ไม่พบผลการค้นหา
มติ ครม. เมื่อ 10 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา มีตลกร้ายใหญ่หลวงหนึ่งเรื่องที่กระฉ่อนในโลกออนไลน์ นั่นคือ “ครม. ผัวเมีย”

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง "นางสาวธนพร ศรีวิราช” เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป

“ธนพร”​ คือ ภรรยาที่อยู่กินและตัวติดกับ “ธรรมนัส” รัฐมนตรีสีเทาแห่งกระทรวงเกษตร มือเดินเกมการเมืองคนสำคัญของ “บิ๊กป้อม” สาธารณชนจดจำรัฐมนตรีรายนี้ในฐานะ “พ่อค้าแป้ง” และ “มือแจกกล้วย” ประจำ ครม. ชุดนี้ ที่สามารถเคลียร์ทาง จัดการงานการเมืองสนองตอบต่อผู้มีอำนาจได้เป็นอย่างดี 

ความสำเร็จของพรรคพลังประชารัฐในการปักธงภาคเหนือ ไปจนถึงการประสานผลประโยชน์ภายในพรรคพลังประชารัฐ จนสามารถยก “บิ๊กป้อม” เป็น “หัวหน้าพรรค” ได้สำเร็จ ถูกยกให้เป็นผลงานของรัฐมนตรีสีเทารายนี้ทั้งสิ้น

การตัดสินใจ ยก “ภรรยา” เป็น “ข้าราชการการเมือง” มีผลทันทีทำให้สีเทาที่เปื้อนหนักอยู่แล้วไล่เฉดไปหาสีดำอย่างชัดเจน ข้อครหาในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในทำนอง “ครม.ผัวเมีย” จะเป็นข้อวิจารณ์สำคัญติดตัว “ธรรมนัส” และ “ครม.” ชุดนี้ไปอีกนาน ได้แต่ตั้งความหวังไว้ว่า ใครที่เคยวิจารณ์ “สภาผัวเมีย” ในยุคทักษิณ จะออกหน้าวิจารณ์เหตุการณ์หนนี้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน 

“โพลเอาใจนาย” 

ตลกร้ายใหญ่หลวง ยังไม่จบแค่กรณีเทามนัส แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีหนนี้ ยังมีตลกร้ายใหญ่หลวงอีก 2 เรื่อง

หนึ่งคือ ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2563 (ครบ 1 ปี) โดยคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2563 (ครบ 1 ปี) โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ จำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 1 – 15 สิงหาคม 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ความพึงพอใจในภาพรวมต่อการดำเนินงานของรัฐบาล พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด (ร้อยละ 33.4) และในระดับปานกลาง (ร้อยละ 48.0) 

ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล พบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 29.8 เชื่อมั่นปานกลาง ร้อยละ 48.7 เชื่อมั่นน้อยและน้อยที่สุด ร้อยละ 18.4 และไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 3.1

สองคือ ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2563 

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2563 โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในการสอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ในชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายในการแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วประเทศจำนวน 46,000 คน ระหว่างวันที่ 1 – 31 กรกฎาคม 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

การพบเห็นปัญหายาเสพติด ประชาชนร้อยละ 51.6 ไม่พบเห็นและไม่ทราบว่าในชุมชน/หมู่บ้านมีปัญหายาเสพติด ร้อยละ 42.5 ไม่พบเห็นแต่ทราบว่าในชุมชน/หมู่บ้านมีปัญหายาเสพติด และร้อยละ 5.9 พบเห็นปัญหายาเสพติดในชุมชน/หมู่บ้านด้วยตนเอง           

ความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานโดยรวมของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ประชาชนร้อยละ 55.6 พึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 38.0 พึงพอใจปานกลาง ร้อยละ 6.0 พึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด และร้อยละ 0.4 ไม่พึงพอใจ คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ย 6.55 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

ความเชื่อมั่นต่อนโยบายในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ประชาชนร้อยละ 49.5 เชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 41.5 เชื่อมั่นปานกลาง ร้อยละ 8.1เชื่อมั่นน้อย-น้อยที่สุด และร้อยละ 0.9 ไม่เชื่อมั่น คะแนนความเชื่อมั่นเฉลี่ย 6.32 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

เมื่ออ่านผลสำรวจนี้ ต้องถามต่อไปอีกหลายคำถามว่า สำรวจประชาชนกลุ่มไหน ? พื้นที่ใด ? ครอบคลุมประชาชนที่เห็นต่างไปจากรัฐบาลหรือไม่ ? สำนักงานสถิติแห่งชาติ มีกระบวนการจัดเก็บ และประมวลผลสำรวจอย่างไร ? หากคลี่คลายปมเหล่านี้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ก็เป็นได้เพียง “โพลเอาใจนาย” พอให้นายกรัฐมนตรี และครม.​ได้ยิ้มแช่มชื้นยามรับฟังเท่านั้น 

แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะหากรัฐบาลได้รับรู้ถึงผลการสำรวจที่แท้จริงแล้ว ย่อมพยายามสนองตอบต่อความทุกข์ของประชาชน และความเสื่อมถอยของเศรษฐกิจ อย่างจริงจัง และหนักหนายิ่งกว่านี้ 

ก็เพราะมี “โพลเอาใจนาย” และ “ลูกน้องเอาใจนาย” เลยทำให้วิธีการทำงานของรัฐบาลสวนทางกับความทุกข์ของพี่น้องประชาชน และสภาพจริงในแต่ละพื้นที่ 

“หลักสูตรยุทธศาสตร์ชาติ”

อีกหนึ่งตลกร้ายทิ้งท้ายสัปดาห์นี้คือในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา 

หนึ่งในผลการประชุม คือ ให้มีการขยายผลการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Massive Open Online Course: MOOCs) วิชายุทธศาสตร์ชาติสำหรับกลุ่มเป้าหมายนิสิต นักเรียน นักศึกษา 

แบบนี้ยิ่งช่วยทำให้ข้อเสนอแก้ไข รธน. ของ Ilaw กระหึ่มยิ่งขึ้น เพราะหนึ่งในข้อเสนอนั้น คือ “ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และกลไกอำนาจ คสช. ตาม ม.65 และ ม.275” ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ “ยุทธศาสตร์” จำเป็นต้องเลื่อนไหล สอดรับกับสภาพจริงและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศ

ไม่ใช่ถูกคิดถูกเขียนถูกวางแผนล่วงหน้ายาวนาน 2 ทศวรรษ​ ด้วยฝีมือของเครือข่ายเผด็จการทหาร แล้วไปบีบรัฐบาลต่างๆ ในอนาคตให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้แล้ว

สองอุตสาหกรรมที่ต้องหยุดได้แล้วในวันนี้ เพราะเป็นการเวียนคนดีหน้าซ้ำเข้ามารับเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ต่างๆ คือ อุตสาหกรรมการปฏิรูปประเทศ และอุตสาหกรรมการเขียนยุทธศาสตร์ชาติ!! 

วยาส
24Article
0Video
63Blog