ไม่พบผลการค้นหา
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ยกวาฬบรูด้า, วาฬโอมูระ, เต่ามะเฟือง และฉลามวาฬ เป็นสัตว์สงวน ผู้ใดมีไว้ครอบครองต้องแจ้งกับเจ้าหน้าที่ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 28 มาตรา 33 มาตรา 37 และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญ

แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การสงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง และบำรุงรักษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และการบริหารจัดการสัตว์ป่า ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

อ่าน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ฉบับเต็มได้ที่ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้ในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 113 ระบุไว้ว่า ผู้ใดมีวาฬบรูด้า, วาฬโอมูระ, เต่ามะเฟือง, และฉลามวาฬ หรือซากสัตว์ป่าสงวนดังกล่าวไว้ในครอบครองอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นแจ้งรายการเกี่ยวกับชนิดละจำนวนของสัตว์ป่าสงวนหรือซากสัตว์ป่าสงวนดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งแล้ว ให้พิจารณาออกใบอนุญาตครอบครองต่อไป โดยให้คำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสัตว์นั้นเป็นสำคัญ ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตจะจำหน่าย จ่าย หรือโอนสัตว์ป่าสงวนต่อไปไม่ได้ เว้นแต่โดยการตกทอดทางมรดก

เต่ามะเฟือง.jpg
  • เต่ามะเฟือง

ความพยายามในการเสนอชื่อสัตว์ทั้ง 4 ชนิดให้เป็นสัตว์ป่าสงวนเริ่มจากในปี 2558 ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ "วาฬบรูด้า" เพื่อยื่นเสนอต่อคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อให้ "วาฬบรูด้า" เป็นสัตว์ป่าสงวนของไทย เนื่องจากในประเทศไทยเหลือเพียง 45 ตัวเท่านั้น 

แต่แล้วในปี 2561 นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า จากการประชุมคณะกรรมการและคุ้มครองสัตว์ป่า วันที่ 4 ต.ค. 2561 มีวาระเพื่อทราบเรื่องน่าเสียดาย ที่การเสนอชื่อสัตว์ป่าสงวน 4 ชนิด ที่ผ่านคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าไปตั้งนานแล้ว ไม่ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยการแย้งของกรมประมงว่า ในกฎหมายการเป็นสัตว์ป่าสงวนไม่มีช่องทางให้ผู้ครอบครองก่อนประกาศแจ้งครอบครองให้ไม่มีความผิด ดังนั้น จึงประกาศไม่ได้เนื่องจากไปลิดรอนสิทธิ์ผู้ครอบครองสัตว์ทั้ง 4 ชนิด คือ วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ปลาฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง

วาฬโอมูระ.jpg
  • วาฬโอมูระ

ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยเช่นกันว่า สัตว์ทะเลทั้ง 4 ชนิดข้างต้นไม่ได้เป็นสัตว์สงวน เนื่องจากกฎหมายไม่เปิดช่องให้ประกาศ ต่อให้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปแล้วกว่า 2 ปี ก็ประกาศไม่ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงเท่านั้น แต่ยังหมายความว่า พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ตัดตอนสัตว์สงวนไว้แค่ 15 ตัว ไม่สามารถเพิ่มสัตว์สงวนตัวที่ 16 ได้อีก และยังเข้าใจผิดมาตลอดว่า พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามีไว้ช่วยอนุรักษ์สัตว์ป่าสัตว์ทะเล 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง