ไม่พบผลการค้นหา
ความกดดันกำลังถาโถมใส่วุฒิสภาสหรัฐฯ ให้มีการรับรองกฎหมายความปลอดภัยในการใช้อาวุธปืน สืบเนื่องมาจากความตื่นตัวภายหลังเหตุการณ์กราดยิงสังหารหมู่ที่ ยูแวลดีของมลรัฐเท็กซัส และบัฟฟาโลของมลรัฐนิวยอร์ก เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกันยังคงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายครั้งใหญ่ นอกจากการปฏิรูปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (8 มิ.ย.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ได้ผ่านมาตรการควบคุมอาวุธปืนหลายประการด้วยกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อการป้องกันเหตุกราดยิง อย่างไรก็ดี กลับมีแรงต่อต้านจากพรรครีพับลิกันที่เห็นได้ชัดยิ่งขึ้น เนื่องจากมีผู้แทนรีพับลิกันเพียงแค่ 5 คน จากทั้งหมด 208 คนที่โหวตเห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว

ความโกรธเคืองของญาติผู้เสียชีวิต และผู้สนับสนุนให้มีการควบคุมการใช้อาวุธปืน เริ่มกดดันและถาโถมไปยังวุฒิสภาที่มีสัดส่วนสมาชิกของแต่ละพรรคอยู่ที่ 50 ต่อ 50 ซึ่งต้องอาศัยเสียงจากสมาชิกวุฒิสภา 60 เสียง เพื่อผ่านกฎหมายฉบับดังกล่าวบนสภาสูง เงื่อนไขดังกล่าวจึงแทบทำให้วุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตไม่สามารถผ่านมาตรการใด ๆ ได้ เว้นเสียแต่จะสามารถโน้มน้าวผู้นำพรรครีพับลิกันให้เข้าร่วมการลงมติไปในทางเดียวกันกับตนได้ 

กฎหมายยังอยู่ระหว่างการดำเนินการถกเถียงจากทั้งสองพรรคในรัฐสภา แต่ผลลัพธ์ดูเหมือนจะถูกกำหนดโดยพรรครีพับลิกัน ซึ่งปฏิเสธที่จะพิจารณาข้อกฎหมายใดๆ ที่ขัดแย้งต่ออุดมการณ์ของพรรค ทั้งนี้ ข้อเสนอที่เป็นไปได้มากที่สุด คือแผนการเพิ่มทรัพยากรด้านการตอบรับกับปัญหาสุขภาพจิต บทบัญญัติด้านความปลอดภัยสถานศึกษา และเงินทุนเพื่อส่งเสริมให้มลรัฐต่างๆ ออก “กฎหมายธงแดง” เพื่อปลดอาวุธปืนจากบุคคลที่มีแนวโน้มทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น

เมื่อวานนี้ (9 มิ.ย.) กลุ่มผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ กว่า 220 ราย ส่งจดหมายร่วมกันไปยังวุฒิสภา โดยมีเนื้อความแสดงความกังวลถึง “วิกฤติสาธารณสุข” ของความรุนแรงจากอาวุธปืน โดยเนื้อหาในจดหมายระบุว่า “พวกเราขอร้องมายังวุฒิสภาให้มีการดำเนินการโดยทันที… ก้าวข้ามการแบ่งพรรคแบ่งพวก และ ทำงานร่วมกัน เพื่อผ่านกฎหมายอันกล้าหาญนี้ ในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนในประเทศของเรา” 

ยังมีข้อเรียกร้องจากญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งล่าสุด อาทิ คิมเบอร์ลี รูบิโอ แม่ของ เลกซี เด็กหญิงอายุ 10 ขวบ ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์กราดยิงที่โรงเรียนประถม ยูแวลดี มลรัฐเท็กซัส ได้กล่าวกับคณะกรรมาธิการเมื่อช่วงสัปดาห์นี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสั่งแบนปืนไรเฟิลจู่โจมประเภทเดียวกันกับที่ยิงลูกสาวของเธอเสียชีวิต  

“เราเข้าใจในเหตุผลบางอย่างของคนบางกลุ่ม คนรวยหรือคนที่ให้เงินทุนกับการหาเสียงทางการเมืองว่าปืนสำคัญกว่าเด็กๆ ดังนั้นในเวลานี้ เราถามหาความคืบหน้า” รูบิโอกล่าว 

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้บันทึกประวัติเยาวชนควบคู่ไปกับการตรวจสอบประวัติการซื้อขายอาวุธปืนของรัฐบาลกลาง เพื่อไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 21 ปี สามารถครอบครองอาวุธปืนได้ อย่างไรก็ตาม วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันไม่ยอมให้มีการกำหนดอายุขั้นต่ำที่ 21 ปีขึ้นไป สำหรับการซื้อปืนไรเฟิล AR-15 ถึงแม้ว่าผู้ก่อเหตุในยูแวลดีและบัฟฟาโลจะมีอายุเพียงแค่ 18 ปีก็ตาม

เหตุกราดยิงยังคงเกิดขึ้นในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องและเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าเหตุการณ์ซึ่งเป็นที่สนใจอย่างที่เกิดขึ้นในยูแวลดีและบัฟฟาโล ทั้งนี้ จากข้อมูลของ The Gun Violence Archive ซึ่งติดตามเหตุการณ์กราดยิงที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป เปิดเผยว่าในปีนี้ สหรัฐฯ มีเหตุการณ์กราดยิงเกิดขึ้นแล้วถึง 251 ครั้ง


ที่มา: 

https://www.theguardian.com/us-news/2022/jun/09/us-senate-gun-safety-pressure-republicans?fbclid=IwAR2xVvIFTR-eJWYFdb6kglfJCBQ79u65jt_mBZwXiqRy9o3DJQFLxE9bZ_o