แม้แต่ 'สไปเดอร์แมน' ก็ยังกลัวว่าจะขาดแคลน 'ไข่' เพราะสื่อต่างประเทศ NME รายงานว่า 'ทอม ฮอลแลนด์' นักแสดงหนุ่มชาวอังกฤษที่รับบท 'สไปเดอร์แมน' ในภาพยนตร์ภาคต่อเรื่องล่าสุดของฮอลลีวูด Spider Man: Far From Home ซื้อไก่มาเลี้ยง 3 ตัว หลังจากที่เขาและครอบครัวประสบปัญหา 'ไข่ไก่ขาดตลาด'
สาเหตุที่ชาวอังกฤษจำนวนมากซื้อสินค้ากักตุนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเพราะรัฐบาลออกประกาศว่า จะบังคับใช้มาตรการ 'ล็อกดาวน์' ป้องกันโรคโควิด-19 แพร่ระบาด จึงขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามแนวทาง 'เว้นระยะห่างทางสังคม' (social distancing) กักตัวเองและทำงานจากบ้าน และกิจการจำนวนมากต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว
ฮอลแลนด์ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอลงในไอจีสตอรี่ @TomHolland2013 เมื่อวันที่ 23 มี.ค. โดยระบุว่า ไม่มีไข่ไก่เหลืออยู่ในร้านค้าเลย เขาจึงตัดสินใจซื้อ 'แหล่งผลิตไข่' มาเลี้ยงไว้แทน พร้อมแนะนำไก่ทั้งสามตัวต่อผู้ชมไอจี และมีผู้นำวิดีโอดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อในสื่อสังคมออนไลน์ 'ทวิตเตอร์' และมีผู้กดถูกใจเป็นจำนวนกว่า 56,000 ครั้ง
ขณะเดียวกัน HITC สื่อท้องถิ่นของอังกฤษ รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของโฆษกสมาคมอุตสาหกรรมไข่ไก่แห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่า ไข่ไก่ในอังกฤษมีเพียงพอต่อความต้องการบริโภคตามปกติของประชากรในประเทศ แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมอยู่ในภาวะตื่นตระหนก จึงซื้อสินค้ากักตุนเกินกว่าที่เคยบริโภคตามปกติ
tom holland buying chickens because there’s no eggs at the grocery store is the funniest thing to come out of this pic.twitter.com/q7eubOwMC2
— 𝐝𝐚𝐧𝐢 (@nomadspideys) March 22, 2020
ความตื่นตระหนกเหล่านี้เกิดจากความกังวลว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะอยู่ไปอีกนาน และอีกปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจนในตอนแรกว่าสั่งปิดกิจการใดบ้าง คนจำนวนมากจึงออกมาซื้อสินค้ากักตุน เพราะกลัวว่าร้านจำหน่ายสินค้าในชีวิตประจำวันจะถูกปิดไปด้วย
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า เจ้าของฟาร์มไก่หลายรายในเมืองเลสเตอร์, ลิงคอล์นเชียร์, ยอร์กเชียร์ และคาร์ดิฟ เจอปัญหาคนขโมยไข่ไก่ไปจากฟาร์ม ซึ่งโฆษกสมาคมอุตสาหกรรมไข่ไก่ได้เรียกร้องให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก อย่าขโมย และอย่าซื้อไข่ไก่ไปกักตุน โดยยืนยันว่ากำลังผลิตไข่ไก่ภายในประเทศไม่ได้ลดลงหรือหยุดชะงักแต่อย่างใด
ส่วนมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลอังกฤษไม่ได้ห้ามประชาชนออกนอกบ้านไปซื้อของใช้ที่จำเป็นหรือยารักษาโรค เพียงแต่ขอความร่วมมือให้ 'เว้นระยะห่าง' เมื่อออกนอกบ้าน ยืนห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตรในขบวนรถไฟ รวมถึงงดเข้าผับ บาร์ และคาเฟ่ไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนผู้ที่มีอาการป่วยโควิด-19 เล็กน้อยก็ให้พักฟื้นและกักตัวเองที่บ้าน
กรณีของประเทศไทย มีกระแสวิจารณ์เรื่อง 'ไข่ขาดตลาด' และ 'ไข่แพง' ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มตั้งแต่รัฐบาลมาเลเซียประกาศปิดประเทศ งดการเดินทางเข้าออกตามแนวชายแดนเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งออกไข่ไก่จากมาเลเซียไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดอย่าง 'สิงคโปร์' ถูกระงับด้วยชั่วคราว รัฐบาลสิงคโปร์จึงนำเข้าไข่ไก่จากประเทศไทยแทน
เว็บไซต์ Straits Times ของสิงคโปร์รายงานด้วยว่า ไข่ไก่ 300,000 ฟองจากไทย ส่งถึงสนามบินนานาชาติชางงีอย่างปลอดภัยเมื่อวันที่ 20 มี.ค. แต่รัฐบาลจะนำเข้าไข่ไก่เพิ่มเติมจากประเทศอื่นด้วย ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมถึงส่งเสริมการผลิตไข่ไก่ในประเทศ เพื่อชดเชยไข่ไก่นำเข้าจากมาเลเซีย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของไข่ไก่ที่เป็นความต้องการบริโภคในแต่ละวันตามปกติ
ด้วยเหตุนี้ ทำให้มีกระแสข่าวในไทยว่า ไข่ไก่เริ่มแพงขึ้น และจะแพงขึ้นเรื่อยๆ จนขาดตลาด เพราะมีการกักตุนเพื่อส่งออกไปยังสิงคโปร์ ทำให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ออกมาชี้แจงต่อสาธารณะในวันที่ 23 มี.ค. โดยยืนยันว่า ตลาดสิงคโปร์หันมาซื้อไข่ไก่ไทยเพิ่มขึ้นจริง แต่อยู่ที่ประมาณวันละ 6 แสนฟองเท่านั้น แต่ไทยผลิตไข่ไก่ได้ถึงวันละประมาณ 41 ล้านฟอง
นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ย้ำว่า ไข่ไก่ประมาณ 39 ล้านฟอง หรือร้อยละ 95 ของไข่ไก่ทั้งหมด ใช้สำหรับบริโภคภายในประเทศ จึงมีไข่ไก่คงเหลือในระบบวันละ 1–2 ล้านฟอง ในภาวะปกติไทยส่งออกไข่ไก่เหล่านี้ไป 'ฮ่องกง' เป็นหลัก โดยคิดเป็นร้อยละ 90 ของการส่งออกทั้งหมด ส่วนไข่ที่เหลือส่งออกไปลาวและเมียนมา ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการส่งไข่ไก่ไปสิงคโปร์ด้วย แต่อยู่ที่ร้อยละ 5 ของการส่งออกเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาไข่ขาดตลาดและไข่แพงยังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ จึงแถลงข่าวเพิ่มเมื่อ 26 มี.ค. ระบุว่าจะพิจารณาออกประกาศห้ามส่งออกไข่ไก่เป็นเวลา 7 วัน และจะควบคุมราคาไข่ไก่ในประเทศ หากพบผู้จำหน่ายรายใดขายเกินราคา จะถูกจำคุกสูงสุด 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ให้ออกใบอนุญาตการส่งออกไข่ไก่
นายจุรินทร์ยอมรับว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจทำให้มีความต้องการบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จนไข่ไก่ขาดตลาด แต่ถ้าเป็นภาวะปกติ ปริมาณไข่ที่ผลิตได้ในประเทศไทยถือว่าเพียงพอต่อการบริโภคของคนในประเทศอยู่แล้ว
สหรัฐอเมริกาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ โดยหลายรัฐออกคำสั่งปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย ร้านอาหาร และธุรกิจต่างๆ ถูกขอความร่วมมือให้ปรับระบบเข้าสู่การทำงานจากบ้าน (work from home) ไปจนถึงประมาณวันที่ 12-30 เม.ย.2563 ทำให้เกิดภาวะสินค้าขาดตลาด รวมถึง 'ไข่ไก่' และ 'แป้งทำขนม'
'มาร์ก เดรสเนอร์' ประธานสภาอุตสาหกรรมไข่ไก่สหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ The Washington Post ว่า กรณีไข่ไก่ขาดตลาดและไข่ไก่ราคาแพงนับจากช่วงกลางเดือน มี.ค.เป็นต้นมา ไม่ถือว่าเป็นภาวะขาดแคลน เพราะกำลังการผลิตอยู่ในระดับปกติ ขณะที่ CNN รายงานว่าการบริโภคไข่ในประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า
เดรสเนอร์ประเมินว่าปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เกิดจากการที่ครอบครัวชาวอเมริกันต้องกักตัวในบ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และกิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ทั้งครอบครัวก็มักจะนิยมทำอาหารหรือทำขนมเบเกอรี่ต่างๆ ที่ต้องใช้ไข่เป็นส่วนผสม และวอชิงตันโพสต์รายงานด้วยว่า การค้นหาสูตรอาหารหรือสูตรทำขนมจากกูเกิลในสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นจากเดิมเช่นกัน จึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Stress-baking หรือการทำอาหารหรืออบขนม 'บรรเทาความเครียด'
ส่วน 'เชลบี ไมเยอร์' นักเศรษฐกิจของสำนักงานปศุสัตว์ของสหรัฐฯ ยืนยันเช่นกันว่า ภาวะที่ไข่ แป้ง หรืออุปกรณ์ทำความสะอาดขาดตลาดในสหรัฐฯ ขณะนี้ ไม่ได้เกิดจากกระบวนการผลิตขัดข้องหรือหยุดชะงัก แต่เป็นเพราะผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอย่างฉับพลันทันที ทำให้ปริมาณสินค้าที่ผลิตออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการที่พุ่งสูงเพียงชั่วขณะ แต่ภาวะเช่นนี้จะหายไปเองในเวลาไม่นาน
อย่างไรก็ตาม ไมเยอร์เตือนว่า สภาพภูมิอากาศในปีนี้ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดภัยแล้ง อาจส่งผลให้กระบวนการผลิตสินค้าจากธัญพืชได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง และรัฐบาลอาจต้องพิจารณาแนวทางรับมือเตรียมไว้ล่วงหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: