เรื่องเล่าที่มาของ ‘ต่าย อรทัย’ ก่อนเป็น ‘ดอกหญ้าในป่าปูน’ จากปากของบุคคลสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้เธอเข้าไปนั่งอยู่กลางดวงใจมหาชน สะท้อนให้เห็นวิธีการปั้นนักร้องในอดีตยากและลำบากกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัว การปั้นคนธรรมดาๆ ให้กลายเป็นนักร้อง ‘ขวัญใจมหาชน’ ดูดีมีระดับ แน่นอนว่าต้องมีหลายองค์ประกอบ มีหลายบุคคลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง
'คนเราไม่สามารถเกิดจากกระบอกไม้ไผ่ได้ฉันใด ก่อนคนธรรมดาจะมาเป็นซูเปอร์สตาร์ก็ต้องมีผู้ผลักดันให้แจ้งเกิดฉันนั้น'
บุคคลหนึ่งที่มีส่วนสำคัญทำให้ ‘อรทัย ดาบคำ’ กลายมาเป็น ‘ต่าย อรทัย’ นั่งอยู่กลางดวงใจมหาชนมายาวนาน คือ ‘สงกรานต์ แข็งฤทธิ์’ หรือ ‘บ่าวข้าวเหนียว’ นักจัดรายการเพลงลูกทุ่งหมอลำชื่อดังในอดีต และเป็นอดีตผู้จัดการส่วนตัวของต่าย สมัยเป็นนักร้องสาวดาวรุ่งแจ้งเกิดกับแกรมมี่ โกลด์ ยืนยันว่า เขาเป็นนำพาดอกหญ้าจาก อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี เข้าสู่วงการ ส่วนผู้ที่ค้นพบยกเครดิตให้กับ ‘กบ เมืองดอกบัว’ ลูกน้องสมัยเป็นนักจัดรายการวิทยุ ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.บางเขน)
“ก่อนต่ายเข้าสู่งวงการ มีน้องจัดรายการอยู่ด้วยกันเขากลับบ้าน ไปเจอนักร้องที่อยู่ในวงหมอลำคณะนิวฟ้าอีสาน ก็คือต่ายไปร้องเพลงอยู่วงนี้ ตอนนั้นต่ายเรียนอยู่ ม.4 ปลายๆ น้องมาเล่าให้ฟังว่าเสียงดีมีแวว พี่ก็บอกว่าเอาเสียงมาฟังสิ กบก็เลยไปอัดเสียงมา แต่เขาอัดมาน้อยเกินไป พี่ก็ให้หัวหน้าวงคือ อบต.ก๋ง บ้านเม็กน้อย ใกล้ๆ กับ นาจะหลวยบ้านต่าย ไปจัดการเพิ่มเติม ต่ายก็อัดเสียงใส่เทปคลาสเซ็ทมา ซึ่งยังเก็บไว้จนถึงทุกวันนี้ กับรูปถ่ายเป็นรูปนักร้อง ส่งเข้ามาให้ฟังเพิ่มเติม ต่ายร้องมามีแต่เพลง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ฟังแล้วรู้สึกว่า เอออีนางนี้ลูกคอมันแปลกดี”
บ่าวข้าวเหนียว เล่าความเป็นมาของ ต่าย อรทัย ในมุมที่ยังไม่มีบันทึกในวิกิพีเดียต่อ สมัยเป็นดีเจที่ มก.บางเขน นอกจากจัดรายการแล้ว ยังมองหาคนที่มีแววมาปั้นเป็นนักร้องด้วย ช่วงที่ต่ายส่งเสียงมาให้ฟัง กำลังเจียระไน ‘ลาวัลย์ จันทร์เพ็ญ’ และนักร้องหนุ่มอีกคนที่มีน้ำเสียงคล้ายกับ ‘สาธิต ทองจันทร์’ รวมทั้งจัดประกวดร้องเพลง
“เฮ้ยหน้าตาอีนางนี้โอเคเลย” เขายอมรับว่า รู้สึกประทับใจหน้าตา และหน่วยก้านของเด็กสาวตั้งแต่ กบ เมืองดอกบัว พาต่ายมาพบกันครั้งแรกในเมืองหลวง
“พี่บอกว่าพาเข้ามากรุงเทพฯ สิ เขาก็ยกทีมกันมาหาพี่เลย มาทั้งพี่ทั้งน้อง คนอำเภอนาจะหลวยมากันเต็มเลย ตอนนั้นพี่อยู่ ป.กุ้งเผา รัชดา เฮียเปี๊ยก (ปัญญา ทองทัย) เจ้าของกับพี่สนิทกัน เขาให้พี่ไปบริหาร ป.อีสานตำนานเพลง พี่ก็ให้ต่ายไปหาและเทสต์เสียงที่นั่นเลย ครั้งแรกที่เห็นเป็นเด็กน้อยนักเรียน ม.ปลาย ที่น่ารัก ผมสั้น กลมไปหมด ยังไม่มีออร่านักร้องหรอก ยังไม่ได้ผ่านการแต่งแต้ม” บ่าวข้าวเหนียวเล่าต่อ
หลังจากนั้นเขาจึงคัดเพลงที่มีอยู่ในมือจำนวนหนึ่งให้เด็กสาว ม.ปลาย ร้องทันที มีเพลง 'สาวทุ่งกุลา' และ 'เอิ้นสั่งหลังสงกรานต์' หวังให้เป็นตัวแทนสะท้อนชีวิตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในภาคอีสาน
แต่กว่าการทำงานจะสำเร็จลุล่วงได้ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวหลายรอบ เนื่องจากรูปแบบการดำเนินชีวิตไม่ค่อยเอื้ออำนวย และเครื่องมือการทำงานมิได้ทันสมัย กว่าจะสร้างนักร้องได้แต่ละคนยากกว่าปัจจุบันนี้หลายเท่าตัว
“พอได้เจอกันแล้วเขาก็กลับบ้านนอก แต่ก็โทรติดต่อกันตลอด วิธีการโทรสมัยนั้น พี่ต้องโทรไปที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน เพราะว่าสมัยนั้นในชนบทไม่ค่อยมีโทรศัพท์ บ้านต่ายไม่มีโทรศัพท์ ผู้ใหญ่บ้านก็ไปตามต่ายให้ บางครั้งต่ายก็ไปอยู่ทุ่งนาไม่ได้อยู่บ้าน ไปตามก็วิ่งเข้ามารับ บางครั้งพี่ก็รอไม่ได้เพราะสมัยนั้นค่าโทรศัพท์ทางไกลมันแพง พี่วางสายแล้วโทรไปใหม่ โทรไปใหม่ก็ไปตามอีก กว่าจะได้คุยกันก็ไม่ง่ายแล้ว” เขาเล่าให้เห็นความยากลำบากตั้งแต่เริ่มลงมือ
ภาพสาวบ้านเชียง-บ่าวข้าวเหนียว
“ตอนนั้นสอนการร้องเพลงต่ายทางโทรศัพท์ บอกวิธีการร้องเพลง ควรออกเสียงแบบไหน ร้องเป็นจริง แต่ยังไม่รู้เทคนิค เทียวโทรไปสอนทุกอย่างหลายเดือน แต่ละครั้งไม่นานให้เขาเอาไปทำการบ้าน ให้เขาร้องให้ฟังในครั้งถัดไป บางครั้งต่ายก็เป็นฝ่ายโทรมาหาเพื่อร้องให้ฟัง แล้วก็ถามว่าใช่แบบนี้ไหม”
เคี่ยวกันจนได้เนื้อได้หนังมากขึ้น จึงเรียกเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง โดยมีป้าของต่าย ซึ่งปัจจุบันบวชเป็นแม่ชีเป็นผู้พาเข้ามา และอนุญาตให้หลานสาวมาอยู่ภายใต้การดูแลของเขา และ ‘พรพิมล พันธุ์รัตน์’ หรือ ‘ดีเจสาวบ้านเชียง’ ภรรยา วันนั้นมีการทำสัญญากันแบบแฟร์ๆ โดยให้ต่ายเป็นคนเขียนเองต้องการแบบไหนอย่างไร
“จากวันนั้นพี่ก็ป้อนเพลงให้ซ้อม เขาก็เทียวไปเทียวมา เวลาปิดเทอมก็มา เวลาเปิดเทอมก็ไปเรียนหนังสือ จนเขาเรียนช่วงปลาย ม.5 ประมาณปี พ.ศ. 2538-2539 พี่บอกต่ายถ้าเรียนจบเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ไหม ตอนนั้นเขาอยากเรียนต่อราชภัฎอุบลฯ ถ้าอย่างนั้นไม่เป็นไรเทียวไปเทียวมาเอาก็ได้ แต่เรียนแล้วไม่มีเงินเรียน พี่บอกให้เข้ามากรุงเทพฯ มาอยู่กับครอบครัวพี่ อัดเพลงให้ที่ห้องซีเอ”
ผลงานชุดแรกของต่ายไม่ได้ทำกับแกรมมี่ฯ ตอนนั้นบ่าวข้าวเหนียวทำเองก่อนประมาณ 10 เพลง ให้ ‘มะโหนก’ นักดนตรีทีมของ ‘สิน สระบุรี’ (โบรคเกอร์ขายงานศิลปินในปัจจุบัน) ที่ตอนนั้นทำงานอยู่ด้วยกันเป็นคนทำดนตรี
หลังจากใส่เสียงเสร็จแล้วทุกเพลง พอมาฟังรู้สึกว่าดนตรียังไม่ถูกใจ บังเอิญช่วงนั้น นายห้างค่ายพีจีเอ็ม (ค่ายพีจีเอ็ม เร็คคอร์ด) ที่ทำ ‘ศิริพร อำไพพงษ์’ ยุคแรก อยู่แถวห้วยขวาง เรียกไปช่วยทำงาน เป็นโปรดิวเซอร์ ทำหมอลำหลายคน อาทิ อาจารย์ประสาน เวียงสิมา จึงเอาอัลบั้ม เอิ้นสั่งหลังสงกรานต์ มีเพลงสาวทุ่งกุลา ให้ ‘อาจารย์สวัสดิ์ สารคาม’ และ ‘อาจารย์หมู-กิตติศักดิ์ สายน้ำทิพย์’ ทำดนตรีให้ 2 ทีม เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เห็นว่า เด็กสาวจากเมืองดอกบัว มีแนวทางที่จะก้าวไปข้างหน้าขึ้น แต่เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงขาลงของค่ายพีจีเอ็มฯ ขณะที่เพลงชุดนี้กำลังจะถูกนำออกโปรโมท เกิดความขัดแย้งจึงต้องเลื่อนกำหนดทำคลอดออกไป
บ่าวข้าวเหนียวจึงแก้ลำ เดินเครื่องเชียร์เพลงของต่าย ด้วยการนำไปเปิดในรายการวิทยุ มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ที่มีแฟนติดตามรายการจำนวนมาก รวมทั้งพาต่ายไปเยี่ยมแฟนๆ จนเริ่มมีกระแสตอบรับเป็นที่น่าพอใจ
ขณะเดียวกันเขาก็ส่งผลงาน ไปให้ ‘ดีเจแหมบ’ พรรคพวกนักจัดรายการคนดังในอดีต และ ‘หำ-เฉลิมพล มาลาคำ’ นักร้องลูกทุ่งหมอลำคนดัง เจ้าของฉายา ‘หมอลำอัจฉริยะ’ ช่วยตีเกราะเคาะข่าวจนเข้าหู ‘ครูสลา คุณวุฒิ’ นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์คนดังของค่ายแกรมมี่ โกลด์
“ตอนนั้น หำ-เฉลิมพล แนะนำว่า อย่าเป็นเลยนายห้าง (เจ้าของค่าย) ให้สลาเอาไปเข้าแกรมมี่ฯ ดีกว่าไหม ก็เลยได้นัดเจอกันกับอาจารย์สลาในเวลาต่อมา จึงเป็นที่มาที่ต่ายได้รู้จักกับอาจารย์สลา พอเรารู้จักกันแล้วก็คุยกัน พี่บอกว่าเพลงผมทำแล้ว ลงทุนแล้ว จะทำอย่างไรดี อาจารย์สลาบอกว่า จะขอให้ทางบริษัทซื้อมาสเตอร์ให้ เพลงในอัลบั้มเอาเป็นไปเป็นชุดแรกของแกรมมี่ฯ...พี่บอกอีกว่า ถ้าจะเอาต่ายไปเลยผมไม่ให้นะ เพราะผมสอนต่ายหลายอย่างมานานหลายปี ตั้งแต่ประมาณ ปี 2538 ผมสอนและดูแลมาตลอด ก็ตกลงว่าถ้าอย่างนั้นก็เข้ามาอยู่ในแกรมมี่ฯ ด้วยกัน มาดูแลงานเป็นฝ่ายผู้จัดการ”
จากนั้นมาการทำงานเพื่อปลูกดอกหญ้าให้เติบโตเริ่มเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น ในช่วงแรกของการโปรโมท บ่าวข้าวเหนียวปฏิวัติการทำงานค่ายเพลงยักษ์ใหญ่หลายด้าน เพราะรู้ความต้องการพื้นฐานแฟนเพลงอีสาน จากประสบการณ์การเป็นนักจัดรายการวิทยุชั้นนำมายาวนาน
มีการปรึกษาหารือกับครูสลาต่อเนื่องว่า ควรทำเพลงอย่างไรให้กับต่าย โดยตีกรอบขึ้นมา ‘อยากให้เป็นนักเรียนนักศึกษาที่มาร้องเพลงลูกทุ่ง’ ไม่ใช่แค่สาวชาวบ้านธรรมดามาร้องเพลง เพราะในยุคนั้น เพลงลูกทุ่งยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของนักเรียนนักศึกษาซึ่งเป็นวัยรุ่น ใครร้องเพลงลูกทุ่งถูกมองว่าเป็นอีกระดับหนึ่ง
“เราจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ยอมรับตรงนี้” บ่าวข้าวเหนียวย้ำคอนเซ็ปกับครูสลา ก่อนที่เขา ครูสลา อาจารย์แพงคำ และ อ๋อน มหาสนุก มีนัดกินข้าวกันที่ ห้างเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว บนโต๊ะอาหารมื้อนั้น อาจารย์แพงคำ พูดออกมาว่า ในความคิดส่วนตัวอยากให้ 'ต่าย อรทัย เปรียบเสมือนดอกหญ้าที่มาเติบโตในเมืองหลวง'
ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า “แม่นแล้ว” จึงเป็นที่มาของคำว่า 'ดอกหญ้าในป่าปูน' และเป็นคอนเซ็ปต์การทำงาน เพื่อใช้ชูนักร้องสาวให้โดดเด่น จนสามารถปลูกดอกหญ้าให้ชูช่อสวยงามกลางเมืองใหญ่ได้สำเร็จ
ส่วนเรื่องประกวดร้องเพลงสมัยที่ต่ายเป็นเด็กน้อย เคยไปประกวดจริง แต่ว่า ห่างจากความเป็นมาในมุมนี้มาก เป็นการรวบรัดประวัติ ตัดทอนระยะทางเพื่อการประชาสัมพันธ์ว่า ไปประกวดร้องเพลงได้เจอกับครูสลา และได้เข้าแกรมมี่ฯ
บ่าวข้าวเหนียว ในวัย 58 ปี ออกจากกรุงมาปักหลักอยู่ที่ จ.อุดรธานี เล่าเพิ่มเติมอีก ก่อนประสบความสำเร็จเส้นทางของต่ายเป็นไปอย่างยากลำบาก มีอุปสรรคมากมาย เคยขายของ ขายเสื้อผ้ามือสองในตลาด แต่โชคดีที่เธอมีความพิเศษเฉพาะตัว แบบที่ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร ทำให้เธอสามารถผ่านบททดสอบจากสวรรค์ เป็นดาวกลางดวงใจมหาชน ตั้งแต่เปิดตัวกับค่ายยักษ์ใหญ่จวบจนถึงปัจุบัน
“จุดเด่นของต่าย ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ หนึ่งสิ่งที่เราบอกเราสอนเขาทำได้ทุกอย่าง การร้องเพลง เด็กน้อยที่จะสอนให้ร้องเพลงต้องร้องแบบนี้ เอื้อนแบบนี้ ได้แบบต่ายหายาก ที่พิเศษสุดๆ คือลูกคอแตกต่างจากนักร้องยุคนั้นเลย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ฟังแล้วมีเสน่ห์ ที่คัดเอาต่ายมาเป็นนักร้องคือจุดนี้เลย อีกอย่างหนึ่งหน้าตาของเขาเป็นหน้าตาซื่อๆ เหงาๆ นางเอกๆ ทำอย่างไรก็เป็นตัวโกงไม่ได้ พอมาได้เพลงที่เข้ากับชีวิต สร้างตัวตนได้ชัดเจนเลยคือชุดแรก ดอกหญ้าในป่าปูน ตอนแรกเน้นเพลงนี้ ก่อนจะเปลี่ยนมาเน้นเพลงโทรหาแหนเด้อ เพราะพี่เห็นว่าในยุคนั้นโทรศัพท์กำลังมาแรง”
“ที่สำคัญคือการโปรโมท เปลี่ยนรูปแบบใหม่ จากที่แกรมมี่ไปจังหวัดนั้นวิ่งไปหาคนนี้ ไปจังหวัดนี้วิ่งไปหาคนนั้นไม่กี่จุด แต่พี่มองว่าในแต่ละจังหวัดยังมีอีกนะ พี่ก็ออกไปหานักจัดรายการที่แม่นๆ เพื่อขยายฐาน ต่อมามีวิทยุชุมชนอีก ก็ไปเจาะวิทยุชุมชนในอีสาน และทั่วประเทศ ส่วนมากเป็นคนที่เรารู้จักอยู่แล้ว ยิ่งทำให้การโปรโมทง่ายขึ้น โดยการใช้ทุนเท่าเดิม แต่ได้ช่องทางโปรโมทมากขึ้น ลึกๆ เลยตรงนี้ทำให้รู้สึกภูมิใจ เพราะพอเราทำต่ายดังแล้ว ก็ทำ มนต์แคน (มนต์แคน แก่นคูน) ศร (ศร สินชัย) ดัง เพราะว่าสื่อที่เราไปสร้างเครดิตให้ เขาให้การช่วยเหลือ ร้องเพลงดี มีเพลงดี ถ้าไม่ได้การโปรโมทจากสื่อกลุ่มที่รักเราทั่วประเทศก็ไม่ง่าย”
บ่าวข้าวเหนียว กล่าวอีกว่า จากเรื่องราวความเป็นมาของ ต่าย อรทัย สะท้อนให้เห็นการสร้างนักร้อง และการสร้างสรรค์งผลงานในอดีตจากปัจจุบันมีความแตกต่างกันคนละเรื่อง สมัยก่อนการทำเพลงต้องมีทุนซึ่งมาจากนายห้างหรือเจ้าของค่าย
คุณสมบัติของคนเป็นนายห้าง ต้องมีทุน ต้องกล้า และนายห้างในอดีตมีเพียงไม่กี่คน เพราะค่ายเพลงที่นักร้อง และผลงานมีมาตรฐานเป็นที่อยู่รับมีเพียงไม่กี่ค่าย การทำงานแต่ละชิ้นต้องมีการวางแผนที่ดี มีสื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงเป้า
“สมัยก่อนใช้เงินว่ากันเลย จังหวัดนี้งบเท่านี้ จังหวัดนี้เอาไปเท่านี้ เลือกมาเลยมันง่าย ก่อนมาถึงยุคสื่อโซเชียลขอพูดถึงยุควิทยุชมชนก่อน ยุควิทยุชุมชนบริษัทหรือนายห้างจะไปใช้เงินแบบเดิมไม่ได้นะเจ๊งตาย”
เขาเผยความคิดเห็นส่วนตัว อันที่จริง ‘แผ่นเสียง’ หรือ ‘ซีดี’ ตายตั้งแต่ยุควิทยุชุมชน ก่อนที่จะสื่อโซเชียลจะเข้ามามีอิทธิพลสำคัญกับความเคลื่อนไหวของโลกใบนี้ เพราะไม่สามารถหอบเงินไปจ้างเปิดเพลงได้ทั่วถึง เนื่องจากวิทยุชุมชนมีจำนวนมาก แต่ละจังหวัดมีวิทยุชุมชนมากกว่า 100-200 คลื่น เป็นที่มาทำไมค่ายเพลงหลายค่ายจึงเจ๊งไป
ต่อมามีสื่อโซเชียล เป็นยุคที่ใครก็สามารถเป็นนายห้างได้ คนทั่วไปสามารถนำเสนอเพลงตนเอง และเลื่อนขั้นขึ้นมาเป็นนักร้องได้ ถ้าเก่งจริง เพราะการผลิตผลงานและการโปรโมทไม่ต้องใช้ทุนมาก ร้องเพลงอัดคลิปวิดีโอตามท้องไร่ท้องนา นำมาปล่อยลงสื่อโซเชียลก็มีโอกาสเป็นคนดังได้เพียงข้ามคืน
แต่คนที่ดังเปรี้ยงเป็นนักร้องมีงานหาเงินได้ ก็ต้องมีความพิเศษ คือ หนึ่งตัวนักร้องใช่ไหม เพลงโดนไหม ช่องทางการสื่อสารที่นำเสนอผลงานออกไปมีคนติดตามเท่าไร สำคัญคือมีคนติดตามเทาไร คาดว่าอีกไม่นาน น่าจะมีการซื้อขายช่องกัน ใครสามารถทำช่องให้มีคนติดตามมากที่สุด ก็อาจจะขายช่องได้ในราคา 1-2 แสนบาท นั่นคืออนาคต หรืออาจจะมีเกิดขึ้นแล้วก็เป็นได้
จึงมองว่า ยุคนี้เป็นยุคของการทำงาน ที่เปรียบเทียบแล้วก็แบบที่เขาเรียกกันว่า ‘อินดี้’ นั่นเอง คือใครก็ทำได้ แต่ทำให้ประสบความสำเร็จก็ต้องใช้วิชาพอสมควร
เวลาเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยน หลังจากแยกทางกับสาวดอกหญ้า บ่าวข้าวเหนียวมีความพยายามสร้างศิลปินขึ้นมาประดับวงการต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมีเพียง ‘ใบตอง จันทร์งาม’ ที่มีความโดดเด่น เพราะเน้นการทำงานแบบมีคุณภาพมากกว่าปริมาณ ล่าสุดเขากำลังตั้งใจปั้น ‘ยอดข้าว อารียา’ สาวลูกอีสานวัย 15 ปี มีพ่อแม่เป็นชาว จ.ศรีสะเกษ กำลังเรียนชั้น ม.3 ที่เขามองว่ามีแววรุ่ง และมีเสียงดีไม่แพ้ต่ายในช่วงแรกที่โคจรมาเจอกัน
“ตั้งแต่พี่อยู่ในวงการมา นอกจากต่ายแล้ว พี่ไม่เคยเจอคนที่มีเสียงใช่แบบอีนางนี้ วิธีการทำงานแน่นอนต้องเปลี่ยนไปจากสมัยเราปั้นต่าย อรทัย แต่ก็ต้องอิงอันเก่าเอาไว้ วันนี้เราทำงานแบบอินดี้ แต่ก็ต้องทำให้เป็นอินดี้ที่มีคุณภาพ ร้องคุณภาพ ดนตรีคุณภาพ ทำให้เป็นเพลงอินดี้ที่สามารถฟังได้ทุกคน ทุกสาขาอาชีพ ตั้งใจจะทำให้เป็นอินดีแนวใหม่ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า กระแสการเข้าชมอาจจะไม่มากนะ แน่เพลงฟังแล้วรื่นหู อย่างเพลงที่ปล่อยออกไปแล้ว มีชื่อว่า บ่หลูโตนใจ ก็มีคนทักมาชื่นชมผลงาน จนตอนนี้น้องย้ายจากโรงเรียนบางกะปิ มาเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดอุดรธานี พ่อแม่เขาที่เคยขายหอดทอดผัดไท แถวลาดพร้าว ก็ย้ายมาขายที่นี่”
ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ unsplash และแกรมมี่โกลด์