ไม่พบผลการค้นหา
เมืองเวนิสของอิตาลี มีฉายาว่า 'เมืองแห่งสายน้ำ' เพราะถูกสร้างขึ้นบนเกาะเล็กๆ นับร้อยเกาะ จึงมักจะถูกน้ำท่วมเป็นประจำ แต่ช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ปัญหาน้ำท่วมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนมาตรการที่เคยใช้เริ่มจะไม่ได้ผลอีกต่อไป

นับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 เป็นต้นมา เมืองเวนิสเผชิญกับมวลน้ำท่วมมาแล้ว 3 ระลอก โดยระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ยประมาณ 120 ถึง 187 เซนติเมตร ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกือบร้อยละ 80 ของเมือง รวมถึงย่านการค้าและจัตุรัสซันมาร์โกที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ เนื่องจากน้ำท่วมปีนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี

นอกจากนี้ ปัญหาน้ำท่วมขังน่าจะยังไม่คลี่คลายลงง่ายๆ เพราะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประเมินว่า น้ำจาก 'ทะเลอะเดรียติก' จะยังหนุนให้ระดับน้ำใน 'ทะเลสาบเวเนเซีย' ไหลเอ่อท่วมเมืองต่อไปอีกระยะหนึ่ง และจะกระทบการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างไม่มีทางเลี่ยง และอาจจะเป็นอันตรายต่อโบราณสถานที่ถูกน้ำท่วม เพราะน้ำทะเลจะกัดกร่อนภายในอาคารเก่าแก่จนเสียหายเกินเยียวยาได้

ปัญหาน้ำท่วมที่หนักขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชาวเมืองเวนิสและผู้สนใจด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกเรียกร้องให้รัฐบาลอิตาลีต้องดำเนินการต่างๆ อย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงตั้งคำถามว่าโครงการสร้างกำแพงกั้นน้ำทะเลไม่ให้ไหลเข้าท่วมเมืองเวนิส ที่มีผู้เสนอแนวคิดมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 จะเสร็จสิ้นทันกำหนดที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2564 หรือไม่

โครงการดังกล่าวถูกเรียกว่า MOSE (โมส) ต้องใช้งบประมาณ ราว 6,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.98 แสนล้านบาท เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี 2546 โดยเป็นการออกแบบให้มีกำแพงกั้นน้ำท่วมตามรอยต่อระหว่างเมืองเวนิสและทะเลอะเดรียติก โดยกำแพงจะถูกซ่อนอยู่ใต้น้ำ เชื่อมกับห้องควบคุมที่อยู่ใต้ดิน และกำแพงจะต้องปรับระดับขึ้นและลงได้ด้วยระบบไฮดรอลิก เพื่อสกัดไม่ให้น้ำทะเลอะเดรียติกไหลเข้าท่วมเมือง

AFP-กราฟิกโครงการ MOSE กำแพงกั้นน้ำท่วมเมืองเวนิส อิตาลี.jpg

ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมคาดว่า กำแพงนี้จะปิดกั้นระดับน้ำทะเลที่สูงกว่าแผ่นดินเวนิสได้ถึง 3 เมตร แต่การก่อสร้างโครงการโมสต้องหยุดชะงักหลายครั้ง เพราะผู้เกี่ยวข้องกับโครงการถูกไต่สวนและจับกุมในข้อหาทุจริตงบประมาณก่อสร้าง โดยผู้ถูกจับกุมรวมถึงอดีตนายกเทศมนตรีที่พ้นตำแหน่งไปเมื่อปี 2557 อีกด้วย

เมื่อโครงการยืดเยื้อกว่าที่เคยประเมินไว้ ทำให้มีผู้วิพากษ์วิจารณว่าโครงการกำแพงกั้นน้ำอาจไม่มีความหมายอีกแล้ว เพราะระดับน้ำในทะเลอะเดรียติกเพิ่มสูงขึ้นราว 50 เซนติเมตรในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ถ้าหากกำแพงกั้นน้ำท่วมสร้างเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า ก็อาจจะใช้งานต่อได้ไม่ถึง 20 ปี เพราะระดับน้ำทะเลน่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกินระดับที่กำแพงจะสามารถรับได้

AFP-โครงการ MOSE กำแพงกั้นน้ำท่วมเมืองเวนิส อิตาลี.jpg

ในกรณีที่ความสูงของกำแพงกั้นน้ำสามารถสกัดกั้นน้ำท่วมได้จริง ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของเมืองเวนิสอยู่ดี เพราะกำแพงนี้ถูกออกแบบมาให้ยกขึ้นและลง เพื่อเป้าหมายด้านการบำบัดน้ำ แต่ถ้าในอนาคตระดับน้ำทะเลอะเดรียติกสูงกว่าระดับแผ่นดินเวนิส ก็อาจจะต้องยกกำแพงขึ้น 'ถาวร' และน้ำในทะเลสาบจะไม่มีทางระบายไปสู่ทะเล สิ่งที่ตามมาคือน้ำในทะเลสาบอาจจะเน่าเสีย เพราะสาหร่ายและแบคทีเรียจะเติบโตได้ดีในน้ำนิ่ง

การหาทางแก้หรือป้องกันน้ำท่วมเมืองเวนิส ไม่ได้เป็นภาระของรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางอิตาลีเพียงอย่างเดียว แต่องค์การยูเนสโกของสหประชาชาติอาจจะต้องเข้ามาช่วยเหลือด้วย เพราะเมืองเวนิสเป็นหนึ่งในเมืองมรดกโลกที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน 

ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมองว่า รัฐบาลอิตาลี รวมถึงรัฐบาลอื่นๆ ทั่วโลก ต้องบังคับใช้นโยบายลดต้นตอปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน และต้องรณรงค์ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของตัวเองอย่างจริงจัง ไม่ให้สร้างมลพิษและส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องทำควบคู่ไปกับการออกแบบและใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีป้องกันน้ำท่วม เพราะปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นก็คือมนุษย์

ที่มา: AFP/ Euro News/ Washington Post

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: