ไม่พบผลการค้นหา
เกิดกรณีข้อมูลทางธุรกรรมธนาคารรั่วไหลครั้งใหญ่ของธนาคารเครดิตสวิส ธนาคารเอกชนเจ้าใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเก็บข้อมูลความลับของลูกค้า จนเป็นที่ต้องสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับกรณีหลีกเลี่ยงภาษีของนักการเมือง นักธุรกิจ และบุคคลทรงอิทธิพลทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ไทย

ข้อมูลที่หลุดออกมาจากธนาคารเครดิตสวิสในครั้งนี้ ได้รับการสืบสวนสอบสวนซึ่งนำโดยซุดดอยท์เชอไซทุง หนังสือพิมพ์ของเมืองมิวนิก เยอรมนี ร่วมกับโครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริต (OCCRP) ภายใต้ชื่อโครงการ SuisseSecret ที่ได้รับข้อมูลรั่วไหลจากแหล่งข่าวลับ ถึงลูกค้าเจ้าของบัญชีต้องสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับกรณีการหลีกเลี่ยงภาษีกว่า 30,000 รายทั่วทั้งโลก ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 1 แสนล้านฟรังสวิส (ประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท) ที่กระจุกตัวอยู่ในสถาบันการเงินเจ้าใหญ่แห่งนี้ของสวิตเซอร์แลนด์

ธนาคารเครดิตสวิสพยายามแก้ต่างมาหลายทศวรรษว่า พวกเขาจะกำจัดบัญชีของลูกค้าที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริต ตลอดจนกองทุนผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี ความรั่วไหลในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความล้มเหลวของการตรวจสอบข้อมูลและสถานะของลูกค้าของธนาคารเครดิตสวิสอย่างปฏิเสธไม่ได้ ผ่านการตีแผ่ข้อมูลโดยสำนักข่าว 48 แห่งใน 39 ประเทศทั่วโลก ที่รวมถึง The New York Times The Guardian ตลอดจนประชาไทของประเทศไทย

ข้อมูลที่รั่วไหลออกมาในครั้งนี้ เปิดเผยให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางด้านการเงินที่ผิดปกติ ซึ่งเกี่ยวข้องกันกับการค้ามนุษย์ในฟิลิปปินส์ หัวหน้าตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงที่ถูกสั่งจำคุกจากความผิดโทษติดสินบน มหาเศรษฐีที่สั่งฆ่าแฟนสาวนักร้องชาวเลบานอน และผู้บริหารระดับสูงที่ขโมยทรัพย์สินของบริษัทน้ำมันที่ตนเองทำงานอยู่ ตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตทั้งในอียิปต์ ยูเครน เรื่อยมาจนถึงไทย

ซุดดอยท์เชอไซทุง สื่อหนังสือพิมพ์ผู้ออกมาแฉธนาคารเครดิตสวิสเป็นรายแรกระบุในแถลงการณ์ว่า “ทางเราเชื่อว่ากฎหมายความลับของธนาคารสวิสนั้นเป็นเรื่องผิดศีลธรรม… ข้ออ้างในการปกป้องความเป็นส่วนตัวทางด้านการเงินเป็นผักชีโรยหน้าที่ครอบคลุมบทบาทอันน่าอับอายของธนาคารสวิสในฐานะผู้สมรู้ร่วมคิดในการหลบเลี่ยงภาษี”


ต้นตอปัญหา: กฎหมายรักษาข้อมูลความลับของลูกค้า

ในปี 2477 สวิตเซอร์แลนด์ได้ออกกฎหมายว่าด้วยธนาคารและธนาคารออมทรัพย์ ซึ่งกลายเป็นต้นตอของปัญหาที่ทำให้มีผู้ต้องสงสัยว่า อาจเกี่ยวข้องกับกรณีการหลีกเลี่ยงภาษีจำนวนมากได้โยกย้ายถ่ายโอนทรัพย์สินของตนเองเข้ามายังสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่วางตัวเป็นกลางหลังจากโลกเจอกับสงครามครั้งใหญ่ จนตนเองกลายเป็นศูนย์กลางด้านการธนาคารชั้นนำของโลกไปโดยปริยาย

