ไม่พบผลการค้นหา
'ราเมศ' โต้ 'นรวิชญ์' ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ชี้ความคิดของคนสู้คดีกับคนหนีคดีต่างกันแน่นอน

วันที่ 27 ต.ค. 2565 ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณี นรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก ทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมากล่าวหา ชวน หลีกภัย กรณีถูกฟ้องคดีข้อหาหมิ่นประมาทว่า หลักการเรื่องนี้ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน เป็นเรื่องการทำหน้าที่ของตำรวจที่ต้องให้เกียรติในการทำตามหน้าที่ไม่ขอก้าวล่วง คดีนี้หลังจากที่มีการแจ้งความตำรวจได้เรียกสอบพยานหลายคน ทั้งผู้ที่ไปฟัง ชวน หลีกภัย บรรยายในวันเกิดเหตุ รวมถึงพยานบุคคลคนอื่นๆ ด้วย

และเรื่องนี้ต้องย้ำว่า นักกฎหมายจะทราบดีว่าเมื่อมีใครไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับบุคคลใด ตำรวจมีอำนาจในการสอบสวนตรวจหลักฐาน หาพยานหลักฐานเบื้องต้นได้ว่าคดีดังกล่าวจะมีมูลความผิดหรือไม่เพียงใด ก่อนที่จะมีการแจ้งข้อหา คดีนี้ก็เช่นกันที่มีการสอบพยานหลายคนในชั้นสอบสวนก่อนดำเนินการต่อ 

ราเมศ กล่าวต่อว่า ตนได้กล่าวไว้ชัดว่าที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนมีหมายเพื่อนัดวันเวลากัน แต่ปรากฎว่ามีเวลาไม่ตรงกันจึงมีการเลื่อนเวลานัดพบและเป็นเรื่องปกติในทางคดี ซึ่งพนักงานสอบสวนก็แจ้งว่าจะมีการนัดหมายกันใหม่ แต่ก็ไม่ได้มีการนัดหมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งคดีได้เงียบหายไป ทุกฝ่ายก็คิดว่ายุติไปแล้ว ไม่ได้มีเจตนาจะหลบหนีหรือประวิงคดีแต่อย่างใด เพราะถ้าจะประวิงหรือคิดหลบหนีเหตุใดจึงเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการ และที่สำคัญ ชวนไม่เคยคิดหนีคดีเหมือน ทักษิณ ชินวัตร ส่วนเรื่องที่ถามว่าจะสู้คดีจริงหรือไม่นั้น อย่าตั้งคำถามประเด็นนี้เลย เพราะต้องเจอกันที่ศาลอีกหลายครั้ง ให้รู้อย่างเดียวว่าไม่คิดหนีคดีแน่นอน

ราเมศ ยังกล่าวถึงเรื่องหมายเรียกล่าสุดว่า ได้มีการส่งหมายไปที่บ้านจังหวัดตรัง คือหมายเรียกฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคม 2565 ให้ ชวน หลีกภัย ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อหาในวันที่ 25 ตุลาคม 2565 เวลา 10.00 น.โดยหมายเรียกฉบับนี้ถึงบ้าน ชวนที่จังหวัดตรัง ในวันที่ 26 ตุลาคม 2565 เวลา 10.35 น. ซึ่งหมายดังกล่าวก็ได้ออกมาก่อนคดีหมดอายุความในวันที่ 28 ตุลาคม 2565 และนายชวน หลีกภัย ก็ได้เดินทางเข้าพบพนักงานอัยการเพื่อส่งฟ้องคดีเนื่องจากตนทราบว่าคดีนี้สำนวนได้อยู่ที่สำนักงานอัยการแล้ว

ราเมศ กล่าวในตอนท้ายว่า การที่กล่าวหา ชวนว่า ใช้สิทธิอะไรสั่งตำรวจและอัยการนั้น เรื่องนี้ทางตำรวจและอัยการทราบดีถึงกระบวนการ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดได้ชี้แจงรายละเอียดครบถ้วนแล้ว ชวนไม่ได้มีอำนาจไปสั่งตำรวจและอัยการแน่นอน ทุกอย่างเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กร 

“เวลาของอายุความที่เหลือ 3 วัน ถ้าคิดจะหนีคดีเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีคงหนีไปแล้ว แต่เรื่องนี้สาระสำคัญสุดท้ายคือเข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดี ไม่เคยคิดหนีคดีแต่อย่างใด ที่ ชวน หลีกภัย ได้ให้สัมภาษณ์ เป็นเรื่องการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่พูดเพื่อเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ชวนเป็นผู้ที่ถูกฟ้อง การชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นเรื่องปกติคดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลยุติธรรมก็ต้องให้เกียรติอำนาจตุลาการที่ไม่ควรมาพูด” ราเมศ กล่าว