ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ เร่งกรมปศุสัตว์จ่ายเงินเยียวยาผู้เลี้ยงสุกรตามกรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติ 574.11 ล้านบาทเร็วที่สุด พร้อมกำชับปศุสัตว์ทุกพื้นที่ทั่วประเทศให้ข้อมูลข่าวสารดูแลให้คำปรึกษาผู้เลี้ยงสุกรใกล้ชิดในช่วงเฝ้าระวัง ASF

วันที่ 13 ม.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เร่งรัดให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้เลี้ยงสุกรที่สุกรถูกทำลายเพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้เลี้ยงสุกรให้เร็วที่สุด 

ทั้งนี้ เนื่องจากภายหลัง ครม. ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 574.11 ล้านบาท เพื่อจ่ายชดเชยแก่ผู้เลี้ยงสุกรที่ถูกทำลายตามมาตรการป้องกันโรคใน 56 จังหวัด ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 23 มี.ค. 2564 – 15 ต.ค. 2564 ได้เริ่มมีผู้เลี้ยงสุกรในหลายจังหวัดสอบถามถึงการได้รับเงินชดเชย นายกรัฐมนตรีจึงได้เร่งรัดให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการตามขั้นตอนจ่ายเงินชดเชยโดยเร็ว และในช่วงที่ต้องเฝ้าระวังโรค ASF นี้ขอให้ปศุสัตว์ทุกพื้นที่ทั่วประเทศให้ข้อมูลข่าวสารและให้คำปรึกษาต่างๆ แก่ผู้เลี้ยงสุกรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงมาตรการต่างๆของทางการ

ส่วนกรณีที่ห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ได้มีผลวิเคราะห์พบเชื้อ ASF นั้น นายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อจำกัดวงของการระบาด ส่วนพื้นที่อื่นที่ไม่อยู่ในพื้นที่ควบคุมโรคก็ขอให้ดำเนินมาตรการที่เข้มงวดพร้อมกับดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรด้วย 

ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่จะได้รับการชดเชยนั้น ต้องเป็นผู้เลี้ยงในพื้นที่ 56 จังหวัดตามประกาศ และเป็นกรณีที่สุกรถูกทำลายโดยการพิจารณาของคณะกรรมการประเมินตามกฎกระทรวงกำหนดค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากโรคระบาดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาดหรือสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหนะของโรคระบาด พ.ศ. 2560 ซึ่งในพื้นที่และช่วงเวลาดังกล่าวนั้นมีสุกรที่ถูกทำลายแล้ว แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชย 4,941 คน สุกร 159,453 ตัว วงเงินรวม 574.11 ล้านบาท 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง