แม้ปัจจุบันเขาจะมีฐานะเป็นประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย แต่ภาพจำของ 'สมชัย ศรีสุทธิยากร' ก็ไม่อาจสลัดหลุดจากบทบาทที่เขาเคยทำหน้าที่ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ในปี 2557 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่คนไทยก้าวเข้าคูหาเลือกตั้งอย่างลำบากลำบนที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
คงเป็นบุคลิกของเขาเองด้วย ที่ทำให้ยิ่งถูกจับตามอง อาศัยความกล้าท้าทาย วิจารณ์ทุกฝั่งฝ่ายไม่เลือกหน้า รวมทั้งข้อคิดเห็นทางโซเชียลมีเดียส่วนตัว ซึ่งถือได้ว่าเรียกแขก หรือ ‘ทัวร์’ มาลงได้ไม่เว้นวัน จนบางครั้งก็ถูกกระแสตีกลับ เนื่องจากสังคมยังไม่คุ้นเคยกับ กกต. ที่ ‘ปากแจ๋ว’ เช่นนี้
“อย่าคิดเพียงแต่ว่า ตำแหน่ง กกต. นั้น เป็นตำแหน่งหลังเกษียณของข้าราชการ เหมือนคุณรับราชการมาครบ 60 ปี แล้วไปหาแหล่งที่อยู่ใหม่ จะได้มีเงินเดือนเลี้ยงชีพต่อไป” สมชัย ฝากแง่คิด “ทำงานไปวันๆ ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ไม่เป็นผลดีต่อทั้งประเทศชาติ และแม้กระทั่งต่อชื่อเสียงของคุณเอง”
ด้วยความแข็งกร้าวนี้เอง เมื่ออิทธิพลของ คสช. เริ่มแผ่ปกคลุม เขาก็กลายเป็น ‘กกต.’ คนแรก – และอาจจะคนสุดท้าย? ที่ถูกปลดจากตำแหน่ง ด้วยอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 หรือ ม.44 เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 61 จากคำสั่งหัวคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2561 ด้วยข้อกล่าวหามีพฤติกรรมไม่เหมาะในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
‘วอยซ์’ ชวนอดีต กกต. ย้อนไปบันทึกเรื่องราวหลังฉาก เมื่อปี 2557 หลังรัฐบาล ‘แลนด์สไลด์’ ถูกบีบให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 ซึ่งเป็นเวลาที่ผ่านมา 9 ปีเต็ม จากเหตุการณ์ม็อบนกหวีดเข้าปิดล้อมทุกหน่วยเลือกตั้ง ไปจนถึงข้อครหาต่อ กกต. ว่าจงใจยื้อเลือกตั้งหรือไม่ จนที่สุดเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ ก่อนจะถูก ม.44 ปลดฟ้าผ่า และมายืนอยู่ตรงข้ามรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ อย่างเป็นทางการ
เวลานั้นสังคมมีความขัดแย้งสูง และเป็นความคิดทางการเมืองของคน 2 ฝ่าย ซึ่งมุ่งทำลายซึ่งกันและกัน ไม่ได้เพียงแค่เอาเหตุผล เอาคำพูดมาโต้เถียงกัน แต่เป็นการใช้กำลัง และทำให้เกิดความสูญเสียต่อประชาชนคนไทย ก่อนที่ผมจะเป็น กกต. วิกฤตการณ์ความขัดแย้งแบบนี้ต่อเนื่องมาเป็นปี และสูงขึ้นเรื่อยๆ การเป็นความรุนแรงถึงขั้นว่า จะเอาชีวิตซึ่งกันและกัน เช่น ฝ่ายหนึ่งชุมนุม ก็มีการขว้างระเบิดเข้าไป ปะทะกัน ใช้อาวุธสงคราม
ในฐานะที่เป็น กกต. เราหนักใจที่สุดคือ เราจะจัดการเลือกตั้งให้สงบ สันติ และจบ เป็นที่ยอมรับของคนทุกคน คำว่าจบไม่ใช่เพียงแค่ว่า หย่อนบัตร นับคะแนนเสร็จ แต่จบแล้วต้องเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับ และเดินหน้าต่อ ภายใต้กติกาของการเลือกตั้ง คือใครชนะก็มาเป็นรัฐบาลต่อไป จุดนี้ลำบากมากในการทำงานยุคนั้น
คนชอบบอกว่า กกต. อำนาจล้นฟ้า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ประกาศวันเลือกตั้งออกมาแล้ว กกต. สั่งใครก็ได้ในแผ่นดิน ความจริงคือสั่งไม่ได้ สั่งก็ไม่เชื่อ ขอความร่วมมือก็ไม่ให้ นี่คือสภาพปัญหาซึ่งเกิดขึ้น ณ วันนั้น ในสภาพสังคมซึ่ง 2 ฝ่าย ขัดแย้งกัน ฝ่าย กปปส. ใช้ความรุนแรง ไปยึดสถานที่ราชการ ยึดที่ทำงาน กกต. ไปกดดันให้คนฝ่ายที่อยากจะร่วมมือกับ กกต. ไม่กล้าให้ความร่วมมือ
เวลาจัดเลือกตั้ง เราต้องมีทั้งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) แต่ กปน. ในภาคใต้ รับกี่ครั้งก็ลาออกหมด เพราะเกิดสภาพการกดดันว่าต้องไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ไปยุ่งเกี่ยว และสถานที่ในการจัดการเลือกตั้ง ไม่มีใครให้ความร่วมมือกับเราเลย ส่วนราชการก็ไม่ให้ เอกชนก็ไม่ให้ โรงเรียน มูลนิธิ ศาลเจ้า ก็ไม่ให้ เพราะกลัวจะนำอันตรายมาสู่เขา ถ้าให้เราใช้เลือกตั้ง แล้วสถานที่เขาเสียหาย ถูกทุบทำลายไป เขาก็เกรงกลัว ปฏิเสธเราอย่างเดียว แม้กระทั่งค่ายทหารยังปฏิเสธมา
ในสภาพของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เหมือนว่าทุกฝ่ายไม่สามารถให้ความร่วมมือกับการจัดการเลือกตั้งได้ กรณีหนึ่ง คือการเลือกตั้งที่ภาคใต้ บัตรที่ต้องส่งไปมี 2 ประเภท แบบเขต กับแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งตอนพิมพ์ก็เหนื่อยแล้ว ต้องแยกกันพิมพ์ ซ่อนพิมพ์ เพราะสถานที่พิมพ์อย่างเป็นทางการตอนแรก คือที่โรงพิมพ์ของคุรุสภา ที่ลาดพร้าว โดนบุกเข้าไปทุบทำลายแท่นพิมพ์ ทุบทำลายแผงวงจรคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการพิมพ์
พอผมไปตรวจก็บอกว่า ท่านพิมพ์ต่อให้ผมได้ไหม ผมจะจัดตำรวจมาดูแล 24 ชั่วโมงเลย เพราะเขายังมีโรงพิมพ์สำรองอื่นๆ ทางฝ่ายผู้บริหารของคุรุสภาก็บอกว่า ไม่เอาครับ ไม่รับพิมพ์แล้ว เพราะว่าถ้ารับพิมพ์ต่อ 'วันนี้มันทุบ แต่วันหน้ามันจะเผา' เขาพูดง่ายๆ ด้วยประโยคแบบนี้กับผม ผมก็ต้องซุ่มซ่อนไปพิมพ์ที่อื่น
จนพิมพ์เสร็จแล้ว การส่งบัตรปกติก็ขับรถไปส่งง่ายๆ ตอนนี้ก็ต้องมีทั้งเส้นทางจริง เส้นทางปลอม รถจริง รถปลอม แทนที่จะใช้ทางหลวง ก็จะเจอด่านของ กปปส. ต้องลัดไปตามเส้นทางอ้อม เอาบัตรไปซ่อนไว้ที่ สน.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยไม่มีใครรู้ จนกระทั่งวันก่อนเลือกตั้ง ต้องออกคำสั่งให้ กปน. มารับอุปกรณ์ แค่นั้นแหละจบแล้ว พอ กปน. เข้ามา ก็เกิดม็อบ 300-400 คน จนกระทั่ง 1,000 คน มาล้อม สภ.ถลาง จะบุกเข้าไปยึดบัตร แม้กระทั่งตำรวจ ทหาร ก็ช่วยเราไม่ได้
บัตรแบบบัญชีรายชื่อ เราพิมพ์ทีหลัง ส่งไปภาคใต้ กองไว้ที่ทำการไปรษณีย์ 3 แห่ง ที่ชุมพร ทุ่งสง และหาดใหญ่ ก็ถูกม็อบปิดล้อม ไม่สามารถขนออกไปได้เลย วันนั้นผมเห็นภาพชัดเจนว่า ไม่สามารถเลือกตั้งได้ เพราะบัตรเลือกตั้งแบบเขตออกไปได้ แต่บัตรแบบบัญชีรายชื่อออกไปไม่ได้เลย
ผมคุยกับทาง ตำรวจ ภูธรภาค8 น่าจะเป็นระดับผู้บังคับการภาค ช่วยผมเอาบัตรออกมาได้ไหม เขาบอกว่า ‘ไม่ได้ ถ้าออกมา วันนี้ม็อบ 20 คน แต่ถ้าเราขยับเมื่อไหร่จะเพิ่มเป็น 100 ถ้าเราบุกเข้าไปจะเพิ่มเป็น 1,000’ ที่หาดใหญ่ ผมประสานกับแม่ทัพภาคฯ ที่ค่ายคอหงส์ (ค่ายเสนาณรงค์) เขาตอบง่ายๆ ว่า ‘อาจารย์เอาออกมาเองนะครับ ถ้าถึงแล้วเดี๋ยวผมช่วยส่งต่อ’ ทหารพูดแบบนี้ นี่คือระดับแม่ทัพ แปลว่ากลไกของรัฐตอนนั้นไม่ได้ช่วยอะไรเราทั้งสิ้น
ผมเจรจากับคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คุยกัน 2 ชั่วโมง ผมเล่าปัญหาทั้งหมดให้ฟัง ว่ารัฐบาลช่วยอะไรผมบ้าง สามารถเอาบัตรออกมาได้ไหม ท่านชัยเกษม นิติศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ตอบง่ายๆ ว่า ‘บัตรถูกสกัดไว้ ก็พิมพ์บัตรใหม่สิ’ ตอนนั้นประมาณ 4-5 วันก่อนการเลือกตั้ง ผมถาม เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ว่ากรณีนี้ทำได้ไหม ภายใน 4-5 วัน ท่านบอกทำไม่ได้ เพราะต้องมีกระบวนการ
ในการทำหน้าที่ของ กกต. เราจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ แต่ในขณะเดียวกัน ต้องมีทุกฝ่ายที่สามารถให้ความร่วมมือกับเราได้ ปัญหาคือรัฐบาลไม่อยู่ในฐานะแบบนั้น แต่คนที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลคิดว่าทำได้ วันที่เจรจากับคุณยิ่งลักษณ์ ท่านก็พูดว่า 'อาจารย์จะให้ช่วยอะไรบอกมา รัฐบาลช่วยเต็มที่'
ผมบอกว่า เอาบัตรเลือกตั้งออกมาได้ไหม นายกฯ บอกว่า ทำให้ได้ แต่ในระดับของเจ้าหน้าที่ อาจจะเป็นระดับรอง ผบ.ตร. อะไรแบบนี้ แอบกระซิบกับผมว่า 'อาจารย์ครับ ทำไม่ได้ครับ' เพราะฉะนั้น ในกรณีแบบนี้ ไม่ใช่ว่า กกต. ไม่ตั้งใจจัดการเลือกตั้ง หลายต่อหลายสิ่ง เราได้พยายามอย่างเต็มที่
บรรยากาศของการรับสมัครที่เลือกตั้งที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง มีเบื้องหลังการถ่ายทำเยอะมาก รับสมัคร ส.ส. 5 วัน จันทร์-ศุกร์ พอเขารู้ว่ารับสมัครที่ดินแดง ม็อบก็ไปล้อมค้างคืนที่ดินแดง เจ้าหน้าที่ กกต. ต้องเดินผ่านม็อบเข้าไป 3 วันแรกสมัครไม่สำเร็จ เจ้าหน้าที่เข้าไปได้ เพราะเข้าไปตั้งแต่ตี 4 แต่ผู้สมัครเข้าไปไม่ได้ แล้วคิดดูว่าเจ้าหน้าที่ของเรา เวลาเข้าไป ออกมา จะรู้สึกอย่างไร ความประหวั่นพรั่นพรึงที่ต้องเดินฝ่าม็อบเข้าไปและออกมา ก็เป็นอะไรที่น่ากลัวในความรู้สึกของเจ้าหน้าที่แล้ว
ในวันที่ 3 ผมวางแผน เชิญประชุม รอง ผบ.ตร. ใครต่อใครที่เกี่ยวข้องทั้งหมด วางแผนว่าวันที่ 4 จะเป็นวันลวง คือทำเหมือนรับสมัคร แต่ไม่รับสมัครจริง แต่ในคืนวันนั้นเราจะย้ายที่สมัครทันที เพราะการย้ายที่สมัครรับเลือกตั้งจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกศา แปลว่าทุกคนต้องรู้ ผมวางแผนว่า วันที่ 4 กลางคืน ประมาณ 23.50 น. ประกาศย้ายสถานที่มารับที่ศูนย์ราชการฯ โดยนัดแนะกับพรรคการเมืองทุกพรรค ว่าวันที่ 5 คือวันจริง ต้องเตรียมตัวให้เรียบร้อย จะมานอนค้างที่ศูนย์ราชการหรืออะไรก็ว่าไป แล้ววันที่ 5 เรารับสมัครกันที่ชั้น 7-8 ไม่มีใครขึ้นมาได้ เพราะมีระบบรักษาความปลอดภัย
