ไม่พบผลการค้นหา
วอยซ์ลองไล่เรียงข้อมูล การเคลื่อนตัวของคะแนนเสียงคนกรุงเทพ ผ่านผลลัพธ์การเลือกตั้ง 3 ครั้ง คือ การเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และการเลือกตั้งทั่วไป 2566

ผลการเลือกตั้ง ส.ส.เขตปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 33 เขตอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่า ก้าวไกล กวาดเก้าอี้ไปทั้งสิ้น 32 ที่นั่ง เพื่อไทยได้ 1 ที่นั่ง มีผู้มาใช้สิทธิ์ 3,312,915 คน คิดเป็น 74.26% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด

ปรากฏการณ์ ส้ม (เกือบ) ทั้งกรุงเทพฯ ครั้งนี้ สร้างความตกตะลึงแก่คอการเมืองไม่น้อย เมื่อพรรคก้าวไกลสามารถครองใจคนเมืองหลวงได้สำเร็จ กวาดพรรคฝั่งอนุรักษนิยมตกขอบเวที และเป็นที่สัญญาณสำคัญที่บ่งบอกว่า กรุงเทพฯ เปลี่ยนไปแล้ว !

การ ‘เลือก’ ที่เปลี่ยนไปของคนกรุงเทพฯ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างปุบปับฉับพลัน เพราะสัญญาณของคะแนนที่ค่อยๆ ไหลจากขั้วอนุรักษ์สู่ขั้วเสรีนิยมนี้ เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมตั้งแต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ในปี 2565  วอยซ์ลองไล่เรียงข้อมูล การเคลื่อนตัวของคะแนนเสียงคนกรุงเทพ ผ่านผลลัพธ์การเลือกตั้ง 3 ครั้ง คือ การเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และการเลือกตั้งทั่วไป 2566  

เลือกตั้ง ส.ส. 2562 

ในครั้งนั้นกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 30 เขตเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง  4,489,223 คน มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 3,255,232 คน คิดเป็น 72.51% ผลคือ พลังประชารัฐคว้า 12 ที่นั่งอนาคตใหม่และเพื่อไทย พรรคละ 9 ที่นั่ง 

การจะดูความนิยมพรรค ชัดที่สุดคือดูจากคะแนนบัญชีรายชื่อ แต่เนื่องจากการเลือกตั้ง 2562 ใช้ ‘บัตรใบเดียว’ จึงต้องใช้คะแนนดังกล่าวในการวิเคราะห์ พบว่า 

  • อันดับหนึ่ง - พรรคอนาคตใหม่ ได้ 804,217 คะแนน คิดเป็น 24.71% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
  • อันดับสอง - พรรคพลังประชารัฐ ได้ 791,821 คะแนน คิดเป็น 24.32% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
  • อันดับสาม - พรรคเพื่อไทย ได้ 604,661 คะแนน คิดเป็น 18.58% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง (ไม่ได้ส่งผู้สมัคร ส.ส. จำนวน 8 เขต)
  • อันดับสี่ - พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 474,836 คะแนน คิดเป็น 14.59% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในกรุงเทพ

จะเห็นได้ว่า พรรคขั้วอนุรักษนิยม (พลังประชารัฐ + ประชาธิปัตย์) ได้คะแนนรวมกัน  1,266,657  คะแนน คิดเป็น 38.91% ส่วนขั้วเสรีนิยม (เพื่อไทย + อนาคตใหม่) ได้คะแนนรวมกัน  1,408,878 คิดเป็น 43.28% ของคนกรุงเทพฯ 

ในทางการเมือง ตัวเลขของทั้งสองขั้วอุมดมการณ์ถือได้ว่าขับเคี่ยวสูสี แต่ใครจะไปนึกว่าในอีก 3 ปีต่อมา ได้เกิดการเคลื่อนตัวของคะแนนครั้งสำคัญ ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ฝั่งเสรีนิยมแลนสไลด์ครองชัยชนะในเมืองหลวง

เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ  2565 

สมรภูมิการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. 2565 ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 4,402,941 คน มาใช้สิทธิ์ 2,673,696 คิดเป็น 60.73% ผลคะแนนปรากฏว่า 

  1. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 1,386,215 คะแนน คิดเป็น 54.85% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด
  2. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 254,647 คะแนน คิดเป็น 9.52% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด
  3. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร  253,851 คะแนน คิดเป็น 9.49% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด
  4. สกลธี ภัททิยกุล 230,455 คะแนน คิดเป็น 8.61% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด
  5. อัศวิน ขวัญเมือง 214,692 คะแนน คิดเป็น 8.02% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด
  6. รสนา โตสิตระกูล 78,993 คะแนน คิดเป็น 2.95%  ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด

ขั้วเสรีนิยม ชัชชาติ + วิโรจน์ ได้คะแนนรวมกัน 1,640,066 คะแนน คิดเป็น 61.34% ของคนกรุงเทพที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

ขั้วอนุรักษ์นิยม สุชัชวีร์ + สกลธี + อัศวิน + รสนา ได้คะแนนรวมกัน 778,787 เสียง คิดเป็น 29.13% ของคนกรุงเทพที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

จะเห็นได้ว่าคะแนนในกรุงเทพของขั้วอนุรักษ์นิยม เรียกได้ว่าลดฮวบ โดยผลคะแนนนี้ ที่สุดแล้วสามารถสะท้อนสนามการเลือกตั้ง ส.ส. ในกรุงเทพฯ ปี 2566 ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี  

เลือกตั้ง ส.ส. 2566 

ปี 2566 กทม.ถูกแบ่งออกเป็น 33 เขต ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมี 4,461,071 คน  ผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 3,312,911 คน  คิดเป็น 74.26% 

ผลคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ พบว่า

  • ก้าวไกล ได้คะแนน  1,600,689 คะแนน คิดเป็น 48.32% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 
  • รวมไทยสร้างชาติ ได้ 630,997 คะแนน คิดเป็น 19.05% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 
  • เพื่อไทย ได้ 600,267 คะแนน คิดเป็น 18.12% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด
  • ประชาธิปัตย์  ได้ 85,968 คะแนน คิดเป็น 2.59% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด
  • พลังประชารัฐ ได้ 22,178 คะแนน คิดเป็น 0.67% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด

สิ่งที่น่าสนใจคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ไม่ได้ ส.ส.กรุงเทพแม้แต่ที่นั่งเดียว แต่ความนิยมหากนับจากคะแนนเสียงก็ใช่ว่าขี้เหร่ เพราะ รทสช. ได้คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อมาเป็นอันดับสอง

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ที่ถูกมองว่าแย่งชิงคะแนนเสียงกับพรรคก้าวไกลอย่างชัดเจนนั้น ปรากฏว่าเมื่อดูคะแนนบัญชีรายชื่อ ‘ฐานเสียง’ ของเพื่อไทยลดลงเพียงเล็กน้อย คือ ราว 4,000 คะแนน ทั้งที่ส่ง ส.ส.ครบทุกเขต ไม่เหมือนปี 2562 ที่ขาดไป 8 เขต

เมื่อนำคะแนนของฝั่งอนุรักษ์นิยม (รวมไทยสร้างชาติ + ประชาธิปัตย์+ พลังประชารัฐ) มารวมกัน จะได้ 739,143 คะแนน  ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ขั้วอนุรักษ์นิยมได้คะแนนเสียงรวม 778,787 คำถามคือ คะแนนของพวกเขาหายไปไหน

คำตอบคือ คะแนนที่หายไปได้ไหลมาที่พรรคก้าวไกล จากผลการเลือกตั้งปี 2562 ได้คะแนน 804,217 เสียง ปี 2566 พุ่งขึ้นเป็น 1,600,689 หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว 

ข้อมูลนี้บ่งบอกถึงการเคลื่อนของอุดมการณ์ทางการเมือง สะท้อนผ่านการ ‘เลือก’ ของคนกรุงเทพกว่า 3.3 ล้านเสียงในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ดังนั้น คำถามที่ว่า กรุงเทพฯ (ส่วนมาก) เปลี่ยนไปแล้วใช่หรือไม่ คำตอบจากตัวเลขคือ ‘ใช่’ 

หากถามว่า ฝั่งอนุรักษ์นิยมพ่ายแพ้ถึงจุดจบใช่หรือไม่ คำตอบจากตัวเลขคือ ‘ไม่’ เพราะอย่าลืมว่า เสียง 1 ใน 5 ของคนกรุงเทพฯ ที่เลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ คือจำนวนไม่น้อยที่ย้ำเตือนว่า พวกเขายังคงมั่นคงในอุดมการณ์อนุรักษนิยม จารีตนิยม 

ยังคงต้องรอการพิสูจน์ว่า ชัยชนะของขั้วเสรีนิยมประชาธิปไตยนี้จะหนักแน่นเพียงไหน เพราะผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันมานานแล้วว่า เสียงในเมืองหลวงเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและฉับพลันเสมอ และสิ่งที่น่าวิเคราะห์ต่อไปคือ อะไรทำให้คนกรุงเทพฯ เปลี่ยน  

info-01.jpg


อ้างอิง https://www.ect.go.th/ect_th/