เมอรีล สตรีป, อันโตนิโอ บันเดรัส และแกรี่ โอลด์แมน นักแสดงชื่อดังระดับโลก พร้อมด้วย 'สตีเฟน โซเดอร์เบิร์ก' ผู้กำกับภาพยนตร์รางวัลออสการ์ สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมในปี 2543 เดินสายร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่อิตาลีและแคนาดา ช่วงปลายเดือน ส.ค. และวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยทั้งหมดมีผลงานใหม่ร่วมกัน คือ The Laundromat
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักวิจารณ์และคอหนังที่ไปร่วมงานเทศกาล เพราะนอกจากนักแสดงนำทั้งสามคน ก็ยังมีนักแสดงชื่อดังคนอื่นๆ ร่วมงานด้วย ทั้งชารอน สโตน, เจมส์ ครอมเวลล์ และเดวิด ชวิมเมอร์ แต่อีกประเด็นหนึ่งที่คนพูดถึงกันมากก็คือบทภาพยนตร์ที่นำเค้าโครงมาจากเรื่องจริง กรณี 'เอกสารลับปานามา' หรือ Panama Papers ที่เคยเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกเมื่อปี 2559
เอกสารลับปานามามีจำนวนมากกว่า 11 ล้านฉบับ เป็นข้อมูลที่รั่วไหลจากบริษัทกฎหมายในประเทศปานามา ชื่อว่า 'มอสแซก ฟอนเซกา' ผู้ดำเนินการและให้คำแนะนำแก่ลูกค้าที่เป็นบุคคลสำคัญจากหลายแวดวงทั่วโลกที่ประสงค์จะจัดตั้ง 'บริษัทนอกอาณาเขต' หรือ 'บริษัทออฟชอร์' รวมถึงช่วยบริหารจัดการบัญชีทรัพย์สินในต่างประเทศของกลุ่มคนร่ำรวยเหล่านี้
เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ หรือ ICIJ ได้รับเอกสารดังกล่าวจากแหล่งข่าว นำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงและตีแผ่ข้อมูลออกไปสู่สาธารณะ หวังกระทุ้งให้หน่วยงานภาครัฐของแต่ละประเทศไต่สวนข้อเท็จจริงว่ามีบุคคลใดเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางการเงินหรือไม่ เช่น การฟอกเงิน หรือหลีกเลี่ยงภาษี
ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ 'สกอตต์ ซี. เบิร์นส์' อาศัยข้อมูลจากหนังสือชื่อ Secrecy World เขียนโดย 'เจค เบิร์นสตีน' นักข่าวรางวัลพูลิตเซอร์ หนึ่งในเครือข่ายสื่อ ICIJ ที่ร่วมกันสืบสวนสอบสวนข้อมูลในเอกสารลับปานามา
เบิร์นสตีนพยายามจะอธิบายว่ากฎหมายหรือระบบตรวจสอบทางการเงินที่มีอยู่ในโลกนี้มีช่องโหว่อย่างไรบ้าง และเพราะอะไรคนจำนวนมากจึงสามารถหลบเลี่ยงหรือตกแต่งบัญชีทรัพย์สิน เพื่อดำรงความร่ำรวยให้ตัวเองได้โดยรอดพ้นจากบทลงโทษใดๆ และในทางหนึ่งก็กลายเป็นการเอาเปรียบคนอื่นๆ ในสังคมที่ยังยึดมั่นในระบบภาษีและการทำหน้าที่พลเมือง
เมอรีล สตรีป นักแสดงนำหญิงของภาพยนตร์เรื่องนี้ รับบทเป็น 'เอลเลน มาร์ติน' แม่หม้ายวัยเกษียณที่สามีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ทำให้เธอต้องเจอกับเงื่อนงำของเอกสารประกันที่ถูกปลอมแปลง และต้องจับพลัดจับผลูสืบหาความจริง นำไปสู่การตีแผ่เครือข่ายอาชญากรรมทางการเงินข้ามชาติ
สตรีปให้สัมภาษณ์กับ Deadline ว่า หนังเรื่องนี้คือ 'ตลกร้าย' ที่ 'ใจดำ' และให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า"คนฉลาดมักจะหาประโยชน์จากคนที่ฉลาดน้อยกว่า หรือไม่ก็เอาเปรียบคนที่ไม่มีโอกาสเหมือนพวกเขา" และเธอมองว่า 'คนจนๆ' จำนวนมากทำงานหารายได้และจ่ายภาษีสม่ำเสมอ เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือกลไกขับเคลื่อนระบบภายในสังคมให้ดำเนินไปในทางที่ควรจะเป็น แต่คนร่ำรวยอีกมากกลับหลีกเลี่ยงที่จะทำตามกฎเหล่านี้
"เงินทำให้คุณมีโอกาส คนตัวเล็กๆ จึงมักจะเป็นฝ่ายที่ถูกโกง ความไม่เสมอภาคอันน่ารังเกียจในสังคมทั่วโลกแย่ลงทุกวัน เพราะมีการเอารัดเอาเปรียบแบบนี้เกิดขึ้น และตราบใดที่ผู้มีอำนาจออกกฎควบคุมหรือตรวจสอบด้านการเงินทั่วโลกยังต้องพึ่งพาเงินจากกลุ่มคนที่หาประโยชน์จากระบบเหล่านี้ เราก็คงจะแย่แน่ๆ"
หลังจากที่ ICIJ ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเอกสารลับปานามา ก็พบเบาะแสจำนวนมากที่บ่งชี้ว่า นักธุรกิจ นักการเมือง ผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรี อาชญากรข้ามชาติ รวมถึงเชื้อพระวงศ์บางประเทศ พัวพันกับการตกแต่งบัญชีเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีในประเทศตัวเอง และหลายรายเข้าข่าย 'อาชญากรรมทางการเงิน' เพราะปกปิดทรัพย์สิน 'ต้องสงสัย' ว่าได้มาจากการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงการฟอกเงินให้ธุรกิจผิดกฎหมาย
ผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในเอกสารลับปานามาจำนวนมากถูกหน่วยงานรัฐในประเทศตัวเองสืบสวนสอบสวน ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย เพื่อให้แน่ใจว่า การตั้งบริษัทออฟชอร์หรือการนำทรัพย์สินไปฝากในบัญชีธนาคารต่างประเทศ รวมถึงการทำธุรกรรมการเงินอื่นๆ ไม่ได้จงใจปกปิดทรัพย์สินหรือหลีกเลี่ยงภาษี
ผลสะเทือนจากเอกสารลับปานามามีหลายกรณี เช่น 'ซิกมุนต์ดูร์ กุนน์ลักส์ซอน' นายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์ที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น ต้องลาออกทันทีที่ ICIJ เผยแพร่ข้อมูลบ่งชี้ว่าเขาปกปิดความมั่งคั่งและทรัพย์สินที่ได้รับจากบริษัทออฟชอร์ของภริยา
อีกหนึ่งกรณีที่โด่งดัง เกี่ยวข้องกับทายาททั้ง 3 คนของ 'นาวาซ ชารีฟ' อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน ได้แก่ มาเรียม, ฮะซัน และฮุสเซน ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทออฟชอร์ที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หรูหราในกรุงลอนดอนของอังกฤษ และในฐานะที่เป็นตระกูลร่ำรวยอันดับต้นๆ ของปากีสถาน ทำให้พวกเขาถูกสอบสวนจนถึงปัจจุบันนี้ว่าปกปิดบัญชีและฟอกเงินที่ได้จากการทุจริตคอร์รัปชันโดยอาศัยเส้นสายทางการเมืองหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นกับนักข่าวหญิงในมอลตา 'ดาฟนี แอนน์ คารูอานา กาลิเซีย' ถูกวางระเบิดคาร์บอมบ์เสียชีวิตเมื่อปี 2560 หลังจากที่เธอนำข้อมูลในเอกสารลับปานามาไปตรวจสอบรัฐมนตรีและภริยานายกรัฐมนตรีในบ้านเกิดตัวเอง และพบเบาะแสว่าทั้งหมดมีบริษัทออฟชอร์และบัญชีธนาคารต่างประเทศ รับเงินจากธุรกิจพลังงานที่ถูกขายให้กับบริษัทเอกชนด้วยราคาถูก แต่รัฐบาลมอลตาไม่เปิดเผยข้อมูลใดอีกเลยหลังจากที่ดาฟนีเสียชีวิต
'อันโตนิโอ บันเดรัส' ซึ่งรับบทเป็น 'รามอน ฟอนเซกา' ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท 'มอสแซก ฟอนเซกา' ต้นทางของเอกสารลับปานามา บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า "ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องทำให้เป็นเรื่องตลก เพราะไม่อย่างนั้น เราอาจจะต้องร้องไห้แทน"
สาเหตุหนึ่งที่คนดูอาจจะร้องไห้ เป็นเพราะเหตุการณ์จริงหลังเปิดโปงเอกสารลับปานามา ไม่ได้จบแบบ 'แฮปปีเอนดิง' หลายคนที่มีชื่อพัวพันการปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือการเลี่ยงภาษี 'รอดพ้น' จากการถูกดำเนินคดี เพราะหลายประเทศไม่มีกฎหมายเอาผิดคนเหล่านี้ หรือบางทีก็มี 'ช่องโหว่' ทำให้คนมีเงินลอยนวลไปได้
ส่วน 'แกรี่ โอลด์แมน' ผู้รับบทเป็น 'เจอร์เกน มอสแซก' มองว่า 'ความโลภ' ทำให้หลายคนสูญเสียเหตุผลและสามัญสำนึก เพราะหลงลืมไปว่า "เท่าไหร่ถึงจะเรียกว่าพอ"
แม้รัฐบาลปานามาจะตอบสนองต่อการเปิดโปงเอกสารลับด้วยการสั่งจับกุม 'เจอร์เกน มอสแซก' และ 'รามอน ฟอนเซกา' หุ้นส่วนผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร 'มอสแซก ฟอนเซกา' เมื่อเดือน ก.พ.2560 ทั้งยังตั้งข้อหาเกี่ยวกับการฟอกเงินหลายกระทง แต่ทั้งสองคนถูกควบคุมตัวเพื่อสอบปากคำอยู่ราว 3 เดือนก็ได้รับการปล่อยตัว
'สกอตต์ ซี. เบิร์นส์' ผู้เขียนบท The Laundromat พูดถึงกรณีนี้ว่า ทั้งมอสแซกและฟอนเซกาไม่ได้รู้สึกผิดมากนัก อ้างอิงจากที่เขามีโอกาสได้พูดคุยกับทั้งสองคนก่อนจะเขียนบท พวกเขายืนยันว่า การดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย การฉายภาพให้พวกเขาเป็นผู้ร้ายจึงทำได้ง่ายมาก แต่หวังว่าสิ่งหนึ่งที่คนดูจะรู้สึกได้หลังจากดูหนังเรื่องนี้ก็คือการตระหนักว่า "ระบบที่เอื้อให้เกิดธุรกิจเหล่านี้ได้ต่างหากที่เป็นปัญหาใหญ่กว่า"
ส่วนกรณีของประเทศไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. เผยผลสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีบุคคลในประเทศไทย 16 รายมีชื่อปรากฎอยู่ในเอกสารลับปานามา โดย พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษาประจำ ปปง. แถลงยืนยัน ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง.ขณะนั้น ว่า ไม่พบหลักฐานบ่งชี้ว่ามีการปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือผิดกฎหมายไทย
เว็บไซต์ Thai Tribune รายงานอ้างอิงคำพูดของ พ.ต.อ.สีหนาท ซึ่งระบุว่า"เท่าที่ดูภาพรวมส่วนใหญ่ อาจเป็นเรื่องของการไม่อยากเสียภาษีซ้ำซ้อน ไม่อยากเสียภาษีจำนวนมาก เขาก็บริหารเงินของเขา แต่อาจไม่ถูกในเรื่องจรรยาบรรณ โดยหลักการเรียกว่า 'มาตรการบริหารภาษี' ในกรณีเขาได้รับเงินโดยชอบตามกฎหมาย ไม่ได้ผิดกฎหมาย เขาก็ทำกันทั้งโลก”
ประโยค "เขาก็ทำกันทั้งโลก" อาจจะเป็นเหตุผลเดียวกับที่อีกหลายประเทศไม่ได้จับกุมหรือดำเนินคดีผู้ที่มีชื่อในเอกสารลับปานามา แต่ ICIJ รายงานว่า อีกหลายประเทศใช้เหตุการณ์นี้ผลักดันกฎหมายหรือแก้ไขข้อบังคับด้านการเงินและการกำกับดูแลความโปร่งใสของธุรกิจในประเทศตัวเอง เช่น นิวซีแลนด์และอินโดนีเซีย ส่วนที่เบลเยียมพยายามขยายขอบเขตรับผิดชอบของธนาคารและสถาบันการเงินในประเทศที่มีต่อการทำธุรกรรมต่างๆ
ส่วนเครือข่ายนักข่าวที่ร่วมกันเปิดโปงเอกสารลับปานามาก็ยังทำงานต่อไป ปีต่อมาก็เปิดโปงข้อมูลรั่วไหลจากบริษัทกฎหมาย 'แอปเปิลบี' ที่รับผิดชอบดูแลบัญชีทรัพย์สินและทรัสต์ของบุคคลสำคัญที่จดทะเบียนในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน เบอร์มิวดา หมู่เกาะเคย์แมน มอริเชียส ฯลฯ ที่สื่อตั้งฉายาว่าเป็น 'สวรรค์แห่งการเลี่ยงภาษี' และข้อมูลชุดนี้ถูกเรียกว่า 'เอกสารลับพาราไดส์' หรือ Paradise Papers รวมแล้วอีกหลายล้านฉบับ
กรณีที่สั่นสะเทือนอย่างมากจากเอกสารลับพาราไดส์ คือ บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ในบราซิล Odebrecht ถูกเปิดโปงว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่ในหลายประเทศแถบละตินอเมริกา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ และการสอบสวนโยงถึงอดีตประธานาธิบดีเปรู 'อลัน การ์เซีย' ซึ่งถูกออกหมายจับในฐานะผู้ต้องสงสัยรับเงินสินบนจาก Odebrecht ในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่ง ทำให้เขาตัดสินใจยิงตัวตายเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
ผู้ที่มีรายชื่อในเอกสารลับพาราไดส์รายอื่นๆ รวมถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และสมาชิกครอบครัวของ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน ซึ่งการสอบสวนข้อมูลเพิ่มเติมยังไม่พบหลักฐานบ่งชี้ถึงการละเมิดกฎหมาย แต่กรณีของธุรกิจยักษ์ใหญ่ เช่น ไนกีและแอปเปิล ถูกตั้งข้อสงสัยว่าพยายามหลีกเลี่ยงภาษี และการสอบสวนคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด
เมอรีล สตรีป เป็นนักแสดงคนหนึ่งที่สนับสนุนการทำงานของสื่อมวลชน และเคยทำงานร่วมกับคณะกรรมการปกป้องสื่อ (CPJ) เธอจึงกล่าวถึงกลุ่มคนทำงานที่พยายามเปิดโปงข้อมูลในเอกสารลับปานามาและพาราไดส์ตอนที่ The Laundromat ถูกฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซเมื่อปลายเดือน ส.ค.ด้วยการย้ำว่า "คนบางคนต้องตายเพราะเรื่องนี้ และยังมีคนที่จะตายเพื่อให้ข้อมูลเปิดเผยออกมา"
จากมุมมองของสตรีป เธอรู้สึกว่า การถ่ายทอดเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับเอกสารลับปานามาใน The Laundromat เป็นวิธีหนึ่งที่จะสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้ คือ 'ตลกร้าย' และ 'ใจดำ' ที่เห็นเราแต่ละคนเป็นของเล่นอย่างไรบ้าง
ส่วนผู้กำกับโซเดอร์เบิร์ก เจ้าของผลงานสร้างชื่อ Sex, Lies, and Videotape และ Traffic ที่คว้ารางวัลออสการ์ รวมถึงผลงานยอดนิยมอย่าง Ocean's Eleven/Twelve/ Thirteen ก็พูดถึงผลงานเรื่องใหม่ของตัวเองว่าเป็นเรื่องตลกที่สะท้อนความซับซ้อนของกลไกออฟชอร์ และหวังว่านี่จะเป็นตัวกระตุ้นให้คนดูถกเถียงกันว่า "ระบบจะต้องเปลี่ยน" และ "ความโปร่งใสคือทางออกเดียวที่มีอยู่" ใช่หรือไม่
The Laundromat จะฉายในโรงภาพยนตร์บางโรงในสหรัฐฯ วันที่ 27 ก.ย.2562 หลังจากนั้นจะฉายทาง Netflix ทั่วโลก วันที่ 18 ต.ค. มีชื่อภาษาไทยว่า "ซัก หลบ กลบ ฟอก"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: