ไม่พบผลการค้นหา
กมธ.ศึกษา CPTPP ขอขยายเวลาศึกษาต่ออีก 60 วัน เหตุใกล้ครบกำหนดเดิม 10 ก.ค. นี้ หลังตั้งอนุฯ 3 คณะ 'เศรษฐกิจ-เกษตร-สาธารณสุข' พิจารณาลงลึกรายละเอียด ฟากรัฐบาลปิดปากเงียบจะอนุมัติเข้าร่วมแสดงเจตจำนงเจรจาหรือไม่

นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ในฐานะประธานการประชุมพิจารณาศึกษาสรุปผลการวิจัย ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP เปิดเผยว่า ที่ประชุม กมธ. มีมติเห็นชอบขอขยายระยะเวลาในการศึกษาการเข้าร่วมสมาชิก CPTPP ของประเทศไทยออกไปอีก 60 วัน หลัง จากที่ทางสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเห็นชอบให้มีการตั้งกรรมาธิการ เพื่อศึกษาในประเด็นดังกล่าวโดยใช้กรอบระยะเวลา 30 วัน ซึ่งใกล้จะครบกำหนดในวันที่ 10 ก.ค. 2563 นี้ โดยตนจะทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฏรและคาดว่าจะบรรจุในวาระการพิจารณาภายใน 10 ก.ค.2563

"กมธ.การตั้งอนุกรรมาธิการ 3 คณะเพื่อศึกษาในรายละเอียดและเราก็ลงลึกในแต่ละประเด็น ยิ่งศึกษายิ่งเห็นประเด็นความหลายหลายของความกังวลและมีรายละเอียดมาก อย่างไรก็ตาม การแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเจรจา CPTPP หรือไม่เป็นอำนาจของรัฐบาล แต่การศึกษาของเราก็เพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปตัดสินใจ และเข้าใจว่า รัฐบาลก็อยากจะฟังว่าสภาฯ ว่าอย่างไร" นายวีระกร กล่าว 

ทั้งนี้ กมธ.ได้ตั้งอนุกรรมาธิการ 3 คณะฯ ขึ้นมาเพื่อศึกษาในประเด็นหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ การเกษตร และสาธารณสุข ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของพันธุ์พืช ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากและประเทศไทยก็เป็นประเทศเกษตรกรรม ดังนั้นต้องศึกษาให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด และจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

"หากสภาฯ เห็นชอบขยายเวลาออกไป คณะอนุกรรมาธิการทั้ง 3 คณะ ก็จะต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบ ประโยชน์ในรายละเอียดมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและภายหลังครบกำหนดขยายเวลา 60 วัน ทางกรรมาธิการฯ ก็จะเสนอผลของข้อสังเกตการณ์ทั้งหมดต่อสภาฯ พิจารณา หากไม่มีข้อสงสัยใดก็จะนำข้อมูลที่ได้เสนอต่อรัฐบาลต่อไป หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ" นายวีระกร กล่าว

ด้านเพจเฟซบุ๊กบัญชี 'FTA Watch' ของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟที ว็อทช์ ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกัน มีใจความว่า ขอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รักษาคำพูดที่ว่า จะยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งและประชาชนเป็นสำคัญ ด้วยการรอฟังผลการพิจารณาของทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบ CPTPP ให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะตัดสินใจไปเข้าร่วมขอเจรจาเป็นภาคี #รัฐบาลต้องรอ

เนื่องจากแนวคิดการตั้งคณะกรรมาธิการฯ นี้ เกิดขึ้นจากการประชุมนอกรอบที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2563 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เน้นย้ำว่า เวลานี้เรายังอยู่ในขั้นตอนว่าจะไปเจรจาหรือไม่ สิ่งสำคัญคือต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม จะได้เข้าใจข้อมูลทุกด้านและหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศที่สุด โดยจะมีการประสานไปยังฝ่ายนิติบัญญัติให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย เปิดกว้างให้ผู้แทนประชาชนได้แสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่ ต่อมา เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้เน้นย้ำใน ครม.ว่า "รัฐบาลยืนยันว่าจะยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งและประชาชนเป็นสำคัญ"

ดังนั้น เมื่อคณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นศึกษายังไม่แล้วเสร็จ มีหลายประเด็นที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีและอาจจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประชาชน และยุทธศาสตร์ของประเทศที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจึงมีความจำเป็นที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรอการศึกษาอย่างรอบคอบและรอบด้าน จากกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการชุดต่างๆ โดยไม่ควรเร่งเพื่อขอเข้าร่วมการเจรจา

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาอดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 มิ.ย. ไม่ได้มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ หรือการหารือนอกรอบแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :