ไม่พบผลการค้นหา
แม้ขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่แม่น้ำปิงยังคงมีน้ำน้อยมาก ส่งผลให้เกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชรที่เริ่มปลูกข้าวไปแล้ว ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และเรียกร้องให้กรมชลประทานเร่งหาทางแก้ปัญหาโดยเร็ว

ณรงค์ ขาวทอง ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำท่อทองแดง ตำบลนิคม ในอำเภอเมืองกำแพงเพชร บอกว่าน้ำในคลองของโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาท่อทองแดง ยังคงแห้งขอดเพราะงดส่งน้ำให้ชาวนา จากการที่น้ำในแม่น้ำปิงมีน้อยมาก เพราะเขื่อนภูมิพลที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนมีน้ำใช้การได้เพียง 7% ทำให้ชาวนาที่เพิ่งปลูกข้าวนาปีไปตั้งแต่เดือนเมษายนกังวลว่าต้นกล้าจะแห้งตายเพราะขาดน้ำ

“ตอนนี้มีปัญหาคือฝนทิ้งช่วง ฝนทิ้งช่วงไปตอนนี้ข้าวยังไม่ได้เดือน ข้าวได้สักประมาณ 20 วัน เริ่มแตกระแหงแล้ว บางคนรอฝนไม่ได้ ที่น้ำคลองไปไม่ถึงก็ต้องใช้บ่อบาดาล” ณรงค์กล่าว

หลายปีมานี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง ได้ขยายพื้นที่การส่งน้ำจากกว่า 1 แสนไร่ มาเป็นกว่า 550,000 ไร่ในปัจจุบัน จึงทำให้พื้นที่ปลายน้ำมักจะขาดน้ำอย่างต่อเนื่อง 

สุทธิชัย ไพรสันต์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง จังหวัดกำแพงเพชร บอกว่า โครงการนี้สร้างมานานกว่า 35 ปี ระบบส่งน้ำบางส่วนจึงชำรุดทำให้ส่งน้ำได้เพียง 55% เท่านั้น

สุทธิชัย บอกด้วยว่า “คลองส่งน้ำจะเป็นคลองดินการกัดเซาะ การพังทลาย การเปลี่ยนสภาพจะมีค่อนข้างเยอะ ประกอบกับวัชพืชจะขึ้นค่อนข้างเยอะ เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำของเรา เพราะคลองเมนแต่ละสายความยาว 80-90 กิโล มันจะส่งน้ำประมาณ 20-30 วัน ซึ่งเราใช้เวลาในการส่งน้ำนานมาก ไม่ทันความต้องการของเกษตรกรที่ต้องการเพาะปลูก” 


กรมชลฯพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อน

เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน บอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระราชดำริให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตรวจสอบปัญหาและให้กรมชลประทาน หาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดงให้ดีขึ้น โดยให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจัดทำแผนแม่บทการปรับปรุงโครงการทั้งหมด

“ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทานเราให้เป็นระบบใช้งานให้มีประสิทธิภาพ แล้วใช้คลองขยายขึ้นมาเป็นแก้มลิง อันนี้แก้มลิงตรงข้างล่างนี้ เราก็จะมีลักษณะว่า พื้นที่เป็นพื้นที่ราบ เราไม่สามารถที่จะทำอ่างเก็บน้ำได้เหมือนช่องว่างในหุบเขา เราจะทำกั้นน้ำปิดทำนบง่าย ตรงนี้เราทำยังไง ก็ใช้หลักคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็คือว่า พยายามเก็บน้ำเป็นขนมครกเป็นแก้มลิง” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

โดยหลังจากการศึกษาแล้วเสร็จ กรมชลประทานจะเริ่มปรับปรุงซ่อมแซมการส่งน้ำตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องไปอย่างน้อย 5 ปี โดยใช้งบประมาณนับพันล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรเกือบ 9 หมื่นครัวเรือน ได้รับน้ำทำการเกษตรอย่างทั่วถึง