ไม่พบผลการค้นหา
เกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รี่เชียงใหม่ โอดสภาพอากาศแปรปรวน บวกกับเศรษฐกิจไม่ดี และสตรอว์เบอร์รี่ออกน้อย แถมยังราคาถูกกว่าทุกปี เตรียมจัดงานสตรอว์เบอร์รี่ของดีอำเภอสะเมิง ส่งเสริมการท่องเที่ยวและช่วยเหลือเกษตรกร

เกษตรกรผู้ปลูกสตรอเบอรี่ภายในสวนดอยแก้ว ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เร่งเก็บสตรอว์เบอรี่ ออกจำหน่ายหลังสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้สตรอว์เบอรี่บางลูกเริ่มช้ำและเน่า ซึ่งปีนี้สตรอว์เบอรี่ออกน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา ไม่เพียงพอต่อการจำหน่ายภายในประเทศ แต่กลับมีราคาถูกกว่าทุกปี ทำให้ทางเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับผู้ปลูกสตรอว์เบอรี่ในอำเภอสะเมิง เตรียมจัดงาน "งานสตรอว์เบอร์รี่และของดีอำเภอสะเมิง ครั้งที่ 18 ประจำปี 2562" ขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายสตอว์เบอรี่โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางและเป็นส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ด้วย

นายวิทยา นาระต๊ะ ประธานสภาเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สภาพอากาศที่แปรปรวนในปีนี้ ทำให้ผลผลิตสตรอว์เบอรี่ออกดอกออกผลน้อย ทำให้ผลผลิตมีน้อย คาดว่าจะทำให้เกษตรกรย่ำแย่ ถึงแม้จะราคาเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 180 บาท แต่ผู้บริโภคก็ซื้อน้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะมาเที่ยวกันมากกว่า การบริโภค ทำให้เกษตรกรต้องหันมาแปรรูปเป็นสตรอว์เบอร์รี่อบแห้ง ไวน์ แยม รวมไป ถึงน้ำสตอว์เบอร์รี่เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า

ด้านชัยณรงค์ นันตาสาย นายอำเภอสะเมิง บอกกว่า งานสตอว์เบอร์รี่ และของดีอำเภอสะเมิง ซึ่งเป็นงานประจำปีระดับอำเภอและจังหวัดที่สืบต่อกันมาถึง 18 ครั้ง ซึ่งในช่วงหน้าหนาว นักท่องเที่ยวจะเดินทางไปรับบรรยากาศรับลมหนาวสายหมอกสวยๆ หรือชื่นชมกับทุ่งดอกไม้หลากหลายชนิด อีกหนึ่งกิจกรรมที่พลาดไม่ได้เลยก็คือ การเที่ยวชมไร่สตอว์เบอร์รี่สดๆ นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสบรรยากาศหนาวเย็น ยังได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนทำไร่สตรอว์เบอร์รี่ด้วยตัวเองอีกด้วย ทำให้เรารู้เลยว่ากว่าจะออกมาเป็นผลสตรอว์เบอร์รี่ลูกหนึ่ง ต้องผ่านการการดูแลมากน้อยแค่ไหน ในงานยิ่งใหญ่ไม่แพ้ปีที่ผ่าน นักท่องเที่ยวมางานครั้งนี้ที่จะเปิดงานวันที่ 9 ก.พ. แต่งานจะเริ่มตั้งแต่ 6 ก.พ. จะมีความสุขสุดประทับใจท่ามกลางบรรยากาศเดือนแห่งความรักด้วย

เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมผลิตภัณฑ์และแหล่งท่องเที่ยว การเสริมสร้างยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกษตรกรได้มีโอกาสเผยแพร่ผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และของดีอำเภอสะเมิงให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้เป็นที่รู้กันว่า อ.สะเมิงมีของดีขึ้นชื่อคือสตรอว์เบอร์รี่ และยังมีด้านอื่นๆ อีกจำนวนมาก ถือเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่งที่ยังสามารถพัฒนาต่อยอดได้อีกจำนวนมาก และงานแต่ละปีก็สร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวพร้อมสร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนเป็นจำนวนมากด้วย ในงานครั้งนี้ก็คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาพรวมไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

ด้านนายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เชียงใหม่เป็นแหล่งปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ที่สำคัญของประเทศโดยมีพื้นที่การผลิตทั้งสิ้น 6,670 ไร่ ปลูกมากที่สุดที่อำเภอสะเมิงมีกว่า 3,900 ไร่ โดยเฉพาะที่ตำบลบ่อแก้วมีกว่า 2,800 ไร่ เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศ ความสูงที่เหมาะกับการติดดอก พัฒนาผลของสตรอว์เบอร์รี่ ซึ่งเกษตรกรจะเริ่มทำการเพาะปลูกปลายเดือนสิงหาคม เก็บผลผลิตตั้งแต่เดือน พ.ย. - เม.ย. ซึ่งตั้งแต่เริ่มปลูกจนเก็บเกี่ยวใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน ส่วนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จะเป็นเดือนที่สตรอเบอร์รี่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก และทางอำเภอสะเมิงมีการจัดงานวันสตรอเบอร์รี่เป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้เป็นครั้งที่ 18 จะตรงกับวันที่ 6-10 ก.พ. นี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการการผลิต ที่ปลอดภัย ปลอดสารเคมี หรือแบบอินทรีย์ การคัดพันธุ์ดี อีกทั้งยังเป็นกระจายผลผลิตสตรอว์เบอรี่ในช่วงที่ออกสู่ตลาดมาก รวมถึงเป็นการเพิ่มมูลค่าจากการท่องเที่ยววิถีเกษตร ซึ่งปีหนึ่งสามารถสร้างมูลค่าหลายร้อยล้านบาททั้งนี้พื้นที่ ต.บ่อแก้ว แห่งนี้ 

สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเสริมสตรอว์เบอร์รี่แปลงใหญ่ จำนวน 50 ราย พื้นที่กว่า 350 ไร่ ผ่านศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โดยมีนายวิทยา นาระต๊ะ และนายธนิน ยี่โท เกษตรกรต้นแบบ ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสรอเบอร์รี่ปลอดภัย ตั้งแต่การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ใช้ไหลปลอดโรค การใช้สารชีวภัณฑ์ ปุ๋ยหมักรวมถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค่าในรูปแบบแยม, อบแห้ง, น้ำ, ไวน์ ผ่านการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ไม่เพียงเท่านี้ยังมีหน่วยงานเอกชนร่วมนำนวัตกรรมในการผลิตโดยใช้กระดาษแทนใบตองตึง คลุมแปลงเพื่อต่อยอดนวัตกรรมสู่เกษตรกรไม่เพียงเท่านี้ยังได้รับงบประมาณจังหวัดเพื่อพัฒนาการผลิตสตรอว์เบอร์รี่ในระบบปิดเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตและสามารถแข่งขันในระบบธุรกิจลดการใช้สารเคมีเกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป