ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ขอร้องให้ทางการจีนทำอะไรมากกว่าที่ทำอยู่ในตอนนี้ เพื่อกดดันกองทัพเมียนมา หลังจากเผด็จการเมียนมาเพิ่งประหารชีวิตนักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยจำนวน 4 ราย โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า “มันไม่สามารถทำธุรกิจกันตามปกติได้อีกกับเผด็จการ” หลังจากทั่วโลกออกแถลงการณ์ประณามความโหดร้ายของเผด็จการเมียนมาในครั้งนี้

เนด ไพรซ์ โฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงว่า “เป็นไปได้ว่า ไม่มีประเทศใดที่จะมีศักยภาพในการส่งอิทธิพลต่อวิถีก้าวเดินต่อไปของพม่า ได้มากกว่าสาธารณรัฐประชาชนจีน” พร้อมชี้ว่า เผด็จการเมียนมา “ยังไม่ได้พบกับระดับการกดดันทางเศรษฐกิจและการทูตเท่าที่เราอยากจะเห็น” ทั้งนี้ ไพรซ์กล่าวว่า มีการหารือระหว่างจีนกับอินเดีย ในการนำเมียoมากลับเข้าสู่หนทางประชาธิปไตยอีกครั้งแล้ว

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ผู้ที่ได้เข้าพบกับนักกิจกรรมชาวเมียน,าในกรุงเทพฯ เมื่อช่วงเดือนนี้ ออกแถลงว่า การประหารชีวิตนักกิจกรรมโดยเผด็จการเมียนมาในครั้งนี้ เป็นการขัดขวางการเคลื่อนไหวในระบอบประชาธิปไตยของเมียนมา “การพิจารณาคดีอันหลอกลวงของระบอบ และการประหารชีวิตเหล่านี้ เป็นความพยายามอย่างโจ่งแจ้ง ในการทำลายระบอบประชาธิปไตย การกระทำเหล่านี้จะไม่กดขี่ข่มเหงจิตใจของผู้กล้าชาวพม่า”

การแถลงของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ จ้าวลี่เจียน โฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศจีน งดการออกความเห็นถึงการประหารชีวิตนักกิจกรรมทางการเมือง 4 รายในเมียนมา โดยจ้าวระบุว่า ทางการจีน “ยึดถึงหลักการไม่แทรกแซงการเมืองภายในประเทศอื่นมาโดยตลอด”

การประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ 4 นักกิจกรรม เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งหมายรวมถึงการประหาร โก จิมมี่ และ เพียว เซยา ตอ นักการเมืองจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี ภายใต้ข้อกล่าวหาการก่อการร้าย นับเป็นการประหารชีวิตในเมียนมาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในรอบ 3 ทศวรรษ ส่งผลให้โลกต่างออกแถลงการณ์ประณามเผด็จการเมียนมาอย่างหนัก โดยปัจจุบันนี้ มีผู้ประท้วงเมียนมาจำนวน 76 ราย ถูกตัดสินโทษประหารชีวิต

หลังจากการประหาร สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อประณามเผด็จการเมียนมา พร้อมเรียกการสังหารดังกล่าวว่าเป็น “การกระทำอันรุนแรงที่สมควรแก่การวิจารณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นตัวอย่างเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเพิกเฉยต่อสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมของระบอบ (เผด็จการเมียนมา)”

โธมัส แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ กล่าวว่าตนรู้สึก “โกรธเคืองและเสียใจ” จากการประหารชีวิตดังกล่าว และเรียกร้องให้นานาชาติตอบโต้อย่างแข็งขัน “การสังหารผู้ประท้วงอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ การโจมตีตามอำเภอใจต่อคนทั้งหมู่บ้าน และการประหารชีวิตผู้นำฝ่ายค้าน ได้เรียกร้องมายังรัฐสมาชิกของสหประชาชาติ เพื่อการตอบโต้ในทันทีและแน่วแน่” เขากล่าว

องค์การสหประชาชาติยังได้ออกประณามการประหารชีวิต โดย มิเชล บาชาเลต ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกการประหารว่าเป็นความ “โหดร้ายและถดถอย” ในขณะที่โฆษกของ อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่าเลขาธิการสหประชาชาติต่อต้านโทษประหาร “ในทุกสถานการณ์” และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษที่ถูกคุมขังโดยพลการทันที รวมถึง วิน มิน ประธานาธิบดีเมียนมา และ อองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐเมียนมา ด้วย


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/jul/26/myanmar-executions-us-presses-china-to-rein-in-junta-saying-it-cannot-be-business-as-usual?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR22eqc4jmfqKCdpEYU4aNbtxjYcJozTwjDrVu0gBH_ITamWvAXbWEBByzk