ปรากฏว่าวันที่ 4 กลับรับสมัครได้ขึ้นมา คือเจ้าหน้าที่เข้าไปแล้ว พรรคการเมืองก็เก่ง เข้ามาจนพร้อมหมด เหมือนเข้าใจว่าผมปล่อยข่าวลวง ว่าวันที่ 4 รับสมัครปลอม แต่ความจริงอาจจะรับจริงก็ได้ (หัวเราะ) แต่ขณะรับสมัคร เสียงตูมๆๆ เสียงระเบิด ยิงปะทะกัน ผมปีนออกไปดู เขาก็บอกว่า อาจารย์ลงมา เดี๋ยวโดนลูกหลง
ตลอด 1 ชั่วโมง ปะทะกันตลอดเวลา พอรับสมัครเสร็จ เขาก็บอกว่าไม่ปลอดภัยแล้ว ให้ออกจากสถานที่ เตรียมเฮลิคอปเตอร์รับ กกต. เป็นการขึ้นเฮลิคอปเตอร์ครั้งแรกของผม ผมขึ้นมาแล้วมองลงไปข้างล่าง ก็เห็นการปะทะ เห็นควัน อะไรต่างๆ
ในใจผมวันนั้น ผมยังประเมินผิด คิดว่ารับสมัครจบแล้ว ก็เป็นสัญลักษณ์ว่าทุกอย่างควรจะต้องจบ ศึกต้องจบ ปรากฏว่าวันนั้นปะทะกันทั้งวัน มีคนบาดเจ็บ เสียชีวิต เรารู้สึกไม่สบายใจ นี่คือตัวอย่างให้เห็นว่า การทำงานของ กกต. ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย
ผมลงไปภาคใต้ ตระเวนไปทั้ง 12 จังหวัด ไม่ได้ไปเพียง สตูล และ ชุมพร เพราะไปไม่ทัน ผมเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ภาคใต้คือถิ่น กปปส. เขามอง กกต. เป็นผู้ร้าย แล้วก็คุยกันไม่รู้เรื่อง อย่างที่หลายต่อหลายจังหวัดในภาคใต้ 11 จังหวัด ใน 14 จังหวัด ถูกยึดที่ทำการ ศาลากลางฯ ก็ถูกยึด ผู้ว่าฯ ก็ไม่มีที่นั่ง หลายจังหวัดที่ผมไปประชุม เขาไม่กล้าประชุมในเมือง ต้องไปประชุมนอกเมือง
อย่างกรณีที่ จ.พัทลุง เขาให้ผมไปประชุมที่ริมทะเลสาบสงขลา ลำปำรีสอร์ท ด้านหลังติดทะเลสาบเป็นทางตันแล้ว ข้างหน้าก็เป็นทางเข้าแคบๆ ตอนที่พาเข้าไป ผมก็บอกว่า มันไม่ใช่สถานที่ที่น่าจะประชุมเลย เขาบอก 'อาจารย์ ที่นี่ปลอดภัย' ผมบอกว่า ไม่ปลอดภัยแน่นอน พอประชุมไปสัก 1 ชั่วโมง ม็อบก็มาแล้ว ขบวนที่ 1 มาล้อม ขอเจรจา ขอให้ส่งคน เขาจะเข้ามายกเลิกการประชุม
ขณะที่ผมยืนเจรจากับเขาเนี่ย มีชาวบ้าน ตัวดำเลยล่ะ คนใต้ ปรี่เข้ามาเหมือนกับจะชกเรา ก็กันออกไป ผมก็ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรกับผม หรือเขารู้จักผมหรือเปล่า แต่เขาคงรู้สึกว่า ไอ้นี่คงเป็นคนไม่ดี ต้องทำร้ายมัน เจรจากับผู้นำรู้เรื่อง แต่ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง พอประชุมเสร็จออกมา รถตำรวจนำ ชาวบ้านขบวนที่ 2 มากั้นไม่ให้เราออกอีก ผมบอก อ้าว คุยกันรู้เรื่องแล้วไม่ใช่หรือ เขาบอกว่าเป็นคนละอำเภอ ก็ติดออกไปไหนไม่ได้ มาเขย่ารถ ขอเปิดดูมีใครบ้าง ท้ายสุดก็ไม่มีการทำร้ายต่อกัน แต่นั่นคือบรรยากาศที่เราเจอตลอดเวลาในภาคใต้ แต่ละจังหวัดบรรยากาศความรุนแรงก็ต่างกัน
ผมคิดว่า มันไม่ง่ายสำหรับใครก็ตามที่มาเป็น กกต. ในยุคนั้น ที่จะทำอะไรให้เป็นผลสำเร็จ ประโยคที่ผมพูดกับคุณยิ่งลักษณ์ คือ ถึงแม้รัฐบาลจะประกาศเดินหน้าเลือกตั้ง ก็จะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สำเร็จ เพราะในภาคใต้ 28 เขต สมัครเลือกตั้งไม่ได้เลย และทุกเขตในภาคใต้จะเลือกตั้งได้ไม่ครบ มีแค่บัตรแบบเขต เราเอาบัตรแบบบัญชีรายชื่อออกมาไม่ได้
แผนของผมก็คือ เลือกตั้งเท่าที่เลือกได้ไปก่อน แต่ยังไม่ประกาศผล เพราะถ้าเราประกาศผลไปแล้ว จะผิดรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าไม่ได้เลือกตั้งวันเดียวกันทั้งประเทศ เราก็ใช้วิธีว่า กลุ่มที่ 1 ก็เลือกไป แต่ยังไม่ประกาศผล กลุ่มที่ 2 ต้องหาวันเลือกตั้งเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นหลังวันเลือกตั้งก็เป็นการเจรจาระหว่าง กกต. กับรัฐบาลว่า การเลือกตั้งในส่วนที่เหลือจะเลือกเมื่อไหร่
จังหวะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายก็ระแวงสงสัยกัน ผมเชิญตัวแทนจากรัฐบาล นัดแล้วนัดอีกก็ไม่มา ขยับเปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ ไปๆ มาๆ รัฐบาลก็ขอกำหนดสถานที่เอง ว่าขอเป็นหอประชุมกานตรัตน์ กองทัพอากาศ ปรากฏว่าประชุมไปได้ครี่งชั่วโมง กำนัน (สุเทพ เทือกสุบรรณ) พาทัพบุกมา ข่าวก็บอกว่า เนี่ย มี กปปส. มาแล้ว กำลังจะเดินขบวนมาถึง ใครที่ปิดแฟ้มแล้วออกจากที่ประชุมคนแรก ไม่ใช่ กกต. เป็นรัฐบาล คุณนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกรัฐมนตรี ปิดแฟ้ม ออกไปเลย
คนสำคัญต่างๆ อยู่ในนั้นหมด แต่รัฐบาลไม่อยู่แล้ว แต่ละคนขับรถหนีหมด วันนั้นรถชนกันแหลกราญด้วยความรีบเร่ง นี่ทำให้เห็นว่า แม้กระทั่งคุณเป็นรัฐบาลเอง คุณยังจัดการกับม็อบไม่ได้ แล้วคุณจะบอกว่า กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งให้ได้ ผมคิดว่าไม่แฟร์กับ กกต.
ผมคิดว่าผมทำเต็มที่ แต่ผมอาจจะเป็นจำเลยของสังคม เหมือนเป็น กกต. ที่ไม่พยายามจัดการเลือกตั้ง แต่อยากให้มีโอกาสได้รู้ว่า เรามีข้อจำกัดอะไรมากมายมหาศาลบ้าง ในการจะจัดเลือกตั้งให้ประสบความสำเร็จ สิ่งหนึ่งที่เราคุยกันใน กกต. คือเราไม่ต้องการให้ใครเสียชีวิตจากการเลือกตั้ง เพราะเราคุยกันตลอดเวลาว่า เลือกตั้งไม่เสร็จ ก็เลือกใหม่ได้ แต่ถ้าคนตาย คืนมาไม่ได้
ก่อนวันเลือกตั้ง มีเหตุปะทะกันที่แจ้งวัฒนะ เหตุมือปืนป็อปคอร์น นั่นคือเหตุที่แรงที่สุด เพราะแต่ละฝ่ายใช้อาวุธสงครามทั้งคู่ เหมือนกับมืออาชีพมาฆ่ากันแล้ว มือปืนป็อปคอร์น เราเห็นท่าทางเขา มีหน่วยชี้เป้า มีหน่วยยิง อาวุธสงครามอำพรางในถุงป็อปคอร์น นั่นคือขั้นสูงสุดของการใช้กำลังอาวุธต่อกัน คือใช้หน่วยสงครามมืออาชีพมาปะทะกัน นี่คือก่อนวันเลือกตั้ง 1-2 วัน
เราเดินหน้าเลือกตั้ง แต่เราก็เป็นห่วงว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงในทำนองนั้นอีก ก็ถือว่าโชคดีมากที่วันเลือกตั้งไม่มีเหตุรุนแรง เพราะ สุเทพ ประกาศไม่ขัดขวางในวันสุดท้าย ปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติ เพราะเขารู้แล้วว่า ที่เขาขัดขวางมาถึงจุดนั้นเนี่ย เพียงพอให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะแล้ว แต่ถ้าไม่เบรก แล้วไปยุยง ผมว่าวันนั้นนองเลือดมากกว่านี้
ผมสั่งการไปยังทุกหน่วยว่า ถ้าไม่ไหวก็ถอน ผมพูดตามตรงนะ ถ้าคุณรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยกับชีวิตทรัพย์สิน คุณก็ถอน หลายคนบอกว่า ทำไมบางหน่วยเลือกตั้ง แค่เป่านกหวีดมาแป๊บเดียวก็เจ้าหน้าที่ก็หนีแล้ว ผมบอกจริงๆ ว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ไหวก็ถอน เพราะผมไม่ต้องการที่จะให้เกิดการปะทะกันรุนแรง เหมือนกับเหตุการณ์ที่หลักสี่
