สำนักข่าวรอยเตอร์สทำรายงานพิเศษ ซึ่งระบุว่า อดีตนักโทษและทหารนายหนึ่งเปิดเผยว่า ทางการเมียนมามีคำสั่งปล่อยตัวทหาร 7 นาย หลังจากทหารเหล่านี้ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารชาวโรฮิงญา 10 รายในหมู่บ้านอินดิน ทางตะวันตกของรัฐยะไข่ระหว่างปฏิบัติการปราบปรามชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2017
ทหารเหล่านี้ได้รับการปล่อยตัวไปตั้งแต่เดือน พ.ย. 2018 รวมระยะเวลาที่ติดคุกไม่ถึง 1 ปี น้อยกว่าที่วาโลน และจ่อโซอู ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สที่ทำข่าวการสังหารหมู่ในหมู่บ้านอินดิน ถูกจำคุกจากข้อหาละเมิดข้อมูลลับของทางการ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการจัดฉากจับกุม โดยเพิ่งได้รับการอภัยโทษจากประธานาธิบดีเมียนมาและปล่อยตัวเมื่อ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา
วินไนง์ ผู้นำผู้คุมเรือนจำซิตตเว่ในรัฐยะไข่และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมราชทัณฑ์ในกรุงเนปิดอว์ ยืนยันว่า ทหารทั้ง 7 นายไม่อยู่ในเรือนจำมาหลายเดือนแล้ว แต่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าพวกเขาถูกปล่อยตัวไปตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงระบุว่า กองทัพสั่งลดโทษทหารทั้ง 7 นาย แต่โฆษกกองทัพเมียนมาก็ปฏิเสธจะแสดงความเห็นใดๆ กับข้อมูลดังกล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์สยังกล่าวว่า ซินไพง์โซยืนยันว่า ตนเองเป็นหนึ่งใน 7 ทหารที่ถูกจำคุกและได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำแล้ว แต่ไม่สามารถบอกเล่ารายละเอียดได้อีก โดยเขาระบุว่า พวกเขาถูกเตือนไม่ให้พูดอะไร
ทหาร 7 นายนี้เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเพียงกลุ่มเดียวที่ถูกลงโทษจากเหตุการปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่เมื่อปี 2017 จนทำให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คนลี้ภัยออกจากรัฐยะไข่ไปยังบังกลาเทศ โดยสหประชาชาติระบุว่าปฏิบัติการของกองทัพเมียนมา ทั้งการสังหารหมู่ รุมข่มขืนและเผาหมู่บ้าน เรียกได้ว่าเป็นการลบล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา
กองทัพเมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวมาโดยตลอด พร้อมอ้างว่า ทหารที่ถูกจำคุก 7 นายนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่ากองทัพไม่ได้ละเลยที่จะลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด โดยพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาเคยกล่าวกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า กองทัพดำเนินการลงโทษทุกคดีที่ตรวจสอบแล้ว ล่าสุดได้ลงโทษจำคุก 10 ปีทหาร 7 นาย และทางการเมียนมาจะไม่ยอมให้อภัยคนที่ก่ออาชญากรรม
ปีที่เปลี่ยนชีวิตซินไพง์โซ
องธันไว นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกจำคุกที่เรือนจำซิตตเว่ หลังวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่ง เปิดเผยว่า ทหาร 7 นายเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักโทษที่นั่น เขาอยู่อาคารเดียวกับทหาร 7 นายนี้ แต่อยู่คนละห้อง
อ่องธันไวที่เพิ่งถูกปล่อยตัวออกมาเมื่อ ธ.ค. 2018 กล่าวว่า เขาต้องการเปิดเผยเรื่องการปล่อยตัวทหารออกไปก่อนกำหนด เพราะชาวพุทธที่ถูกจำคุกในหมู่บ้านอินดินยังคงอยู่ในเรือนจำ โดยระหว่างที่ถูกจำคุก ทหารเหล่านี้สามารถดื่มเบียร์และดูดบุหรี่ แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นของต้องห้ามสำหรับนักโทษคนอื่น
อดีตนักโทษในเรือนจำซิตตเว่ อีกคนกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารมักไปเยี่ยมทหาร 7 นายที่เรือนจำ และในเดือน พ.ย. ทหาร 7 นายนี้ก็มีรถของกองทัพมารับออกไปด้วย และในเดือนเดียวกัน ซินไพง์โซ หนึ่งในทหารที่ถูกจำคุกก็สมัครบัญชีเฟซบุ๊กใหม่ และใส่ข้อมูลว่าเขาได้เข้าร่วมโรงเรียนนายร้อยของเมียนมา และได้โพสต์ข้อความว่า “เมื่อไหร่ความซวยจะสิ้นสุดสักที ปีที่เปลี่ยนชีวิตผมไปโดยสิ้นเชิง 2018 อันแสนห่วย”
คดีสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาที่หมู่บ้านอินดิน
เมื่อปี 2017 กองทัพเมียนมาได้ปฏิบัติการปราบปรามชาวโรฮิงญาในหลายร้อยหมู่บ้านทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ เพื่อตอบโต้การโจมตีของกองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกัน (ARSA) โดยทหารจากกองพลทหารราบที่ 33 ซึ่งมีหน้าที่ปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบ ได้ร่วมกับตำรวจตระเวนชายแดนและพลเรือนชาวพุทธจำนวนหนึ่งขับไล่ชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านอินดิน เผาและปล้มสะดม
ในวันที่ 1 ก.ย. 2017 ทหารและชาวพุทธจำนวนหนึ่งได้ควบคุมตัวผู้ชายและเด็กผู้ชายชาวโรฮิงญา 10 คน โดยระบุว่า พวกเขาเป็นผู้ก่อการร้าย แต่ครอบครัวของพวกเขาระบุว่า พวกเขาเป็นเกษตรกร นักเรียนมัธยมศึกษาและครูสอนศาสนาอิสลามเท่านั้น แล้วในวันต่อมาก็มีคนเห็นชาวพุทธใช้ดาบฟันชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัว และที่เหลือก็ถูกยิงโดยทหารเมียนมา และฝังศพพวกเขา
วาโลนและจ่อโซอูได้สืบสวนสอบสวนเรื่องนี้และไปพบหลุมศพหมู่ และได้รับภาพถ่ายก่อนที่ชาวโรฮิงญาทั้ง 10 คนจะถูกสังหาร ต่อมาในเดือนธ.ค. 2017 ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สทั้ง 2 คนถูกจับกุมด้วยข้อหาละเมิดข้อมูลลับของทางการ หลังจากที่เจ้าหน้าที่โทรนัดให้พวกเขาไปรับเอกสารเกี่ยวกับปฏิบัติการปราบปรามชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านอินดิน แล้วรวบตัวพวกเขาหลังเดินออกมาร้านอาหารที่เป็นสถานที่นัดหมาย ซึ่งตำรวจนายหนึ่งได้ให้การในชั่นศาลยอมรับว่า การจับกุมครั้งนี้เป็นการจัดฉากเพื่อเอาผิดผู้สื่อข่าว
การจับกุมตัวผู้สื่อข่าว 2 คนทำให้หลายฝ่าย รวมถึงนานาชาติประณามว่า ทางการเมียนมามุ่งเป้าโจมตีผู้สื่อข่าวที่พยายามนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกดขี่และละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา ขณะที่อองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐ และรัฐบาลพลเรือนของพรรคเอ็นแอลดีก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าพยายามป้องกันกองทัพเมียนมา โดยซูจีกล่าวว่า การลงโทษทหารเป็น “เป็นก้าวแรกบนถนนแห่งการแสดงความรับผิดชอบ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: