หนึ่งในเป้าหมายที่เป็นนโยบายควิกวินของรัฐบาลภายใต้การนำโดย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี คือการปราบปรามยาเสพติด ที่มีแผนเร่งรัดให้ยาเสพติดภายในประเทศลดลงภายในระยะเวลา 1 ปี นอกเหนือจากการเปิดปฏิบัติการกวาดล้างจับกุมผู้ค้ายาเสพติดที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ อีกด้านที่ทำควบคู่กันคือ ‘บำบัดผู้ติดยาเสพติด’
โดยเจ้าภาพของงานนี้คือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มี 'นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว' เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะรัฐมนตรี ซึ่งเคยชี้แจงกรณีเรื่องยาเสพติดที่ถือเป็นวาระแห่งชาติว่า สธ.จะทำหน้าที่รับผิดชอบงานบำบัด-รักษา-ฟื้นฟู โดยจะมีการทำงานร่วมกับ 5 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้มีการทำชุมชนนำร่องในการบำบัดผู้ติดยาเสพติดแล้ว 200 อำเภอ
สอดคล้องกับทางกระทรวงกลาโหมที่มีรัฐมนตรีว่าการ ‘สุทิน คลังแสง’ ได้ประชุม 4 เหล่าทัพในการผนึกกำลังเปิดค่ายบำบัดยาเสพติด โดยปัจจุบันกองทัพมีศูนย์บำบัดยาเสพติดหรือ 'โรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง' 52 แห่ง พร้อมเดินหน้าตามนโยบายรัฐบาล และอาจจะมีการเปิดศูนย์บำบัดเพิ่มเติมหากสถานที่ดูแลผู้ติดยาเสพติดไม่เพียงพอ
ด้วยภารกิจที่ถือเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล ‘วอยซ์’ ชวน ‘ตรีชฎา ศรีธาดา’ ในฐานะโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และ ‘จิรายุ ห่วงทรัพย์’ โฆษกกระทรวงกลาโหม ร่วมพูดคุยในแผนดำเนินการและเป้าหมายที่จะส่งผู้ติดยาเสพติดกลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุข
‘ตรีชฎา’ เล่าถึงบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้กฎหมายยาเสพติดที่ถูกแก้ไขเมื่อปี 2564 กำหนดให้ สธ.มีหน้าที่บำบัดฟื้นฟูรักษา ที่ผ่านมา สธ.ถูกโจมตีในเรื่อง 'โทษของผู้ครอบครองยาเสพติด' ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิดเพราะ สธ.ไม่มีอำนาจในการกำหนดโทษ แต่เป็นข้อเสนอของ รมว.สาธารณสุข ที่เล็งเห็นว่าในส่วนผู้ที่เสพยาโดยไม่มีพฤติกรรมเป็นผู้จำหน่าย ควรจะถูกบำบัดฟื้นฟู ส่วนความผิดในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมก็ยังคงไว้ด้วยบทลงโทษเดิม
“ต้องเข้าใจก่อนว่าในส่วนของ สธ.มีอำนาจแค่บำบัดฟื้นฟูผู้ที่ติดยาเสพติด ควบคู่ไปกับสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ซึ่งขณะนี้ทาง สธ.มีโครงการ ‘ชุมชนล้อมรักษ์’ คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งจะมีการคัดกรองผู้ที่ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา นี่คือหน้าที่หลักของ สธ.ในการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และทำให้ผู้หลงผิด หลังเข้ารับการบำบัดสามารถกลับคืนสู่ชุมชนได้อย่างปกติ”
สำหรับการคัดกรองโมเดลนี้จะแบ่งผู้ติดยาเสพติดไว้ 4 ระดับ ประกอบไปด้วย
ตรีชฎาระบุว่าวัตถุประสงค์ของการแบ่งระดับของผู้ติดยาเสพติด คือ การลดจำนวนคนที่มีอาการต่ำกว่าระดับสีแดงไม่ให้เข้าไปแออัดในโรงพยาบาล และสามารถส่งไปยังมินิธัญญารักษ์หรือส่งไปดูแลรักษาได้ภายในชุมชน สำหรับมินิธัญญารักษ์ เปรียบเสมือนห้างสรรพสินค้าขนาดเล็ก ที่ไม่จำเป็นต้องส่งผู้ติดยาเสพติดที่มีอาการดีขึ้นเข้าไปรักษาในสถานพยาบาลเพียงอย่างเดียว
ส่วนการดูแลรักษาก็จะมีทีมแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจาก สธ.เข้าไปทำหน้าที่ดูแลเช่นเดียวกับโรงพยาบาล เนื่องจาก สธ.นิยามความหมายของ ‘ผู้ติดยาเสพติด’ คือ ‘ผู้ป่วย’ เพราะมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจ จากการใช้ยาเสพติด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้การบำบัดรักษา นอกจากนี้ระหว่างการบำบัดจะมีการพัฒนาทางวิชาชีพ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้กลับคืนสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
“มินิธัญญารักษ์เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2564 ที่โรงพยาบาลกุดชุม จ.ยโสธร โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงกระบวนการบำบัดรักษา และสามารถกลับมาประกอบอาชีพสุจริต ใช้ชีวิตในชุมชนได้แบบปกติสุข ซึ่งปัจจุบันมีการประสานจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน (รพ.สต.) ขอเปิดมินิธัญญารักษ์แล้ว 33 แห่ง ซึ่ง สธ.อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านบุคคลากร เพื่อให้รองรับในแต่ละพื้นที่ให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค โดยคาดการณ์ว่าจะมีการให้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลภายในปี 2567”
สำหรับความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงกลาโหมที่มีโมเดลเปิดค่ายทหารเพื่อบำบัดผู้ใช้สารเสพติด ตรีชฎาเผยว่ามีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ แต่สิ่งสำคัญของการนำผู้ป่วยไปบำบัดนั้น นอกจากการรักษาแล้วยังต้องคำนึงในเรื่องสถานที่ว่ามีความพร้อมในการรักษาหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับกระทรวงกลาโหมที่จะเปิดพื้นที่ในการบำบัด อย่างไรก็ตามต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้งว่าจะแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันในส่วนไหนบ้าง
ด้านความคืบหน้าของกระทรวงกลาโหม ‘จิรายุ’ เผยว่าทางกองทัพมีการกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินการตามนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดคือ ลดความเดือดร้อนที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ใช้กฎหมายยาเสพติดอย่างจริงจัง พร้อมบูรณาการทำงานภายในกองทัพอย่างมีประสิทธิภาพ
ในสัดส่วนของกลุ่มผู้ติดยาเสพติด จากผลสำรวจตามรายงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กลุ่มสีแดงที่มีอาการทางจิตเวชมีประมาณ 7,000 ราย, กลุ่มที่มีอาการทางจิตไม่ถึงขั้นรุนแรงมีประมาณ 20,000 ราย, กลุ่มที่ไม่มีอาการมีประมาณ 270,000 ราย
ในส่วนนี้จิรายุระบุว่าบทบาทหน้าที่ของกองทัพจะทำหน้าที่สนับสนุนในการจัดตั้ง ‘ศูนย์รักษ์ใจ’ ซึ่งจะมีหน้าที่เป็นศูนย์คัดกรอง และเป็นสถานพยาบาลบำบัดรักษายาเสพติด โดยนำร่องค่ายทหาร 4 แห่งประกอบไปด้วย รพ.ค่ายจักรพงษ์ จ.ปราจีนบุรี, รพ.ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา, รพ.ค่ายสรรพสิทธิ์ประสงค์ จ.อุบลราชธานี, รพ.ค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี
อย่างไรก็ตาม จิรายุบอกว่าต้องยอมรับความจริงบางส่วนของทหารเกณฑ์ที่เข้ามารับใช้ชาติก็มีปัญหาเรื่องเสพยาเสพติด ในส่วนนี้ก็จะมีการบำบัดภายในกองทัพ ขณะที่การบูรณาการร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้โรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองที่มีอยู่ 52 แห่ง ในอนาคตจะมีการขยายเพิ่มเติมขึ้น ซึ่งเรื่องความพร้อมของสถานพยาบาลของกองทัพนั้นทุกเหล่าทัพถือว่ามีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือการบริการในส่วนบำบัดยาเสพติดอยู่แล้ว โดยจะมีการกำหนดบทบาทหน้าที่กับทางกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง
“ต้องแยกการบำบัดเป็นสองส่วน 1.ส่วนของทหารเกณฑ์ที่เสพยาเสพติด จะมีกลไกบำบัดภายในกองทัพอยู่แล้ว 2.ประชาชนทั่วไปที่จะเข้ามาบำบัด ต้องรอความชัดเจนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคุยกัน ซึ่งบางพื้นที่อาจจะมีศูนย์บำบัดของสาธารณสุขเพียงพอ ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ามาใช้บริการของกองทัพ”