ไม่พบผลการค้นหา
บาทกลับมาแข็งค่าหลุด 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อีกครั้ง นักวิเคราะห์ต่างชาติมองว่ามาจากแนวโน้มการท่องเที่ยว ขณะที่นักวิเคราะห์ไทยชี้มาจากปัจจัยการส่งออกเป็นหลัก

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าสกุลเงินบาทไทยกลับมาแข็งค่าอีกครั้งในช่วงเดือน พ.ค. โดยแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.5 ไปอยู่ที่ 31.872 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร 19 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่อ่อนตัวมาตลอดทั้ง 4 เดือนแรก ถึงกว่าร้อยละ 7 

นักวิเคราะห์ให้เหตุผลกลับการกลับมาครั้งนี้ว่านักลงทุนต่างชาติจำนวนหนึ่งมองว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศจะเริ่มกลับมาหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับเศรษฐกิจประเทศที่เริ่มกลับมาดำเนินการ 

เงินบาท

‘ฟรานเซสเชิง’ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์มหภาคฝั่งเอเชียจากธนาคคารเวสท์แพคในสิงคโปร์ ชี้ว่า ยิ่งวัคซีนเป็นที่แพร่หลายมากเท่าไหร่ ก็หมายความว่าผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมค้าปลีก และการท่องเที่ยว สกุลเงินที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้จึงตอบสนองได้รวดเร็ว 

ขณะที่ ‘ยานซีทาน’ นักกลยุทธ์การแลกเปลี่ยนต่างประเทศจากธนาคารเมย์แบงก์ คาดการณ์ว่าเงินบาทไทยจะหลุดลงมาอยู่ที่ราว 31.7 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่สถานการณ์โรคระบาดค่อยๆ ดีขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากความรู้สึกมั่นใจของนักลงทุนที่มีมากขึ้นจากข่าวคราวเรื่องวัคซีนที่ออกมาเป็นระยะ

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งนักวิเคราะห์ไทย นายจิตติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ให้สัมภาษณ์กับ ‘ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์’ ประเมินว่า ปัจจัยหลักที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกครั้งน่าจะอยู่ที่ภาคการส่งออกของไทยที่เริ่มกลับมาดำเนินการได้ค่อยข้างดี เนื่องจากไทยไม่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเหมือนในฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ

ขณะที่ปัจจัยเรื่องการท่องเที่ยวนั้น นายจิตติพล มองว่า อาจจะเป็นปัจจัยรองเนื่องจากแม้สถานการณ์ในไทยจะดีขึ้นบ้างแล้วแต่การคาดหวังนักท่องเที่ยวจากฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อาจจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจากแถบนั้นในช่วงปลายเดือน มิ.ย.ไปแล้ว 

แม้นักวิเคราะห์ทั้งไทยและต่างชาติจะมองเห็นอนาคตที่ดีรอเอาไว้สำหรับสกุลเงินบาทไทย แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนั้นอาจไม่สามารถมองได้ในแง่ดีขนาดนั้น ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ออกมาเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศประจำไตรมาส 1/2563 ติดลบที่ร้อยละ 1.8 ซึ่งนับเป็นการติดลบครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1/2557 อีกทั้งยังประเมินว่าจีดีพีทั้งปีของไทยจะติดลบถึงร้อยละ 5.5 

อ้างอิง; Bloomberg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;