โทรุ ทาคาฮาชิ บรรณาธิการข่าวประจำภูมิภาคเอเชียของ 'นิกเกอิเอเชี่ยนรีวิว' สื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองของญี่ปุ่น เผยแพร่บทความเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. โดยใช้ชื่อว่า Prayuth's return as prime minister takes Thailand back to 1980s หรือ "พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกสมัย ทำให้ประเทศไทยย้อนกลับไปสู่ยุค 1980" (พ.ศ.2523) โดยเนื้อหาในบทความระบุว่า ยุคดังกล่าวคือยุคที่ไทยถูกปกครองแบบ 'ประชาธิปไตยครึ่งใบ'
บทความของทาคาฮาชิระบุว่า หลังจากมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัย พ.ศ.2475 กองทัพไทยใช้ทั้งกำลังอาวุธและอำนาจทางการเมืองแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ รวมถึงสกัดกั้นการเติบโตของพรรคการเมืองหลายพรรค แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 เรื่อยไปจนถึง พ.ศ. 2531
ทั้งนี้ พลเอกเปรมใช้กระบวนการในระบอบรัฐสภาเพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการปรับคณะรัฐมนตรีอยู่เรื่อยๆ หรือไม่ก็ยุบสภาก่อนจัดการเลือกตั้งใหม่ ทำให้กองทัพยกย่องพลเอกเปรมในฐานะผู้นำรัฐบาลที่สามารถอยู่ในอำนาจได้นานถึง 8 ปี ทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อพลเอกเปรมก้าวลงจากตำแหน่ง ประชาชนมีโอกาสเลือกตั้ง จนได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ไทยจึงเข้าสู่ยุค 'ประชาธิปไตยเต็มใบ'
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางการเมืองไทยเริ่มปะทุขึ้นอีกครั้งในยุครัฐบาล 'ทักษิณ ชินวัตร' ซึ่งใช้วิธีปกครองแบบอำนาจนิยมและใช้เงินอัดฉีดแก่กลุ่มประชาชนฐานรากในพื้นที่ชนบท ทำให้เขากลายเป็นผู้นำได้รับความนิยมอย่างมากจากกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มชนชั้นนำที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม และขั้วอำนาจเดิมที่สามารถต่อรองในสังคมไทยได้ นำไปสู่การชุมนุมประท้วงขับไล่ของประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายอนุรักษนิยม และการก่อรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพ
ทาคาฮาชิระบุว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเป็น 'เรื่องปกติ' ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่การเมืองไทยมีลักษณะเฉพาะบางประการที่แตกต่างจากที่อื่นๆ นั่นคือการที่สังคมไทยพึ่งพิงการรัฐประหารและการชุมนุมประท้วงในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แทนที่จะเผชิญหน้ากันด้วยการเลือกตั้งหรือการอภิปรายในระบอบรัฐสภา ซึ่งเป็นวิธีการพื้นฐานในสภา ตามระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากล
ศาสตราจารย์อิคุโอะ อิวาซากิ อดีตนักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยทะคุโชกุของญี่ปุ่น ถูกอ้างอิงในบทความดังกล่าว โดยเขาแสดงความคิดเห็นว่า "ประเทศไทยมีการเลือกตั้งทุกๆ 4 หรือ 5 ปี บ่งชี้ว่าไทยมีกระบวนการทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ดูเหมือนว่าความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎกติกาขั้นพื้นฐานนั้นยังมีอยู่น้อยมาก โดยเฉพาะถ้าคุณแพ้การเลือกตั้ง คุณก็ต้องยอมรับความพ่ายแพ้และยอมถอย"
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งได้รับเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ไม่อาจทำให้ไทยกลับไปสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบได้ เพราะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ฝ่ายสนับสนุนกองทัพได้ประโยชน์ เห็นได้จากการกำหนดว่านายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นจะต้องมาจาก ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้ง หรือแม้แต่เงื่อนไขที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา 'ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากบุคคลในกองทัพ' มีสิทธิลงคะแนนเลือกนายกฯ ได้ด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยย้อนกลับไปสู่ยุคที่เรียกว่า 'รัฐบาลพลเรือนปลอม' เพราะผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริงหรือกองทัพและนายทหาร
นอกจากนี้ บทความของทาคาฮาชิยังอ้างอิงผลการจัดอันดับดัชนีประชาธิปไตยของธนาคารโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าไทยตกจากอันดับที่ 80 มาอยู่ที่อันดับ 161 บ่งชี้ว่าไทยยังต้องพัฒนาและปรับโครงสร้างทางสังคมและการเมืองต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางประชาธิปไตยที่เป็นสากล
นอกจากนี้ เว็บไซต์ดิอีโคโนมิสต์ สื่อเก่าแก่ของอังกฤษ เผยแพร่บทวิเคราะห์ชื่อว่า The leader of the Thai junta tortures the rules to remain in power (ผู้นำรัฐบาลทหารไทยบิดเบือนกฎต่างๆ เพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. โดยเนื้อหาของบทความระบุว่า เวลามากกว่า 5 ปีหลังจากที่พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจและแต่งตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเขาเป็นผู้นำที่มีความดึงดันอย่างมาก และการเลือกตั้งเมื่อกว่า 2 เดือนก่อน ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบให้เอื้อประโยชน์ต่อพรรคพวกที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ก็นำไปสู่การลงมติในสภาเพื่อเลือกให้เขากลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกสมัยได้สำเร็จ
บทความของดิอีโคโนมิสต์ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ไม่นาน พลเอกประยุทธ์แนะให้คนไทยอ่านหนังสือต่อต้านระบอบเผด็จการอย่าง 'แอนนิมอล ฟาร์ม' โดยไม่ได้ฉุกคิดสักนิดว่าเป็นเรื่องเสียดสีประชดประชัน เพราะบรรดาหมูที่เป็นแกนนำการปกครองในแอนนิมอล ฟาร์ม ก็ประกาศเช่นกันว่า "สัตว์ทุกตัวล้วนเท่าเทียมกัน แต่บางตัวเท่าเทียมกันมากกว่าตัวอื่นๆ" และในเวลาต่อมาพลเอกประยุทธ์ก็ได้รับการลงคะแนนจากสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ซึ่งแต่งตั้งมาเองโดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ และมากกว่าครึ่งของ สว.ล้วนเป็นบุคลากรในกองทัพหรือไม่ก็เป็นนายตำรวจ ไม่เว้นแม้แต่น้องชายของพลเอกประยุทธ์เองก็ได้รับการแต่งตั้งด้วย
นอกจากนี้ สื่ออังกฤษยังกล่าวถึงสูตรคำนวณที่นั่งในสภาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีการแจกแจงวิธีการคำนวณ 'ภายหลัง' จากการเลือกตั้งจัดขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว อีกทั้ง กกต.และศาลรัฐธรรมนูญก็ยังมีส่วนในการยุบพรรคหรือประกาศตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคต่อต้านรัฐบาลทหาร ส่งผลเอื้อต่อพรรคเล็กที่ให้การสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ให้เข้าไปในสภาแทน จนถูกกล่าวหาว่าเป็นการ 'ปล้นคะแนน'
ด้วยเงื่อนไขทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ผู้นำรัฐบาลทหารไทยมีเสียงข้างมากในการจัดตั้ง 'รัฐบาลผสม' ซึ่งจะเป็นการรวมตัวกันของพรรคที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ และพรรคอื่นๆ ที่พร้อมจะต่อรองเข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาลกับผู้ที่มีแต้มต่อ เช่น พรรคภูมิใจไทย ทั้งยังมีเงื่อนไขระบุในรัฐธรรมนูญมอบอำนาจวุฒิสภาในการแทรกแซงเพื่อปลดล็อกวิกฤตทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้น เช่น กรณีที่ไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องงบประมาณได้ภายในระยะเวลา 105 วัน
ขณะเดียวกัน บทความของดิอีโคโนมิสต์ก็เตือนด้วยว่า 'ผู้เอาตัวรอด' ในเกมการเมืองซึ่งเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ อาจคำนึงถึงผลประโยชน์และความต้องการของพรรคตัวเองเป็นหลัก ย่อมส่งผลให้รัฐบาลผสมไม่มีเสถียรภาพ ต้องเผชิญกับการต่อรองอำนาจและการจัดการผลประโยชน์ต่างๆ อย่างไม่มีทางเลี่ยง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: