ไม่พบผลการค้นหา
วิกฤตปัจจุบันกระทบร้านอาหารทั่วโลก กิจการราเมงในญี่ปุ่นล้มละลายเพิ่ม ขณะอาหารไทยปิดกิจการ-รายใหญ่ปลดคนงาน ผู้บริหารไมเนอร์แนะรับนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาอย่างเร่งด่วน

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่ขยายตัวขึ้นมาเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลายฝ่ายยังประเมินว่าธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารอาจสามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะเป็นสินค้าประเภทปัจจัย 4 ในชีวิตมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจรวมไปถึงงานวิจัยหลายแห่งสะท้อนข้อมูลที่แตกต่างออกไป

เทอิโกกุ บริษัทวิจัยด้านเครดิตของญี่ปุ่นรายงานว่า ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา มีร้านราเมงทั้งสิ้น 34 รายที่ยื่นเรื่องล้มละลายในดินแดนอาทิตย์อุทัย ด้วยมูลค่าหนี้อย่างต่ำ 10 ล้านเยน หรือประมาณเกือบ 3 ล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับตัวเลขปีก่อนหน้า ที่มีร้านค้าเพียง 36 แห่ง ยื่นล้มละลายตลอดทั้งปี 

ญี่ปุ่น-ร้านราเมง-unsplash.

เท่านั้นยังไม่พอ นักวิเคราะห์มองว่า สถานการณ์วิกฤตในกลุ่มร้านราเมงของญี่ปุ่นอาจทะลุขึ้นไปสูงถึง 50 ร้านค้าในปีนี้ หากการแพร่ระบาดยังดำเนินไปเช่นเก่า โดยมีปัจจัยบั่นทอนสำคัญจากเชื้อโควิด-19 ผสมรวมกับการแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาดราเมงด้วยกันเองที่ก่อนหน้านี้หวังกินส่วนแบ่งจากลูกค้าชาวต่างชาติ 

กลับมาที่ประเทศไทย แม้ไม่ได้มีข้อมูลระบุไว้อย่างชัดเจนจากสถิติของศาลล้มละลายกลาง แต่รายงานการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สามารถสะท้อนภาวะไม่สู้ดีของตลาดการขายอาหารได้เช่นเดียวกัน 

ข้อมูลล่าสุด ณ เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ประกอบการเลิกประกอบกิจการทั้งสิ้น 1,337 ราย คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 6% เมื่อเทียบกับตัวเลขในเดือน ก.ค. 2563 โดยคิดเป็นมูลค่าทุนรวม 5,400 ล้านบาท 


ร่วง ลับ ดับ?

ในจำนวนข้างต้น ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารเลิกกิจการมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ที่สัดส่วน 3% รองมาจาก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอันดับที่ 2 และธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปซึ่งรั้งอันดับ 1 ตัวเลขการยกเลิกกิจการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมามองในมิติของขนาดธุรกิจ กว่า 94% ของผู้ประกอบการที่ไปต่อไม่ไหวล้วนเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ที่มีเงินทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท ทั้งสิ้น ขณะที่บริษัทซึ่งมีทุนจดทะเบียนระหว่าง 5-100 ล้านบาท ไม่ดำเนินกิจการต่อเพียง 4.9% ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และตัวเลขดังกล่าวลดลงอยู่แค่ 0.6% สำหรับธุรกิจที่มีทุนสูงกว่า 100 ล้านบาท

อาหาร-การบริโภค

ไม่เพียงร้านค้าหรือภัตตาคารได้รับผลกระทบอย่างมาจากสถานการณ์ปัจจุบัน แต่กลุ่มร้านค้าเหล่านั้นที่มีเงินทุนไม่สูงยิ่งกลายเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด

ขณะที่มาตรการเยียวยาจากรัฐ โดยเฉพาะโครงการเสริมสภาพคล่องอย่างสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนแจกจ่ายได้จริงแค่เพียง 7 หมื่นรายเท่านั้น ด้วยมูลค่าสินเชื่อราว 1.1 แสนล้านบาท จากวงเงินรวม 5 แสนล้านบาท 

หากย้อนกลับไปดูตัวเลขช่วงเดือน มี.ค. 2563 จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม สตรีตฟู้ดถูกจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจน่าจับตามองประจำปีนี้ โดยมีจำนวนผู้ประกอบการทั้งสิ้น 1.6 หมื่นราย แบ่งเป็นใน กรุงเทพฯ ราว 7,000 ราย และอีก 9,900 รายในต่างจังหวัด 

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ จากจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดนั้น 98.73% อยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก อีกทั้ง ผลประกอบการยังไปกระจุกตัวอยู่ใน 3 จังหวัดสำคัญ ได้แก่ กทม., ภูเก็ต และชลบุรี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รับรู้ผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการปิดประเทศในช่วงที่ผ่านมา

ตามข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตัวเลขนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเป็นศูนย์ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หรือคิดเป็นรายได้ที่หายไปเฉลี่ย 1.5 แสนล้านบาท/เดือน


รายใหญ่พร้อม ‘ปลด’ เพิ่ม

อีกประเด็นที่ไม่ฉีกจากผลกระทบของเศรษฐกิจที่ซบเซาคือการปลดคนงานโดยเฉพาะในเครือบริษัทใหญ่ รายงานล่าสุดจากบลูมเบิร์กชี้ว่า ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT มีแนวโน้มปลดคนงานของโรงแรมในเครือมากกว่า 500 ราย ทั่ว 55 ประเทศ ที่บริษัทเข้าไปทำธุรกิจ 

บิล ไฮเน็ค นักธุรกิจสัญชาติไทยเชื้อสายเยอรมัน ผู้ก่อตั้งเครือไมเนอร์ กล่าวว่า บริษัทมีโรงแรมจำนวนมากที่ไม่สามารถจ่ายเงินให้พนักงานหรือแม้แต่ค่าไฟได้เพราะไม่มีลูกค้าเข้าไปใช้บริการเลย ด้วยเหตุนี้ “เราจึงปรับลดคนงานไปพอสมควรและอาจจะต้องปลดออกเพิ่มอีก”

ผลประกอบการของไมเนอร์ในไตรมาส 2/2563 ปรับตัวต่ำที่สุดในรอบปีนี้ ติดลบถึง 8,450 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทยังปลดพนักงานไปแล้วมากกว่า 1,000 ตำแหน่ง สังเวยมาตรการปิดน่านฟ้าและไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่ ไฮเน็ค ชี้ว่า แนวนโยบายของรัฐบาลชัดเจนมากว่ายังไม่ต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้ามา และอยากจะคงไว้ซึ่งระดับการติดเชื้อเป็นศูนย์

อนุทิน กระทรวงสาธารณสุข โควิด 2502.jpg
  • อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
“การปิดผนึกประเทศมีราคาทางเศรษฐกิจที่ต้องจ่ายเช่นเดียวกัน” ไฮเน็ค ชี้

เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจในประเทศจีนซึ่งเริ่มกลับเข้าสู่ระดับเดียวกับก่อนเกิดโควิด-19 ผู้ก่อตั้งไมเนอร์ย้ำว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลจีนเปิดให้ผู้คนเดินทางออกนอกประเทศอย่างเสรี ตนเองหวังอย่างจริงจังว่ารัฐบาลไทยจะเปิดประเทศให้กลุ่มนักท่องเที่ยวสำคัญเหล่านี้เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจประเทศที่ “กำลังอยู่ในหายนะ” 

อ้างอิง; NHK, Bloomberg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;