนวนเหตุมาจากเรื่องไม่คาดคิด อย่างการตั้งภริยาเป็นทายาททางการเมืองแทนรองประธานาธิบดี เกรซ มูกาเบ สตรีหมายเลขหนึ่งของซิมบับเวถูกมองว่าเป็นจุดจบของสามี แต่จริงๆแล้วเป็นเพราะเธอ หรือเพราะระบอบอันกัดกินตัวเองของมูกาเบกันแน่?

สตรีหมายเลขหนึ่งที่ทรงอิทธิพลระดับตำนานไม่ได้มีมากมายนัก ในโลกนี้สตรีที่เป็นที่จดจำจากบทบาทนี้ไม่กี่คน เช่นอิเมลดา มาร์กอส แจคเกอลีน เคนเนดี และมิเชล โอบามา แต่หากพูดถึงสตรีหมายเลขหนึ่งที่โดดเด่นที่สุดในแอฟริกา ก็ต้องยกให้เกรซ มูกาเบ ผู้ได้รับสมญาว่า "กุชชี เกรซ" และ ""นักช็อปหมายเลขหนึ่ง"

ชีวิตของเกรซถูกเปรียบว่าเหมือนซินเดอเรลลา แต่ออกจะเป็นซินเดอเรลลาที่อื้อฉาวไม่น้อย เธอเริ่มต้นจากการเป็นพนักงานพิมพ์ดีดในสำนักเลขาธิการประธานาธิบดี เกรซให้สัมภาษณ์ว่านายโรเบิร์ต มูกาเบ ประธานาธิบดี ผู้มีอายุมากกว่าเธอถึง 41 ปี มักแวะเวียนมาถามไถ่เรื่องส่วนตัวของเธอเสมอ เช่น เธอเคยแต่งานมาก่อนหรือไม่ ครอบครัวเป็นอย่างไร ทั้งที่ขณะนั้นเกรซแต่งงานแล้วกับนายทหารอากาศ และแซลลี ภริยาของมูกาเบ กำลังป่วยหนักด้วยมะเร็งระยะสุดท้าย 

มูกาเบให้สัมภาษณ์อย่างเปิดอกว่า แม้จะฟังดูเป็นเรื่องโหดร้าย เพราะเขาตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์กับเกรซในช่วงเวลาสุดท้ายในชีวิตของแซลลี แต่เขายอมรับว่าตนเองต้องการมีใครสักคนอยู่เคียงข้าง และเกรซก็เป็นหนึ่งในคนที่ใกล้ชิดที่สุดที่ทำงานกับเขาในตอนนั้น อีกทั้งยังหย่าขาดจากสามีแล้วด้วย เพราะฉะนั้น จึงเป็นที่ทราบกันอย่างเปิดเผยว่าเกรซเป็นภรรยาน้อยของมูกาเบ ตั้งแต่ก่อนแซลลีจะเสียชีวิตในปี 1992 อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง เกรซหย่าขาดจากสามีเก่าอย่างเป็นทางการหลายปีหลังจากเธอใช้ชีวิตร่วมกับมูกาเบและมีลูกด้วยกันแล้ว

Robert-Mugabe-Grace-Mugabe-Wedding-1.jpg

ภาพที่ระลึกงานแต่งงานระหว่างเกรซและโรเบิร์ต มูกาเบ ในปี 1996 (เครดิตภาพ: Zimbabwe Today)

ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 2 คน ก่อนที่มูกาเบในวัย 71 และเกรซในวัย 30 จะแต่งงานกันอย่างยิ่งใหญ่ในปี 1996 ซึ่งสื่อซิมบับเวถือเป็นงานแต่งงานแห่งศตวรรษ มีแขกมาร่วมงานกว่า 40,000 คน รวมถึงเนลสัน แมนเดลา รัฐบุรุษแห่งเซาท์แอฟริกา และหลังจากนั้น 1 ปี เกรซก็ให้กำเนิดบุตรชายคนสุดท้อง ทำให้ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันรวม 3 คน

ช่วงแรกของการดำรงตำแหน่งสตรีหมายเลขหนึ่ง เกรซเก็บตัว เพราะไม่สามารถต้านกระแสความนิยมที่ชาวซิมบับเวมีต่อแซลลีได้ และเธอยังเคยแต่งงานมีลูกมาแล้ว อย่างไรก็ตาม หลายปีผ่านไป เธอเริ่มมีข่าวโด่งดังขึ้น ทั้งในฐานะสตรีหมายเลขหนึ่งที่ใช้ชีวิตหรูหรา แต่งตัวนำสมัย ใช้สินค้าแบรนด์เนม ทั้งที่เศรษฐกิจซิมบับเวตกต่ำ ประชาชนยากจนติดอันดับโลก เธอถูกให้สมญาว่า "นักช็อปหมายเลขหนึ่ง" และ "กุชชี เกรซ" ตอกย้ำภาพความเป็นคนฟุ่มเฟือย ใช้เงินมหาศาลไปกับการตระเวนช็อปปิงในยุโรป มีรายงานข่าวว่าใบเสร็จช็อปปิงใบหนึ่งของเธอที่ปารีส มีมูลค่าถึง 75,000 ปอนด์ หรือ 3.2 ล้านบาท 

ในปี 2009 เกรซตกเป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อริชาร์ด โจนส์ ช่างภาพชาวอังกฤษ พยายามถ่ายภาพเธอขณะพักอยู่ในโรงแรมในฮ่องกง ทำให้เกรซไม่พอใจ สั่งบอดีการ์ดไล่ตามจับโจนส์ และนำมาให้เธอตบหน้า หลังจากนั้นก็มีรายงานพฤติกรรมในทำนองนี้ของเกรซตามมาอีกหลายครั้งในหลายประเทศ เช่นมาเลเซีย สิงคโปร์ และล่าสุดที่เซาท์แอฟริกา เมื่อเกรซไม่พอใจที่ลูกชายคนเล็กเดทกับนางแบบสาว เธอจึงเรียกนางแบบคนดังกล่าวมาตบหน้าด้วยรางปลั๊กไฟ และต้องใช้เอกสิทธิ์คุ้มกันทางการทูตในการหลบหนีกลับประเทศโดยไม่ถูกดำเนินคดี

เกรซยังทำธุรกิจอีกหลายอย่าง แต่ละอย่างล้วนไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเหมืองแร่ หรือฟาร์มโคนม ที่มีหลายฟาร์มเป็นกิจการที่รัฐบาลซิมบับเวของสามีของเธอยึดมาจากชาวอังกฤษเจ้าอาณานิคมเก่าในช่วงของการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่

Zimbabwe Political Tu_Rata(5).jpg

เกรซและสามีในงานปราศรัยต่อสมาคมเยาวชนของพรรครัฐบาล

เกรซเริ่มมีบทบาททางการเมืองชัดเจนในปี 2014 เมื่อเธอได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสมาคมสตรีของพรรคซานู-พีเอฟ และมีที่นั่งในโปลิทบูโร หรือคณะกรรมการสูงสุดของพรรค เธอยังได้รับการสนับสนุนจากสมาคมเยาวชนของพรรค และกลุ่ม G-40 ซึ่งเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ของพรรครัฐบาล ที่มีแนวทางแตกต่างจากกลุ่มทหารเก่าที่ครองอำนาจมาตั้งแต่การประกาศเอกราช 

นับแต่นั้นก็เริ่มมีการสร้างบารมีและคุณสมบัติที่เหมาะสมให้เกรซ เธอเดินสายปราศรัยกับสามีอย่างมั่นใจ และบางครั้งก็ถึงกับกล้าวิจารณ์นโยบายของมูกาเบ รวมถึงประกาศตัวว่าเธอพร้อมจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป แต่ก็มีเรื่องอื้อฉาวตามมาอีก เมื่อมหาวิทยาลัยซิมบับเวมอบปริญญาเอกด้านสังคมวิทยาให้เกรซ หลังเธอสมัครเข้าเรียนเพียง 3 เดือน แถมวิทยานิพนธ์ที่เธอทำก็ไม่ปรากฏในสารบบของมหาวิทยาลัย มีการเรียกร้องให้เธอคืนปริญญา แต่ก็ไม่เป็นผล

กระแสข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์หรูหราฟุ่มเฟือย และพฤติกรรมอื้อฉาวอีกหลายประการ ทำให้เกรซไม่ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาทนอยู่ใต้การปกครองเผด็จการของมูกาเบ สามีของเธอมาแล้วหลายทศวรรษ

Zimbabwe Internationa_Rata.jpg

แต่ผู้ที่ไม่พอใจเกรซที่สุด ก็คือเครือข่ายทหารที่ร่วมรบมากับมูกาเบตั้งแต่ยุคสงครามปลดแอกประเทศจากการปกครองของอังกฤษ ซึ่งมีเอ็มเมอร์สัน นังกากวา รองประธานาธิบดีเป็นแกนนำ นังกากวาสนิทสนมกับบรรดานายทหารระดับสูง แกนนำอาวุโสของพรรค และเครือข่ายทหารผ่านศึก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการเมืองสูงมากในซิมบับเว เขาถูกวางตัวเป็นผู้สืบทอดอำนาจคนต่อไป จึงไม่พอใจอย่างมากที่จู่ๆมูกาเบก็เปลี่ยนใจ คิดเอาภริยามาเป็นทายาททางการเมืองแทน