หลังวันเลือกตั้ง มีเจ้าหน้าที่ระดับเอกอัครราชทูต นัดทานข้าวกับผม เป็นประเทศใหญ่ประเทศหนี่ง เขาถามผมว่า 'ทำไม กกต. ไม่ตั้งใจจัดการเลือกตั้ง' ผมก็บอกว่า เรากลัวเรื่องคนตาย
เขาบอกว่า 'ทำไมต้องกลัวคนตาย การเลือกตั้งทั่วโลก ที่ไหนๆ ก็มีคนตาย' ในใจผมคิดอย่างหนึ่ง แต่ผมพูดอีกอย่างหนึ่ง ผมบอกว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศพุทธ การที่เราจะมีคนเสียชีวิต การฆ่ากันมันเป็นบาป ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ในใจผม ณ วันนั้น เวลานั้น ผมคิดอย่างเดียวว่า ถ้าคนตายเป็นญาติพี่น้องคุณ ถ้าคนตายเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับคุณ คุณยอมไหม คุณจะรู้สึกยังไง
เรายอมให้เกิดคนตายแม้แต่คนเดียวไม่ได้ เพราะคนตายเขามีข้างหลัง มีญาติพี่น้อง มีครอบครัวอยู่ข้างหลัง แล้วเขาจะอยู่อย่างไร นี่คือสิ่งที่ผมคิด
ผมคิดว่า ความอยากที่จะอยู่ในอำนาจต่อ มันเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ในขณะนั้น ก่อการรัฐประหาร ไม่ใช่เขาเพิ่งมาคิด ว่าจะขอเวลาอีกไม่นาน หรือตั้งใจไว้ว่าอยู่แป๊บเดียว
เพราะเขาจะหาทางร่างกติกาที่ตัวเองได้ประโยชน์ ดังนั้นเมื่อกติกาโดย อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2557 ที่ร่างรัฐธรรมนูญชุดแรกขึ้นมา ทำแทบเป็นแทบตาย เสร็จแล้วก็มาคว่ำกันเฉย อ.บวรศักดิ์ ก็บอกว่า เพราะเขาอยากอยู่นาน นั่นคือหมายความว่ากติกาไม่เป็นไปตามที่เขาต้องการ
เมื่อ อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ เข้ามาเป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 2 เรารู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นกติกาที่ดี แต่นี่คือเส้นทางของการพยายามสืบทอดอำนาจ โดยต้องมีองค์กรอิสระที่เป็นคนของเขา ใครเป็นคนของเขาอยู่ได้ ใครไม่ใช่คนของเขา อยู่ไม่ได้ เรื่องแรกที่เกิดขึ้นคือ การที่จะเปลี่ยนสัดส่วน กกต. จาก 5 เป็น 7 คน จากการประเมินว่า ใน กกต. 5 คนเดิม อาจจะรู้กันเป็นนัยว่า มีคนที่เขาคุยไม่ได้สัก 3 คน เพราะเขาทำงานตรงไปตรงมา และมีอีก 2 คนที่เขาคิดว่าจัดการได้ ก็ต้องมาเติมอีก 4 คน เพื่อให้ชนะได้
แต่เขาเริ่มหวั่นไหวว่า แม้เติมเป็น 7 คน ก็อาจจะไม่พอ เพราะว่าใน 3 คน อาจจะมี สมชัย ที่แรงมากๆ ไม่เคยยอม ไม่เคยประนีประนอมกับเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ยังไงก็เจรจาไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นจึงเกิดคำใหม่ขึ้นมาว่า ต้องเซ็ตซีโร แล้วก็มีประโยคที่ว่า 'ปลาสองน้ำ' ไม่ได้
ปลาสองน้ำ หมายความว่า คนเก่าทำงาน 5 คน คนใหม่มาอีก 2 คน ก็จะเกิดปัญหาการทำงานที่ไม่เข้ากัน เป็นปลาสองน้ำ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นวาทกรรมลวงโลก เพราะทุกองค์กรมีปลาสองน้ำทั้งนั้นแหละ คนหนึ่งเกษียณไป อีกคนก็ต้องเข้ามาอยู่แล้ว ไอ้เรื่องของปลาสองน้ำจึงเป็นตรรกะที่ใช้ไม่ได้ แต่ถูกยกมาว่า นี่เป็นเหตุของการเซ็ตซีโร
