ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการประสานเสียงองค์กรด้านผู้หญิงและเด็ก เรียกร้องสังคมบอยคอตสื่อที่ละเมิดสิทธิและดราม่าเรียกเรตติ้งจากข่าว "น้องชมพู่" จี้กสทช.ทำหน้าที่เอาผิดสื่อล้ำเส้น พร้อมชี้ สื่อไทยยังสยบยอมอำนาจนิยม "สุภิญญา" ยันข่าวไม่ใช่ละคร ตามหาวิญญาณคนตายมันเกินไป

องค์กรภาคประชาชนด้านผู้หญิงและเด็ก จัดเสวนา "ข่าวเลยเถิดละเมิดสิทธิ ปั่นดราม่า มอมเมา...สังคมไทยควรทำอย่างไร?" เพื่อเป็นเวทีหาทางออก หลังปรากฏสื่อมวลชนบางสำนักนำเสนอข่าวเด็กเสียชีวิตที่ภูเหล็กไฟ จังหวัดมุกดาหาร หรือ "ข่าวน้องชมพู่" เข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็ก-สิทธิส่วนบุคคลของผู้ตกเป็นข่าว ปั้นความและลากโยงไสยศาสตร์ มาชี้นำถึงขั้นใบ้หวย มอมเมาประชาชน

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ระบุว่า ตนขอเรียกร้องให้ไม่สนับสนุนสื่อที่ละเมิดสิทธิเด็ก รวมถึงหาแนวร่วมองค์กรระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดวาระการถกเถียงที่ใหญ่และกว้างขึ้น ที่สำคัญ กสทช.จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ ซึ่งในอดีตก็เคยลงโทษสื่อ กรณีเปิดเผยอัตลักษณ์เหยื่อที่เป็นเด็ก และสั่งพักใบอนุญาตหรือสั่งปิดทีวีมาแล้วในเรื่องการเมือง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หากมีข่าวกระทบอำนาจทางการเมือง กสทช. จะอ่อนไหวและลงโทษอย่างรวดเร็ว และเด็ดขาด แต่พอเจอเรื่องละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนที่ไม่มีอำนาจ กสทช.จะดำเนินการชักช้า

น.ส.สุภิญญา กล่าวด้วยว่า "ข่าวไม่ใช่ละคร บางช่องไปตามวิญญาณ มันเกินไปมาก แต่ไม่เห็นหน่วยงานรัฐออกมาโวยวาย" เพราะผู้มีอำนาจชอบที่สื่อมุ่งเสนอข่าวดราม่า เนื่องจากใช้กลบข่าวและเบี่ยงประเด็นการเมืองได้ ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นการเมืองด้วย ขณะที่หากไม่แก้ปัญหานี้จะเกี่ยวข้องกับการเเข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของสื่อเองด้วย เนื่องจากบางช่องล้ำเส้นได้เรตติ้ง บางช่องพยายามอยู่ในกรอบจริยธรรม แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

น.ส.ชเนตตี ทินนาม นักวิชาการสื่อสารมวลชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ทุกครั้งที่ระบบอำนาจนิยมมีอำนาจสูงสุดในสังคม สื่อมวลชนจะสยบยอมแบบเชื่องๆ ผู้ไร้อำนาจหรือคนตัวเล็กตัวน้อยจะเป็นตัวละครหลักในหน้าสื่อ โดยเฉพาะช่วงที่การเมืองไม่เข้มแข็งและสังคมไม่กล้าลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับระบบอำนาจนิยม ที่กลืนกินความชอบธรรมและทำให้มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานของสื่อ

น.ส.ชเนตตี ระบุด้วยว่า ข่าวอาชญากรรมในทีวีไทย ไม่เคยถูกยกระดับขึ้นมาให้สูงกว่าการรายงานเรื่องของปัจเจก ยังอยู่ในโครงสร้างเล่าเรื่องแบบมีพล็อตเรื่องเหมือนนิยายที่จะต้องมีจุด "ไคลแม็กซ์" เป็นโศกนาฏกรรมของชีวิตใดชนิดหนึ่ง แต่ไม่ได้นำไปสู่การคลี่คลาย หรือทำให้คนในช่องว่างของกระบวนการยุติธรรม เพราะความเจ็บปวดในการถูกละเมิดสิทธิไม่ถูกดึงขึ้นมานำเสนอ และตามหลักสูตรนิเทศศาสตร์ไม่สอนแบบนี้ แต่วงการวิชาชีพสื่อยังใช้อยู่ ดังนั้นทุกภาคส่วนควรร่วมกันกระตุ้นและกดดัน รวมถึงใน Social Media

ด้าน นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชาย บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า การเสนอข่าวต่อคดีนี้และคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามทางเพศในการสัมภาษณ์เด็กถือว่าผิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และการขยายข้อมูลเกินความจำเป็น ยังอาจทำให้สังคมเข้าใจผิดในตัวเด็กและครอบครัว ทั้งส่งผลต่อความยากลำบากในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนการจำลองภาพความรุนแรงเกินจำเป็น เท่ากับสร้างแรงกดทับซ้ำเติมส่งผลต่อจิตใจเด็กโดยตรงรวมถึงครอบครัว 

นางทิชา เสนอว่า กสทช. ต้องเร่งตรวจสอบการเผยแพร่ข่าวว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็กและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงเข้าข่ายมอมเมาประชาชนให้เล่นพนัน, ใบ้หวยหรือไม่ หากพบความผิดจริงให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หากมีความผิดซ้ำซากต้องมีมาตรการเด็ดขาด พร้อมกันนี้เรียกร้องต่อคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงองค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆ ให้ช่วยให้ความสำคัญและมีมาตรการที่ชัดเจนในการป้องกันและแก้ปัญหานี้ 

นายจะเด็จ เชาวน์วีไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า สังคมไทยยังเป็น "สังคมอำนาจนิยมแบบชายเป็นใหญ่" ทำให้สื่อบางส่วนรับความคิดแบบนี้ เสนอข่าวในทิศทางที่มีอำนาจเหนือกว่า สนใจเรตติ้งเป็นหลัก และยังชี้นำจนทำให้เสียรูปคดี หรือกรณีข่าวข่มขืนก็พยายามเบี่ยงประเด็น โค้ดคำพูดพาดหัวว่าผู้ถูกข่มขืนไม่ได้บริสุทธิ์จริง, เป็นคนที่ผู้ชายชอบหรือหวังผลประโยชน์รวมถึงแต่งตัวโป๊ หรือมีความคิดว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายผิดมากกว่าไปแล้ว รวมทั้งมีละครทีวีต่างๆ ที่มีฉากข่มขืนและคุกคามทางเพศช่วยผสมโรง  

ทั้งนี้ นายจะเด็จ เรียกร้องให้ยกระดับการกำกับดูแลสื่อให้มีมาตรการที่เข้มข้นและเป็นจริงมากกว่านี้ ไม่อยากให้เป็นเสือกระดาษที่หมดสภาพ โดยต้องประเมินและมีบทลงโทษอย่างจริงจัง รวมไปถึงสื่อออนไลน์ ส่วนประชาชนต้องช่วยกันแสดงออกโดยไม่สนับสนุนสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ละเมิดสิทธิ์เด็กและเสรีภาพส่วนบุคคลหรือมุ่งมอมเมาประชาชน กระทั่งการมีองค์กรไปร้องทุกข์กล่าวโทษตามกฎหมายก็จำเป็นต้องทำ