ความไม่พอใจดังกล่าวนำไปสู่รอยร้าวใหญ่ เมื่อมีการกล่าวหาว่าเกรซพยายามวางยาพิษนังกากวา แต่เธอปฏิเสธ มูกาเบเริ่มออกปากว่ามีการวางแผนก่อรัฐประหารโดยกลุ่มที่สนับสนุนนังกากวา สุดท้ายนังกากวาก็ถูกสั่งปลดจากตำแหน่ง ทำให้ความไม่พอใจในกลุ่มอำนาจเก่าทวีขึ้นถึงขีดสุด ผู้บัญชาการทหารบกซิมบับเวประกาศว่าการกวาดล้างเครือข่ายนังกากวาโดยพรรครัฐบาล เป็นการมุ่งกำจัดเครือข่ายทหารผ่านศึกที่ร่วมต่อสู้ปลดแอกประเทศ และทหารพร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อยับยั้งการกวาดล้างนี้ ทำให้เครือข่ายเยาวชนที่สนับสนุนเกรซ ออกมาประณามผู้บัญชาการทหารบกว่าคิดก่อกบฏที่จะแทรกแซงการทำงานของพรรครัฐบาล

ความขัดแย้งทั้งหมดปะทุกลายเป็นการนำกำลังทหารออกมาบนถนน ยึดสถานีโทรทัศน์ คุมตัวประธานาธิบดี กองทัพยืนยันว่าไม่ได้รัฐประหาร เพียงต้องการนำตัว "อาชญากร" ผู้อยู่แวดล้อมประธานาธิบดีมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ทั่วโลกไม่ซื้อคำแก้ตัวนี้ และยอมรับร่วมกันว่านี่คือจุดจบของระบอบเผด็จการมูกาเบที่ปกครองซิมบับเวมา 37 ปี

หลายฝ่ายมองว่ามูกาเบผู้สามารถนำรัฐนาวาฝามรสุมต่างๆมาได้เกือบ 4 ทศวรรษ กลับพลาดท่าเพียงเพราะผู้หญิงคนเดียว แต่อันที่จริงแล้ว ฟางเส้นสุดท้ายในการเมืองซิมบับเว ไม่ใช่เกรซ มูกาเบ และความทะเยอทะยานทางการเมืองของเธอ แต่เป็นเพราะระบอบของมูกาเบที่วางรากฐานอยู่บนสิ่งที่อ่อนไหวอย่างการเอื้ออำนาจและผลประโยชน์ระหว่างนายทหารและชนชั้นนำทางการเมืองเพียงไม่กี่คน ไม่อาจทนทานการเปลี่ยนขั้วอำนาจอย่างฉับพลัน จากกลุ่มทหารเก่าไปสู่เครือข่ายนักการเมืองรุ่นใหม่ โดยที่ไม่มีเสียงของประชาชนหนุนหลังได้

มูกาเบคิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางอำนาจที่สามารถตัดสินใจทำอะไรก็ได้ และคิดว่าบารมีของเขามากพอจะส่งต่ออำนาจให้ภริยาได้ แต่ในความเป็นจริง ระบอบผูกขาดที่ยาวนาน สร้างความตึงเครียดในหมู่แกนนำพรรครัฐบาลที่เฝ้ารอคิวได้ครอบครองอำนาจสูงสุดมานาน พอๆกับสร้างความตึงเครียดและต่อต้านผู้นำในหมู่ประชาชน เมื่อความหวังที่จะได้รับอำนาจนั้นถูกดึงไปจากมือในช่วงโค้งสุดท้าย ระบอบทั้งหมดจึงพังทลาย และประชาชนก็ไม่คิดจะต่อต้านการรัฐประหาร เพราะเบื่อหน่ายกับระบอบอันไร้ประสิทธิภาพของมูกาเบเต็มที

เรื่องนี้ไม่ได้สอนให้รู้ว่าหญิงงามที่พฤติกรรมฉาวโฉ่สามารถ "ล่มเมือง" ได้ แต่จริงๆแล้วคือการสะท้อนว่าระบอบผูกขาดอำนาจใต้ "มหาบุรุษ" เพียงหนึ่งเดียว ไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน และไม่สอดรับกับโลกยุคใหม่อีกต่อไป ไม่ว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ แต่สุดท้ายระบอบอันกัดกินตัวเองนี้ก็ต้องพังทลายลง บางครั้งด้วยประชาชนที่ไม่สามารถทนรับการกดขี่ได้ และบางครั้ง ด้วยผู้ที่ต้องการเป็น "มหาบุรุษ" คนใหม่เสียเอง