ไม่พบผลการค้นหา
แกนนำราษฏร ไม่มาชี้แจง กมธ.กฎหมายฯ ผู้ประสานงานยืนยันไม่มีใครปฏิเสธ แต่มีเหตุจำเป็นไปรับทราบข้อกล่าวหา ขณะที่ประชุมสรุปเชิญนายกฯ -ผบ.ตร. เข้าชี้แจง 16 ธ.ค.นี้ กรณีนโยบายในการจัดการกับผู้ชุมนุม

การประชุมกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ สิระ เจนจาคะ เป็นประธานกรรมาธิการฯ ซึ่งตามกำหนดในวันนี้ (9 ธ.ค.) ได้เชิญแกนนำกลุ่มราษฎรประกอบด้วย พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิ้น ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ หรือ มายด์ อานนท์ นำพา หรือ ทนายอานนท์ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ดาวดิน เข้าให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการเกี่ยวปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการชุมนุมทางการเมือง นอกจากนี้ ในคราวเดียวกันก็ได้มีการเชิญกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ,ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ,ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ,ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายในการชุมนุมทางการเมืองด้วย

โดยการประชุมในวันนี้ ปรากฎว่าแกนนำผู้ชุมนุมทั้งหมดไม่ได้มาร่วม เนื่องจากต้องไปรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้นายสิระ แจ้งต่อที่ประชุม คาดหวังจะให้กรรมาธิการชุดนี้เป็นเวทีหาทางออกถึงปัญหาร่วมกัน ระหว่างผู้ชุมนุมและฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ

รังสิมัน โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ชี้แจงว่า จากการประสานแกนนำกลุ่มราษฎรดังกล่าว เป็นเพราะมีเหตุจำเป็นไม่สามารถมาได้ ยืนยันว่าแต่ละคนไม่ได้ปฏิเสธที่จะไม่เข้าร่วม และยินดีที่จะมาชี้แจงในการประชุมคราวต่อไป ดังนั้นที่ประชุมจึงได้มีมติเชิญแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมมาอีกครั้งในการประชุมครั้งหน้า 

อย่างไรก็ตามฝ่ายตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ไม่ได้เดินทางมาด้วยตนเอง แต่มอบหมายให้ผู้แทนมาทำหน้าที่แทน โดยไม่มีการแจ้งเหตุผลที่ไม่สามารถมาด้วยตัวเอง ทำให้ที่ประชุมมีมติ เสนอเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้รับทราบ โดยนายสิระ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติและการไม่เดินทางในวันนี้ถือว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่มีความรับผิดชอบ ทั้งที่เดินทางมารายงานตัวเป็นสมาชิกวุฒิสภา ที่ฝั่งวุฒิสภาได้ จึงจะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อแจ้งให้รับทราบ

รังสิมันต์ เสนอให้ทำหนังสือเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้มาชี้แจงแทน เพราะที่ผ่านมากรรมาธิการประสบปัญหาไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายเจ้าหน้าที่เท่าที่ควร ดังนั้นการเชิญนายกรัฐมนตรีมาพูดคุยอาจสามารถหาทางออกได้

ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ สุทัศน์ เงินหมื่น ยืนยันว่า สิระในฐานะประธานกรรมาธิการมีอำนาจเชิญนายกรัฐมนตรีมาชี้แจงได้ 

ทั้งนี้เลยทำให้ที่ประชุมมีมติเชิญนายกรัฐมนตรี ,ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ,ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ,ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล มาชี้แจงนโยบายในการจัดการกับผู้ชุมนุมในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ รวมทั้งประธานคณะกรรมาการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย ก่อนที่ ที่ประชุมได้เชิญตัวแทนฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจออกจากห้องประชุม เนื่องจากเห็นว่าเป็นฝ่ายปฏิบัติไม่สามารถตอบเรื่องนโยบายของผู้บังคับบัญชาได้