ไม่พบผลการค้นหา
ภาพข่าวของ เที่ยวบิน SPAR19 ซึ่งมีประมุขฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐอเมริกา นางแนนซี่ เพโลซี นั่งอยู่ แพร่ไปทั่วโลก โดยเป็นทริปการทัวร์เอเชียตะวันออก อันมีจุดหมายปลายทางที่กรุงไทเป ไต้หวัน เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ดูจะเขย่าความตรึงเครียดบนกระดานการเมืองระหว่างประเทศให้ร้อนแรงขึ้นไปอีก เมื่อจีนประกาศซ้อมรบตลอดสัปดาห์ที่เพโลซีเยือนไต้หวัน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับสถานการณ์สงครามรุกรานยูเครนโดยกองทัพรัสเซีย ซึ่งยังไม่คลี่คลายดี 

ผลด้านกลับ คือทำให้ประเทศที่เคยยึดแนวทางเป็นกลางมาหลายทศวรรษ เช่น ฟินแลนด์ และสวีเดน ต่างป่าวประกาศเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) อันมีสหรัฐเป็นผู้นำ เปลี่ยนจากประเทศที่เคยเป็นพื้นที่ปลอดสงคราม ไปสู่การเป็นสมาชิกองค์กรเหนือรัฐในด้านความมั่นคงที่มีชาติสมาชิกมากที่สุด 

มีคำถามไม่น้อยว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ พันธมิตรที่เคยเด็ดเดี่ยวที่สุดของสหรัฐ ในยุคสงครามเย็นอย่างไทย จะดำเนินท่าทีทางการเมืองต่อไปอย่างไร จะคงยึดแนวทางการทูตแบบไผ่ลู่ลม (Bamboo dipromacy) ไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ หรือตรงกันข้าม จะหันหน้าเข้าหาปักกิ่งแบบเต็มรูปแบบ ภายใต้สถานการณ์ใหม่ 

อิทธิพล โคตะมี อาจารย์ประจำแขนงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อธิบายถึงประเด็นท่าทีทางการทูต ของรัฐบาลไทย ในช่วงเวลานี้ว่า 

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ไทยจะทิ้งแบบแผนที่ส่งผลเป็นคุณให้ไทยอยู่รอดตลอดฝั่ง มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 แม้ว่าจะมีงานวิชาการช่วงหลังตั้งประเด็นว่าไทยเอนเอียงเข้าจีนมากขึ้น แต่จะพบว่าหลังการขึ้นมาของโจ ไบเดน ในสหรัฐ รวมถึงการเยือนไต้หวันของแนนซี่ เพโลซี่ และการเยือนไทยโดยผู้นำกองทัพสหรัฐ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาสะท้อนว่า ไทยและพันธมิตรดั้งเดิมสหรัฐ จะยังคงเดินแนวทางเดิมคล้ายกับยุคสงครามเย็น แต่อาจจะสงวนท่าทีในบางกรณีเท่านั้น   

เพื่อจะเข้าใจสถานการณ์นี้ อิทธิพลชี้ให้เห็นว่า ต้องกลับไปพิจารณาบริบทที่โลกต้องเคยถูกบังคับให้เลือกข้าง ตัวอย่างเช่น ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งแม้ไทยจะร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่ได้รับชัยชนะ แต่ก็ยังเข้าเป็นส่วนสำคัญในการการร่วมกับชาติมหาอำนาจที่ต้องการเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่สันติภาพด้วย ผลลัพธ์คือการสร้างระบอบระหว่างประเทศชนิดหนึ่งขึ้นมาที่เรียกว่า “สันนิบาตชาติ” (league of nations) 

การเกิดขึ้นขององค์กรนี้ ดำรงคู่ขนานไปกับสถานการณ์โลกอีก 4 กระแสใหญ่ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน กระแสที่หนึ่ง คือ การเติบโตขึ้นมาของพรรคนาซี ในเยอรมัน ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงภายในประเทศ หลังจากชาติที่เคยยิ่งใหญ่ด้วยนโยบาย “เลือดและเหล็ก” (iron and blood) กลับต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และติดหล่มไปกับการจ่ายค่าปฏิกรณ์สงครามมหาศาลจนยากที่จะเชิดหน้ากลับมาอีกครั้ง

กระแสที่สอง กระแสของการเปลี่ยนแปลงไปสู่คอมมิวนิสต์ ซึ่งความฝันของคาร์ล มาร์ก (Karl Marx) มาเกิดขึ้นครั้งแรกในดินแดนอันหนาวเหน็บอย่างรัสเซีย เมื่อกองทัพแดงปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์โรมานอฟ ในปี 1917 ก่อนจะสถาปนาระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ในเวลาต่อมา  

กระแสที่สาม คือกระแสชาตินิยมเพื่อปลดแอกจากประเทศเจ้าอาณานิคมเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผืนดินและขอบฟ้าของรัฐต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำลังเป็นไปอย่างฮึกเหิม   

และสุดท้ายคือ กระแสของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (Great Depression) ในกลุ่มประเทศทุนนิยมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา 

สยามในเวลานั้นต้องพยายามยืนอยู่ในที่ตั้งให้ได้ หลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 1932 มาสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) 

เมื่อเกิดองค์กรพหุภาคีที่ต้องการสร้างระเบียบโลกใหม่อันประกันความมั่นคงระหว่างรัฐต่างๆ ด้วยการสร้างกฎหมายระหว่างประเทศ เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นการเจรจาแบบเปิดกว้าง และเพิ่มความร่วมมือระหว่างรัฐ สยามก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบนี้ไปแล้ว รัฐบาลของคณะราษฎรอาศัยโอกาสนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ 

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าความเป็นกลาง ในกรณีของสยามในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีลักษณะเป็นกลางแบบไม่ถาวร (Ad hoc neutrality) อันเป็นแนวทางที่รัฐเล็กๆ ส่วนใหญ่เลือกดำเนินนโยบาย และความเป็นกลางในลักษณะนี้จะถูกทำลายเมื่อรัฐเล็กๆ ถูกรุกราน กรณีนี้เช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศในอดีต เช่น เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก 

หรือกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ในกรณีของฟินแลนด์ และสวีเดน ที่ต้องการเข้าร่วมองค์กรสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ “นาโต้” จากความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อต้นปี 2022 

แต่ที่สุด ไทยก็เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นความแตกแยกของผู้นำคณะราษฎรในเวลานั้น ที่มองเห็นต่างกัน 

ตรงนี้มีหนังสือของพีระ เจริญวัฒนนุกูล เรื่อง “Beyond Bamboo Diplomacy: the Factor of Status Anxiety and Thai Foreign Policy Behaviours” เสนอให้เห็นนโยบายของสยามไปในทิศทางเดียวกัน แต่จุดเน้นของเขาต่างออกไป นั่นคือ ในช่วงรอยต่อจากรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา จนถึงรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม มีปัจจัยเกี่ยวพันกับการสร้างสถานะการยอมรับต่อนานาชาติโดดเด่นขึ้นมาอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝรั่งเศสในฐานะเจ้าอาณานิคมอินโดจีนเริ่มยั่วยุไทยหนักขึ้น จนฟางเส้นสุดท้ายมาถึงระหว่างปลายปี 2483 จนถึง ต้นปี 2484 

นโยบายสันติภาพที่ยึดถือกันมาตั้งรัฐบาลพระยาพหลฯ จนถึง 3 เดือนแรกของรัฐบาลหลวงพิบูลฯ จึงเริ่มเปลี่ยนไป ส่วนความแตกต่างของแนวคิดเรื่องสันติภาพของบรรดาผู้นำคณะราษฎร ก็เริ่มถึงทางแยกเช่นกัน  

ด้วยเหตุนี้ การจะพิจารณาการตัดสินใจทางการเมืองใด เรามิอาจแยกได้สถานการณ์การเมืองของชาติมหาอำนาจ 

อิทธิพล ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า นับตั้งแต่มีการรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการมอนิเตอร์ท่าทีทางการทูต โดย The Economist ซึ่งเป็นการเก็บรายละเอียดมากกว่าแถลงการณ์ ก็พบว่าพันธมิตรดั้งเดิมของสหรัฐ เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ยังคงมีท่าทีเอนเอียงกับสหรัฐ แม้ว่าในบางกรณีจะหลีกเลี่ยงการประณามรัสเซียโดยตรง หรือรวมถึงการกดดันพม่า ซึ่งก็ไม่ใช่ท่าทีที่แตกต่างไปจากการรัฐประหารในพม่าเมื่อทศวรรษ 1990 

เป็นเรื่องที่น่าจับตาต่อไปว่าการเมืองภายในประเทศไทยเอง อาจจะส่งผลต่อนโยบายทางการทูตของไทยในอนาคตอันใกล้ได้เช่นกัน ขึ้นกับว่าไทยจะยกระดับดีกรีประชาธิปไตยไปได้ถึงจุดไหน


https://lh5.googleusercontent.com/UJNldtYOG0GCr-Lg7OuljBbs0_jLIOp4HUrhmbDCzOs22m1GjNuBwje6YHsLE67_iM6PTWnnPff603FVbDlUPGbXEFwkOlvZ2nOwi8LnCy5T-kyId7l56Fe3fUu9O76Gu_7t6kLMHjM4tAKitmmjZLyMJNFRDdSaM2mmFrvmibNAsAvVTZo