ไมเคิล บูส์ ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์และปฏิบัติการด้านสัตววิทยา ประจำสวนสัตว์โอเชียนพาร์กในฮ่องกง เขตบริหารพิเศษจีน เปิดเผยกับสื่อต่างประเทศหลายสำนัก กรณี 'อิ๋งอิ๋ง' แพนด้าเพศเมีย และ 'เล่อเล่อ' แพนด้าเพศผู้ ซึ่งอายุ 14 ปีด้วยกันทั้งคู่ ผสมพันธุ์ตามธรรมชาติได้สำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เมื่อ 10 ปีก่อนหน้า เจ้าหน้าที่สวนสัตว์พยายามช่วยเหลือให้แพนด้าทั้งคู่ผสมพันธุ์กันแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
The New York Times รายงานว่า สวนสัตว์โอเชียนพาร์กปิดทำการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงไม่มีผู้เข้าชมสวนสัตว์กันหนาแน่นเหมือนเช่นเคย แพนด้าทั้งคู่เริ่มมีพฤติกรรมบ่งชี้ว่าพร้อมจะผสมพันธุ์ และในที่สุดทั้งคู่ก็ผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติได้สำเร็จ ทำให้นิวยอร์กไทม์ส รายงานอย่างติดตลกว่า "บางทีคู่แพนด้าอาจจะต้องความเป็นส่วนตัวก็เป็นได้"
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยังไม่อาจแน่ใจได้ว่าการผสมพันธุ์ดังกล่าวจะทำให้อิ๋งอิ๋งตั้งท้องได้หรือไม่ และเจ้าหน้าที่สวนสัตว์จะต้องจับตาดูความเปลี่ยนแปลงทางสรีระของแพนด้าอย่างใกล้ชิด โดยระยะเวลาดังกล่าวจะกินเวลาประมาณ 72 - 324 วัน เพราะจะยังไม่สามารถสแกนดูแพนด้าในท้องของอิ๋งอิ๋งได้จนกว่าตัวอ่อนจะโตเต็มที่ หรือประมาณ 14-17 วันก่อนคลอด
ตามปกติแล้ว แพนด้าเพศเมียมีเติบโตเต็มที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ จะมีสภาพร่างกายที่พร้อมผสมพันธุ์ในเวลาเพียง 24 ถึง 72 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น ถ้าแพนด้าเพศผู้ไม่ได้ผสมพันธุ์ในช่วงเวลานี้ ก็จะต้องรออีก 1 ปีกว่าจะถึงสภาวะที่เหมาะสมอีกครั้ง จึงเป็นเหตุผลหนึ่งให้แพนด้าเป็นสัตว์คุ้มครองและหายาก
องค์การระหว่างประเทศ 'กองทุนเพื่อสัตว์ป่าโลก' (WWF) ประเมินว่า ปัจจุบันมีแพนด้าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติราว 1,864 ตัวเท่านั้น พบได้เฉพาะในประเทศจีน
ขณะที่ CNN รายงานว่า ถ้าการผสมพันธุ์ครั้งนี้สำเร็จ อิ๋งอิ๋งจะมีอาการบ่งชี้การตั้งท้อง เช่น ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง และมีพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนไป คาดว่าจะสามารถสังเกตอาการเหล่านี้ได้ประมาณเดือน มิ.ย. แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีภาวะ 'ท้องลม' หรือตั้งท้องเทียม ได้เช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: