ไม่พบผลการค้นหา
สรรพากร เผยแผนการจัดเก็บภาษี ดึงบุคคลในธุรกิจออนไลน์ ย้ำรายได้ไม่เกี่ยวอายุ หากถึงเกณฑ์ต้องยื่น เตรียมดึงคนนอกระบบภาษีเข้าสู่ระบบภาษีไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงการเตรียมวางแผนขยายฐานการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ว่า เพื่อให้จัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 2.0853 ล้านล้านบาท โดยนำระบบข้อมูลมาใช้ติดตามคนที่หลบภาษีที่มีรายได้ถึงเกณฑ์แต่ยังไม่เคยมายื่นภาษี 6 ล้านคน รวมถึงติดตามนิติบุคคลที่มีการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแต่ยังไม่เคยยื่นภาษีอีกกว่า 1 แสนราย ให้เข้ามายื่นอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาชีพอิสระค้าขายออนไลน์ ยูทูบเบอร์ หรือทำธุรกิจแบบออฟไลน์ทั่ว ๆ ไปด้วย เพราะตามกฎหมายแล้วหากรายได้ถึงเกณฑ์ คนกลุ่มนี้ต้องยื่นภาษี ซึ่งปัจจุบันกำหนดว่าหากมีเงินเดือน เดือนละ 10,000 บาท หรือปีละ 120,000 บาท หรือหากเป็นรายได้จากค่านายหน้า ค่าเช่าเกินปีละ 60,000 บาท ต้องมีหน้าที่มายื่นแบบภาษี แต่อาจจะเสียภาษีจริงก็ต่อเมื่อมีรายได้เดือนละ 25,000 บาท หรือปีละ 300,000 บาทขึ้น

เอกนิติ กล่าวว่า การยื่นแบบเสียภาษี ไม่ได้วัดกันที่อายุของผู้ยื่น แต่จะพิจารณาจากฐานรายได้ของผู้ยื่นแบบเสียภาษีเป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันผู้ที่สามารถสร้างรายได้มีอายุน้อยลงแล้ว โดยกลุ่มคนเหล่านี้ต้องยื่นแบบภาษีเช่นกัน และปีที่ผ่านมามีนิติบุคคลเข้ามายื่นเสียภาษีเพียง 450,000 รายเท่านั้น ต่ำกว่าตัวเลขการยื่นจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่มี 600,000 ราย

ทั้งนี้ที่ผ่านมาพบว่ายังมีผู้หลบเลี่ยงหรือขาดความรู้ในการเสียภาษียังไม่เข้าสู่ระบบจำนวนมาก โดยเฉพาะบุคคลธรรมดาที่ในปีงบประมาณ 2563 มีผู้ยื่นเสียภาษีเพียง 9.55 ล้านคน และชำระภาษีจริงเพียง 3.3 ล้านคน แต่ยังมีกลุ่มคนอยู่นอกระบบที่เข้าข่ายต้องยื่นภาษีอีกถึง 6 ล้านคน ดังนั้นกรมฯ ได้ตั้งเป้าจะดึงกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ระบบภาษีได้ไม่ต่ำกว่า 500,000 คน

เอกนิติ กล่าวว่า จะพยายามดึงกลุ่มที่เหลือกว่า 100,000 ราย เข้าสู่ระบบให้หมดโดยเชื่อมระบบกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อตรวจสอบแล้วว่าบริษัทใดเข้าข่ายหรือยกเลิกกิจการไปแล้ว นอกจากนี้กรมฯ พยายามรักษาฐานการเก็บรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่มีสัดส่วนถึง 40% ของรายได้รวมให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน เนื่องจากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งช้อปดีมีคืนและคนละครึ่ง ซึ่งช่วยกระตุ้นมีการใช้จ่ายมากขึ้น