ไม่พบผลการค้นหา
อาเซียนเสียงแตกทั้งเรื่องยูเครนและเมียนมา ชี้ว่า "กำลังอยู่ในสภาพที่แย่มาก"

ผู้นำโลกจากนานาประเทศรวมตัวกันที่กรุงพนมเปญของกัมพูชาเมื่อ 11 พ.ย. เปิดฉากการประชุมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์นี้ไปจนถึงสัปดาห์หน้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงข้อพิพาทระหว่างชาติมหาอำนาจที่คาดว่าจะปกคลุมประเด็นหลักแทบจะทั้งหมดของการประชุมเพื่อ "สร้างความร่วมมือ"

CNN รายงานว่าหลังการรวมตัวของผู้นำโลกจากอินโดแปซฟิกและอาเซียนในกรุงพนมเปญ การประชุมถัดไปคือการรวมตัวของกลุ่ม G20 ที่บาหลีของอินโดนีเซีย ก่อนปิดท้ายที่การประชุม APEC ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งประเด็นที่จะถูกพูดถึงอย่างแน่นอนคือเรื่องสงครามรัสเซียในยูเครน วิกฤตเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ไปจนถึงวิกฤตโลกร้อน

การรวมตัวของผู้นำโลกในครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางความท้าทายของภูมิศาสตร์ทางการเมืองที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายทศวรรษ เมื่อวิกฤตทั้งปวงถูกยกระดับอีกขั้นจากสภาพเศรษฐกิจหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ส่งผลให้ความสัมพันธ์ รัสเซีย-ตะวันตก กำลังเปลี่ยนไปตลอดกาล ขณะที่ความสัมพันธ์ จีน-สหรัฐฯ ยังคงคุกรุ่นและดุเดือด ส่งผลให้ชาติที่เหลือในโลกต้อง 'เลือกข้าง' อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียจะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า โจ ไบเดน และ สีจิ้นผิง ผู้นำสหรัฐฯ และจีนจะพบหน้ากันเป็นครั้งแรกหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของไบเดนอย่างแน่นอนในวันที่ 14 พ.ย. และจะมีการเจรจาแบบ 'ทวิภาคี' ร่วมกัน ทำให้ทั่วโลกจับตาว่าสถานการณ์จะดีขึ้นได้หรือไม่


ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า โลกกำลังแบ่งขั้วแบ่งข้างชัดเจน

แม้สงครามรัสเซียในยูเครนจะเป็นประเด็นใหญ่ของโลก แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ในอาเซียนเองก็ยังคงดุเดือดอยู่เมื่อ 'รัฐประหารเมียนมา' ยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชนต่อเนื่องมาเกือบ 2 ปีเต็ม ขณะที่ชาติสมาชิกอาเซียนกลับมีความแตกต่างในแนวทางการจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจน

ด้านลียางฮี อดีตผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา และผู้ร่วมก่อตั้งสภาที่ปรึกษาพิเศษแห่งเมียนมา ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสหประชาชาติ ผ่าน The Washington Post ต่อวิกฤตในเมียนมา ที่แตกต่างไปจากการตอบสนองที่รวดเร็วต่อรัสเซีย ภายหลังจากการรุกรานยูเครน

ลียางฮีวิจารณ์ว่า สหประชาชาติล้มเหลวต่อการรับมือวิกฤตด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ตั้งแต่ความสูญเสียของประชาชนชาวเมียนมา ภายหลังจากการรัฐประหาร ตลอดจนปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่

ขณะที่ ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และความมั่นคงระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยกล่าวกับ CNN ว่า "โดยปกติแล้วการประชุมระดับโลกทั้ง 3 ควรจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก" 

"แต่ตอนนี้อาเซียนมีความเห็นที่แตกต่างมากต่อประเด็นการรุกรานของรัสเซีย วิกฤตในเมียนมา ความกระหายสงครามของจีนในทะเลจีนใต้ และประเด็นอื่นๆ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าตอนนี้อาเซียนกำลังอยู่ในสถานะที่แย่มาก"