ไม่พบผลการค้นหา
วิกฤตโรฮิงญาทำให้องค์กรนานาชาติต้องโยกย้ายความช่วยเหลือจากค่ายผู้ลี้ภัยอื่นไปช่วยแก้ไขสถานการณ์เร่งด่วนที่ค็อกซ์บาซาร์ก่อน ส่งผลให้ค่ายผู้พักพิงที่รัฐฉานขาดแคลนอาหาร

ในขณะที่ข่าวการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา ถูกนำเสนอให้คนทั่วโลกได้รับรู้ องค์กรนานาชาติต้องส่งความช่วยเหลือไปให้ชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยไปยังค่ายผู้ ลี้ภัยที่ค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศ ซึ่งเป็นวิกฤตที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน แต่การโยกย้ายความช่วยเหลือไปที่นั่น ก็ทำให้ค่ายพลัดถิ่นเดิมตามแนวชายแดนไทยและรัฐฉาน ทางตะวันออกของเมียนมา ประสบปัญญาขาดแคลนทรัพยากรเช่นกัน โดยเฉพาะอาหาร

ช่วงปลายทศวรรษ 1990 กองทัพเมียนมาปราบปรามหมู่บ้านในรัฐฉานมากกว่า 1,400 หมู่บ้าน มีคนถูกทรมาน ข่มขืนและสังหารหลายร้อยคน ส่วนที่ดินก็ถูกกองทัพยึดไป คล้ายกับที่กองทัพเมียนมากำลังทำกับชาวโรฮิงญาในขณะนี้ และทำให้มีคนต้องลี้ภัยออกจากบ้านเกิดไปกว่า 300,000 คน หลายคนลี้ภัยเข้ามาอยู่ที่ค่ายพักพิงในฝั่งไทย แต่ก็ไม่เคยได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR

ขณะที่ผู้พลัดถิ่นมากกว่า 6,200 คนเลือกที่จะอยู่ในประเทศบ้านเกิด แต่ตั้งค่ายพักพิง 6 แห่งตามแนวชายแดนรัฐฉานฝั่งที่ติดกับไทย และจนถึงขณะนี้ ชาวไทใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในรัฐฉานก็ยังไม่สามารถกลับบ้านตัวเองได้

TK-0800952-ThaiBorder.JPG

ค่ายผู้พลัดถิ่นตามแนวชายแดนเป็นพื้นที่ห่างไกล อยู่บนภูเขาสูง ทำให้ไม่สามารถปลูกข้าวได้มากพอสำหรับประชากรที่มี ที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยเหล่านี้จึงต้องพึ่งพาการบริจาคข้าวและอาหารอื่นๆ จากองค์กรนานาชาติ แต่เมื่อกองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกันโจมตีตำรวจชายแดน จนทำให้กองทัพเมียนมายกระดับความรุนแรงที่กระทำต่อชาวโรฮิงญา จนสหประชาชาติออกมาประกาศว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความช่วยเหลือด้านอาหารและสาธารณสุขถูกโยกไปให้ชาวโรฮิงญา ส่งผลให้ผู้พลัดถิ่นในรัฐฉานกว่า 6,000 คนขาดแคลนอาหาร

สำนักข่าว เดอะ เมียนมา ไทม์สรายงานว่า ความช่วยเหลือที่หายไป ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการศึกษาของเด็กในค่ายพักพิงในรัฐฉาน โดยมีเด็กอย่างน้อย 30 คนจากค่ายแต่ละแห่ง หรือมากกว่า 180 คนจากเด็กทั้งหมดประมาณ 1,000 คน ต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยพ่อแม่ทำงานเลี้ยงชีพ

ด้านองค์กรอย่างเช่น คณะกรรมการร่วมชายแดน หรือ The Border Consortium ก็หยุดให้ความช่วยเหลือด้านอาหารให้กับค่ายผู้พลัดถิ่น แต่มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้พลัดถิ่นกลับบ้านหรือตั้งถิ่นฐานใหม่โดยสมัครใจ โดยรัฐบาลเมียนมาก็ระบุว่า พร้อมจะให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นกับผู้พลัดถิ่น ขอเพียงให้ค่ายพักพิงแจ้งความต้องการไปที่รัฐบาลโดยตรง แต่ผู้พลัดถิ่นเหล่านี้ก็ยังรู้สึกกลัวที่จะกลับบ้าน เนื่องจากมองว่า ที่ดินของพวกเขาถูกกองทัพเมียนมา นักรบรับจ้างของกองทัพ หรือกองทัพสหรัฐว้า ยึดไปหมดแล้ว และแม้จะดำเนินการเจรจาสันติภาพกันอยู่ กองทัพเมียนมาก็ยังคงปฏิบัติการกำจัดกลุ่มชาติพันธุ์ออกจากพื้นที่อย่างเป็นระบบ