เขาเห็นว่า กกต. คือด่านสำคัญ ในการจัดการเลือกตั้ง แล้วถ้าเกิดปัญหาในการเลือกตั้งขึ้นมา ถ้าเขาทำผิด กกต. อาจจะต้องช่วยเขา หรือถ้าอีกฝ่ายไม่ทำผิด แต่มันเป็นอุปสรรคของเขา เขาก็สามารถใช้ กกต. ในการจัดการได้
เรื่องที่คนเข้าใจผมผิดคือ ผมเปลี่ยนไปหลังจากถูก ม.44 นี่คือสิ่งซึ่งคนชอบพูด ‘เฮ้ย เมื่อก่อน สมชัย มันไม่โดน ม.44 มันไม่เคยพูดแบบนี้ แต่พอมันโดน ม.44 มันพูดตรงข้ามประยุทธ์’
คือถ้าผมพูดสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่สมัยนั้น ผมไม่โดน ม.44 หรอก และผมอาจจะเป็น ส.ว. ไปแล้วก็ได้ ผมเอาหลักฐานให้ดู 8 พ.ย. 2560 หัวหน้า คสช. ถามประชาชน 6 ข้อ มีข้อหนึ่งคือ 'คสช. สนับสนุนพรรคการเมืองใดได้หรือไม่' จากข่าวไทยรัฐ 8 พ.ย. 2560
ผมให้ความเห็นต่อสาธารณะว่า ไม่ได้ เพราะ คสช. เป็นหนึ่งในองค์อำนาจของรัฐ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในแม่น้ำ 5 สาย มีบทบาทเหนือคณะรัฐมนตรี (ครม.) เหนือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เหนือคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ คสช. จะสนับสนุนใครไม่เหมาะสม เพราะจะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นกลาง นี่คือหลักฐานชิ้นที่ 1 ว่า ก่อนผมจะถูกปลด ผมพูดสวนกับ พล.อ.ประยุทธ์
หลายต่อหลายเรื่องผมพูดขัดแย้งกับ คสช. มาโดยตลอด แม้กระทั่งในช่วงทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ยังมี กกต. อยู่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ปรึกษา คสช. ในขณะนั้น บอกว่าการใส่เสื้อ Vote No ผิด ผมบอกว่าไม่ผิด ใครจะใส่เสื้อก็ใส่ไป เป็นเสรีภาพส่วนบุคคล จะใส่ในบ้าน ใส่เดินตลาด ก็เรื่องของเขา แต่อย่าใส่เดินกันเกิน 5 คน แล้วไปแจกใบปลิวตามถนน
ช่วงทำประชามติคำถามที่ 2 ผมก็แย้งว่า มีความไม่เป็นธรรม เพราะเป็นคำถามชี้นำ และคำถามยาว อ่านยาก ศัพท์วิชาการเยอะ กำกวม ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจ ดังนั้นคำถามนี้ใช้ไม่ได้ แต่เขาก็บอกว่า กกต. ไม่มีหน้าที่มาวิจารณ์คำถาม มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งก็จัดไป
นี่คือสิ่งต่างๆ ที่ผมบอกว่า มีหน้าไหนขององค์กรอิสระ สักคนหนึ่งไหมในยุคนั้น ที่กล้าออกมาพูดความเป็นจริงกับประชาชน มีหน้าไหนไหม ทุกคนเพลย์เซฟหมด ทุกคนก็ประเภทว่า คสช. มีอำนาจ เขาเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่มีหน้าไหน ไม่ว่าจะเป็น กกต. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งที่มันไม่ถูกต้องแล้วออกมาพูด แต่ผมก็ออกมาพูด ดังนั้น เขาก็มองว่าผมคืออันตรายที่สุดของเขา
แล้วพอเขาจะปลดผมจาก กกต. ผมก็แกล้งสมัครเลขาฯ กกต. เสียเลย (หัวเราะ) จากนั้น 20 มี.ค. 2561 ออกคำสั่ง ม.44 ชี้ว่าผมมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในการสัมภาษณ์ทำให้เกิดความสับสน อะไรก็ว่าไป จึงให้พ้นจากตำแหน่ง ดังนั้น การพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว ไม่ใช่ว่าพอผมพ้นปุ๊บ ก็กลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลประยุทธ์ มาซัดคุณประยุทธ์อย่างแรงๆ แต่ผมพูดในหลักการที่คนไม่กล้าพูดมาเป็นเวลานับปี ก่อนที่เขาจะปลดผมด้วยซ้ำ
กกต. ที่มาใหม่ 7 คน คือ กกต. ที่เขาอาจจะไว้วางใจได้ หรืออย่างน้อยที่สุด ไม่เป็นอุปสรรคกับเขา แต่โดยคุณสมบัติขั้นเทพที่ อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ. ร่างไว้ ในคุณสมบัติของคนเป็น กกต. ทำให้ตัดคนไปเป็นจำนวนมาก คนจำนวนมากจะไม่มีสิทธิแม้กระทั่งจะสมัครได้ เช่น ต้องเป็นหัวหน้าส่วนราชการไม่น้อยกว่า 5 ปี คือต้องเป็นอธิบดีเท่านั้น คนทั่วไปก็ไม่ง่ายแล้ว ศาสตราจารย์ต้อง 5 ปี รองศาสตราจารย์ไม่ได้ คณบดีรัฐศาสตร์ไม่ได้ เมื่อก่อนคณบดีรัฐศาสตร์ยังเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เลย
ทำให้กระบวนการในการกลั่นกรองคนไม่ได้คนที่มีความเชี่ยวชาญในการจะมาทำหน้าที่ กกต. อย่างแท้จริง เราได้คนที่อาจจะเป็นศาสตราจารย์เหมือนกัน แต่อาจจะเป็นศาสตราจารย์ด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ทางด้านรัฐศาสตร์ มาเป็น กกต. ผมยังแซวเล่นๆ วันหน้าอาจจะเจออธิบดีกรมการข้าว อธิบดีกรมหม่อนไหม มาเป็น กกต. อย่างคราวที่แล้วก็ได้ทูตมาเป็น กกต. เป็นข้อจำกัดที่ถึงแม้คุณจะประสบความสำเร็จในเส้นทางราชการ แต่ไม่ได้แปลว่าคุณมีความเชี่ยวชาญที่จะมาเป็น กกต.
ผมไม่ได้พูดถึงชุดนี้นะ แต่ผมพูดถึงทั่วๆ ไปที่ว่า ภายใต้บริบทของสังคมไทย คุณเชื่อไหมว่าคนที่จะขึ้นมาเป็นอธิบดี เป็นปลัดกระทรวง จะไม่วิ่งเข้าหาฝ่ายการเมือง สังคมไทยคือสังคมอุปถัมภ์ เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ คือคนที่ต้องโน้มตัวรับใช้ฝ่ายการเมืองมาโดยตลอด จึงจะสามารถขึ้นมาดำรงตำแหน่งระดับสูงได้ ไม่ได้แปลว่าเขาบริสุทธิ์ เขาอาจจะกลายเป็นคนซึ่งรับใช้ฝ่ายการเมือง จนฝ่ายการเมืองไว้วางใจ สั่งซ้ายสั่งขวาได้ ดังนั้นโดยข้อจำกัดทำนองแบบนี้ ทำให้เขาไม่สามารถทำงานได้ดี
เราจะไม่เห็น กกต. คนไหน กล้าออกมาให้สัมภาษณ์ เพราะเขาไม่มีความรู้แท้จริง ถ้าออกมาให้สัมภาษณ์ แล้วถูกสื่อมวลชนซัก เขาก็จะตอบไม่ได้ว่าคืออะไร หลักกฎหมาย หลักปฏิบัติต่างๆ เขาตอบไม่ได้ เขาจะปิดตัวเอง และวันๆ เขาจะรอการเสนอจากสำนักงาน กกต. ขึ้นมา แล้วก็เพียงแต่บอกว่า ไม่ผิดนะ ทำได้ เอาตามนั้นไป การตัดสินใจต่างๆ หลายเรื่องจึงเป็นเรื่องที่ผิดพลาด
ท้ายสุดก็คือ ความรู้สึกไม่ดีของประชาชนที่มีต่อ กกต. ว่า ทำงานไม่เป็นมืออาชีพ ก่อให้เกิดความเสียหาย ขาดความรอบคอบ หลายเรื่องประชาชนรู้สึกว่า กกต. ทำงานโดยมีธง โดยต้องการให้พรรคการเมืองบางพรรคเกิดความเสียหาย อย่างเช่นกรณีของการยุบพรรคอนาคตใหม่ เรื่องเงินกู้ยืมเงิน ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ยังเป็นปัญหา
ภาพ - เสกสรร โรจนเมธากุล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง