รายงานพิเศษ Exclusive: In the weeds - How Bayer, U.S. government teamed up against Thailand's glyphosate ban ของรอยเตอร์ส เผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2563 โดยมีข้อมูลบ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของโลก
'ไบเออร์' เจ้าของแบรนด์สารเคมีกำจัดวัชพืช 'ราวด์อั้พ' ซึ่งมีไกลโฟเซตเป็นส่วนผสมหลัก ต้องการเข้าถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและนายกรัฐมนตรีไทย จึงได้ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ และปีที่แล้วทางการไทยก็มีคำสั่งระงับมาตรการแบน 'ไกลโฟเซต' ในการทำเกษตรไปเพียงไม่กี่วันก่อนที่คำสั่งจะมีผลบังคับใช้
รอยเตอร์สระบุว่าศูนย์ความหลากหลายทางชีววิทยาในเมืองทูซอน รัฐแอริโซนาของสหรัฐฯ ซึ่งคัดค้านการใช้สารเคมีทางการเกษตร เป็นผู้ยื่นเรื่องขอข้อมูลโต้ตอบระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาลผู้รับผิดชอบด้านการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มีต่อ 'จิม ทราวิส' ผู้บริหารฝ่ายกิจการรัฐบาลระหว่างประเทศของบริษัทไบเออร์เมื่อปี 2562 โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายรับรองเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
จากการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว รอยเตอร์สพบว่าทั้งสองฝ่ายได้หารือกันกรณีไทยมีมติว่าจะสั่งห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยรวมถึงสารไกลโฟเซตที่เป็นสินค้าทำรายได้ให้แก่ไบเออร์เป็นจำนวนมหาศาล
นอกจากนี้ เอกสารตอบโต้ระหว่าง จนท.รัฐบาลสหรัฐฯ และทราวิส จำนวนกว่า 200 หน้า มีบทสนทนาตอนหนึ่งที่พาดพิงถึง 'มนัญญา ไทยเศรษฐ์' รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น ว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
ทราวิสจึงบอกกับ จนท.สหรัฐฯ ผู้นั้นว่า ถ้ามีการหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ว่าอะไรคือ 'แรงจูงใจ' ในการผลักดันแผนระงับใช้สารเคมีในครั้งนี้ของ รมช.มนัญญา ก็จะช่วยบริษัทได้อย่างมาก แต่ถ้าจะให้ดี อยากให้ จนท.ฝ่ายการค้าช่วยเชื่อมโยงถึงตัวนายกรัฐมนตรีไทย เพื่อจะได้พูดคุยเจรจาให้ทบทวนแผนดังกล่าว
เผยชื่อ 'ผู้เกี่ยวข้อง' ต่อรองเลิกแบนสารเคมี สอดคล้องข้อมูลเอ็นจีโอไทย
รอยเตอร์สรายงานว่า ทางการไทยมีมติในเดือน ต.ค. ว่าจะห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในระบบการเกษตรทั่วประเทศ ซึ่งจะมีผลในเดือน ธ.ค.2562 แต่หลังจากนั้นไม่นาน คณะกรรมการวัตถุอันตรายก็ระงับแผนแบนสารเคมีทั้ง 3 ตัว ซึ่งอาจตีความได้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ และบริษัทเอกชนได้ร่วมกันกดดันรัฐบาลไทยให้เปลี่ยนใจเรื่องการออกคำสั่งแบนสารเคมี
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนบริษัทไบเออร์ได้ตอบคำถามของรอยเตอร์ส โดยยืนยันว่า บริษัทไม่ได้แทรกแซงหรือใช้อิทธิพลใดๆ กดดันรัฐบาลไทย แต่เหตุผลที่ทางการไทยเปลี่ยนใจ น่าจะมาจากการพิจารณาข้อมูลประกอบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จึงทำให้เข้าใจได้ว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของไบเออร์ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อีกทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ ก็อนุญาตให้ใช้สารเคมีในแวดวงอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศตัวเองด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า 'เท็ด แมคคินนี' ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านการค้าและกิจการเกษตรระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2562 เพื่อขอให้ไทยระงับการแบนสารเคมี สอดคล้องกับที่ 'ไบโอไทย' มูลนิธิไม่แสวงผลกำไรของไทย เคยเผยแพร่หนังสือของแมคคินนีเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว โดยระบุว่าเป็นแรงกดดันที่ทำให้รัฐบาลไทยเปลี่ยนใจเรื่องสารเคมี
ขณะที่ 'รัชดา ธนาดิเรก' รองโฆษกรัฐบาล ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ส ยืนยันว่า รัฐบาลไทยใส่ใจการเกษตรปลอดภัย ทั้งยังให้ความสำคัญกับเกษตรกรและผู้บริโภคมาตลอด แต่สารเคมีไกลโฟเซตถูกใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรทั่วโลก ทั้งยังไม่มีตัวเลือกที่จะมาทดแทนกันได้ จึงจำเป็นต้องปล่อยให้มีการใช้สารเคมีดังกล่าวต่อไป แต่ทาง 'มนัญญา ไทยเศรษฐ์' ไม่ตอบคำถามของรอยเตอร์สที่ติดต่อไปเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบคำถามสื่อว่าได้รับการติดต่อจากแมคคินนีจริงหรือไม่ และท่าทีเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ รับทราบว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับคำตัดสินใจเรื่องแบนสารเคมีเมื่อปีที่แล้ว ก็เป็นเพียงการกล่าวแค่สั้นๆ ว่า "ไม่มีปัญหาอะไร"
ส่วนแถลงการณ์ของไบเออร์ ประเทศไทย ที่เผยแพร่เมื่อปี 2562 ระบุว่า ไบเออร์เคารพและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทยต่อการดำเนินงานเพื่อลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในภาคเกษตรกรรม และส่งเสริมให้เกิดทางเลือกอื่นในการทำการเกษตร แต่การจะยกเลิกการใช้ไกลโฟเซต และสารเคมีอีก 2 ชนิด อาจนำมาซึ่งผลกระทบวงกว้างต่อผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง ความมั่นคงด้านอาหาร และการพัฒนาเศรษฐกิจและความยั่งยืน
ขณะที่สารไกลโฟเซตของไบเออร์มีประวัติการใช้งานทั่วโลกมากว่า 40 ปี และได้รับการยืนยันจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพทั่วโลกที่สรุปไว้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไกลโฟเซตของบริษัทไบเออร์สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยหากใช้ตามคำแนะนำ และไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์สชี้ว่า หน่วยงานวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุลงในรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือน มี.ค. 2558 ว่าไกลโฟเซตมีแนวโน้มจะเป็นสารเคมีก่อมะเร็ง