ปัญหาสำคัญของกฎหมายว่าด้วยธนาคารและธนาคารออมทรัพย์ของสวิตเซอร์แลนด์ อยู่ในมาตราที่ 47 ที่กำหนดโทษปรับหรือจำคุกสูงสุด 3 ปี หากผู้กระทำความผิดมีการเปิดเผยข้อมูลของลูกค้าซึ่งถือเป็นข้อมูลความลับที่ลูกค้ามอบให้แก่ธนาคารด้วยความไว้วางใจ พยายามชักชวนให้กระทำผิดกฎหมายความลับทางธนาคาร ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลซึ่งเป็นความลับให้แก่บุคคลที่สามหรือใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อหาประโยชน์ให้กับตนหรือบุคคลอื่น

การปิดข้อมูลของลูกค้าให้เป็นความลับ ทำให้การสืบสวนสอบสวนถึงความผิดปกติทางด้านการเงินต่อบัญชีธนาคารเครดิตสวิสนั้นทำได้ยาก เนื่องจากธนาคารเครดิตสวิสอ้างว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวทำให้ธนาคารไม่สามารถเปิดเผย หรือให้ความเห็นถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าตนเองได้

“ธนาคารเครดิตสวิสขอปฏิเสธอย่างหนักแน่นถึงข้อกล่าวหา และการให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของทางธนาคาร” แถลงการณ์ของธนาคารเครดิตสวิสระบุเพื่อปฏิเสธข้อกล่าวหาในครั้งนี้ “ข้อมูลที่ถูกคัดเลือกมาโดยไม่อิงบริบท” 

ธนาคารเครดิตสวิสกล่าวอ้างอีกว่า ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยมาเป็นข้อมูลที่แตกต่างมากเมื่อเทียบกับบริบททางประวัติศาสตร์ในอดีตกับปัจจุบัน เนื่องจากข้อมูลที่ถูกแฉออกมานั้นสืบย้อนไปได้ถึงราวทศวรรษที่ 2480 อย่างไรก็ดี มีบัญชีกว่าสองในสามที่ถูกเปิดขึ้นใหม่นับตั้งแต่ปี 2543 หลายบัญชียังคงอยู่ดีมาโดยตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้


บัญชีไทยในเครดิตสวิส

จากรายงานเบื้องต้นระบุว่า ในบรรดาบัญชีนักการเมือง นักธุรกิจ และบุคคลทรงอิทธิพลจำนวนมากในโลก ที่เป็นลูกค้าของธนาคารเครดิตสวิสนั้น จำนวนมากมาจากอียิปต์กว่า 2,000+ บัญชี เวเนซูเอลา 2,000+ บัญชี ยูเครน 1,000+ บัญชี และไทย 1,000+ บัญชี ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีชนชั้นนำทางการเมืองและการเงินได้นำทรัพย์สินของตนเองมาซุกอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบในประเทศของตนเองในช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ประชาไทซึ่งเป็นหนึ่งในสำนักข่าวที่ร่วมทำการสืบสวนสอบสวนพร้อมกับอีกหลายสิบสำนักข่าวทั่วโลกรายงานบนเว็บไซต์ของตน ถึงตัวอย่างกรณีผู้ต้องสงสัยชาวไทยที่เคยมีประวัติด้านการยักยอกทรัพย์ ซึ่งได้ทำการเปิดบัญชีอยู่ในธนาคารเครดิตสวิส ทั้งนี้ ชาวไทยรายดังกล่าวเคยถูกศาลอุทธรณ์สั่งจำคุกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาในคดียักยอกและความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยถึงแม้ว่าการเปิดบัญชีธนาคารในต่างประเทศจะไม่ใช่ความผิดในตัว แต่ในฐานะการเป็นพลเมืองของประเทศนั้นๆ ที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ อาจนำมาซึ่งการถูกตั้งคำถามทางศีลธรรมได้

อย่างไรก็ดี ประชาไทระบุว่าทางสำนักข่าวยังไม่ได้รับการชี้แจงจากการสอบถาม จึงยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อและรายละเอียดที่จะนำไปสู่การระบุตัวตนได้ ทั้งนี้ ข้อมูลของธนาคารชุดนี้เป็นข้อมูลในอดีต ซึ่งไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าธุรกรรมทางการเงินนี้ยังคงอยู่หรือไม่

ประชาไทยังได้เปิดเผยอีกว่า ทางสำนักข่าว “พบว่ามีผู้ถือบัญชีมีทั้งบุคคลและนิติบุคคลจากธุรกิจต่างๆ เช่น โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร ค้าขายอัญมณี ค้าวัสดุก่อสร้าง อดีตนายกสมาคมการค้าต่างๆ บุคคลที่เป็นที่รู้จักในแวดวงธุรกิจแนวหน้า ไปจนถึงนักธุรกิจที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร อดีตข้าราชการระดับอธิบดีกรม อดีตผู้ก่อตั้งพรรคการเมือง และนักธุรกิจที่มีประวัติเป็นผู้ให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองต่างๆ”

อย่างไรก็ดี ประชาไทได้ติดต่อไปยังกรมสรรพากรเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียภาษี ที่มีบัญชีในธนาคารเครดิตสวิสในช่วงปีของข้อมูล โดยจากรายงานล่าสุดของประชาไทเมื่อวันที่ 18 ก.พ. ระบุว่า ทางสำนักข่าวยังคงไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากทางกรมสรรพากร โดยจากจากการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการของผู้สื่อข่าวประชาไทได้รับทราบมาว่าทางกรมสรรพากรยังไม่น่าจะมีข้อมูลข้างต้น


เครดิตสวิสค้าน การเปิดโปงถูกตัดแปะ

หลังจากโครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริตได้ออกมาเปิดโปงในกรณี SuisseSecret แล้ว ธนาคารเครดิตสวิสได้ออกมาตอบโต้ต่อการแฉในครั้งดังกล่าวว่า “ในฐานะสถาบันทางการเงินชั้นนำระดับโลก เครดิตสวิสตระหนักดีถึงความรับผิดชอบต่อลูกค้า และระบบด้านการเงินโดยรวม เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่ามีการรักษามาตรฐานขั้นสูงสุด”

ธนาคารเครดิตสวิสแถลงในแถลงการณ์ต่อว่า “ข้อกล่าวหาของสื่อเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นความพยายามร่วมกันในการทำให้ธนาคารและตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์เสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา” ธนาคารเครดิตสวิสย้ำว่า องค์กรของตนได้มีการดำเนินการมาตรการต่างๆ เพื่อตอบรับกับข้อกล่าวหาเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษี และการมีส่วนพัวพันกับเงินสกปรก รวมถึงการลงทุนด้านการต่อต้านอาชญกรรมทางการเงินด้วย

ธนาคารเครดิตสวิสชี้อีกว่า ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมากว่า 90% ของบัญชีทั้งหมดถูกปิดหรือกำลังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการของการปิดบัญชี และธนาคารมั่นใจว่า บัญชีที่ยังถูกเปิดอยู่นั้น “มีการดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะที่เหมาะสม”

ธนาคารเครดิตสวิสย้ำอีกว่า ทางธนาคารมี "นโยบายที่เข้มงวดอย่างยิ่งต่อการหลีกเลี่ยงภาษี" "ต้องการทำธุรกิจกับลูกค้าที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านภาษีเท่านั้น" และ "ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านภาษีของลูกค้าจำนวนมากซึ่งครอบคลุมเขตอำนาจของศาลหลายแห่ง" ซึ่งช่วยควบคุมไม่ให้เกิดการฟอกเงินขึ้นได้


ผู้แฉโต้ เครดิตสวิสอย่าแก้ตัวน้ำขุ่นๆ

โครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริตซัดกลับไปยังธนาคารเครดิตสวิสว่า เครดิตสวิส “ถือเงินอาชญากรและเงินที่ถูกโกงมามากที่สุดในโลก” ในขณะที่ตนเองมีหน้าที่ในการรับผิดชอบในการบ่งบอกอัตลักษณ์ของลูกค้า และระงับเงินดังกล่าวหากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินสกปรก

โครงการตอกย้ำว่า ธนาคารล้มเหลวในการดำเนินการตรวจสอบสถานะของลูกค้าตนเอง ส่งผลให้อาชญากรรมและการทุจริตทำได้ง่ายขึ้น มีกำไรมากขึ้น และประสบความสำเร็จมากขึ้น และโครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริตยืนยันว่าจะมีการรายงานต่อไป

“เงินที่ไม่โปร่งใส่หมายถึงอำนาจที่ไม่โปร่งใส” โครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริตระบุก่อนย้ำว่า ระบบการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการรักษาความลับของลูกค้า มากกว่าการมีความรับผิดชอบ โดยหลายธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์มีประวัติในการรับลูกค้าที่มีชื่อเสียงย่ำแย่ ตั้งแต่เผด็จการนาซีในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่อยมาจนถึงเผด็จการที่ชั่วร้ายที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน

โครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริตยืนยันว่า หลักฐานหลายชิ้นของตน ตั้งแต่ลูกค้าของเครดิตสวิสที่เป็นลูกชายของเผด็จการอาเซอร์ไบจานที่ได้รับเงินหลายล้านเหรียญจากการฟอกเงิน ไปจนถึงการช่วยให้ชนชั้นนำของเวเนซูเอลาสามารถนำเงินที่โกงมาจากบริษัทน้ำมันนำมาหลบซ่อน ตลอดจนเงินจากพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ในเซอร์เบีย ความสัมพันธใกล้ชิดกับชนชั้นนำในอาหรับที่กดขี่ประชาชน ช่วยชี้ชัดให้เห็นว่า ธนาคารเครดิตสวิสมีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อเงินของอาชญากรต่างๆ


สวิตเซอร์แลนด์เสี่ยงติดบัญชีดำของสหภาพยุโรป

หลังจากข้อมูลที่รั่วไหลออกมาจากธนาคารเครดิตสวิส พรรคการเมืองขนาดใหญ่ของรัฐสภายุโรปได้ชูประเด็นเพื่อพิจารณาการขึ้นบัญชีดำสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งอาจจะกระทบต่อภาคการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ทั้งประเทศ

พรรคประชาชนยุโรป (EPP) ซึ่งเป็นพรรคขนาดใหญ่ในรัฐสภายุโรปได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปทบทวนความสัมพันธ์ของตนเองกับทางสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากข้อมูลของ SuisseSecret ถูกแฉออกมา โดยข้อเสนอดังกล่าวรวมถึงการพิจารณาในการเพิ่มสวิตเซอร์แลนด์เข้าไปยังประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในด้านอาชญากรรมทางการเงินในระดับสูง

หากสวิตเซอร์แลนด์ถูกขึ้นบัญชีดำ ให้เป็นประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญกรรมทางด้านการเงินในระดับสูง ภาคการเงินของสวิตเซอร์แลนด์อาจพบกับหายนะในภาคธุรกิจของตนเอง และจะต้องเผชิญหน้ากับการถูกตรวจสอบเส้นทางการเงิน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศอันธพาลต่างๆ เช่น อิหร่าน เมียนมา ซีเรีย และเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ไม่ออกความเห็นเพิ่มเติมถึงการชูประเด็นพิจารณาของพรรคประชาชนยุโรปในรัฐสภายุโรป แต่ยืนยันว่าประเทศของตนมีมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านภาษี การฟอกเงิน การจัดหาเงินทุนของผู้ก่อการร้าย และการทุจริตในระดับนานาชาติ

หากสวิตเซอร์แลนด์ถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศความเสี่ยงสูงในการมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางด้านการเงิน ผู้ประกอบสาขาอาชีพต่างๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ เช่น นายธนาคาร ทนายความ และนักบัญชี จะต้องถูกดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะขั้นสูงในการทำธุรกรรมหรือการมีความสัมพันธ์ทางการธุรกิจกับบุคคลหรือบริษัทในประเทศ

สวิตเซอร์แลนด์ขึ้นชื่อเรื่องการแอบมีตู้เซฟลับ หรือเป็นแหล่งหลบซ่อนเงินจำนวนมหาศาลที่มีส่วนพัวพันเกี่ยวกับการทุจริตในประเทศต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทยเอง อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัด หรือการออกมายอมรับจากบุคคลต้องสงสัยในไทยอย่างเปิดเผยถึงบัญชีลับๆ ดังกล่าว 

ที่มา:

https://www.occrp.org/en/suisse-secrets/

https://www.occrp.org/en/suisse-secrets/what-is-suisse-secrets-everything-you-need-to-know-about-the-swiss-banking-leak#1-what-is-suisse-secrets

https://www.theguardian.com/news/2022/feb/20/credit-suisse-secrets-leak-unmasks-criminals-fraudsters-corrupt-politicians

https://prachatai.com/journal/2022/02/97343

https://www.theguardian.com/news/2022/feb/20/credit-suisse-secrets-leak-raises-painful-questions-for-the-bank

https://www.theguardian.com/news/series/suisse-secrets

https://www.theguardian.com/news/2022/feb/21/switzerland-at-risk-of-eu-blacklist-after-credit-suisse-leak