ไม่พบผลการค้นหา
หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อฯ มก.-กรมอุทยานฯ ปล่อยเหยี่ยวผึ้งกลับสู่ธรรมชาติ หลังเคยบาดเจ็บ-หมดแรง ตกลงที่บึงกาฬ ขณะบินอพยพเมื่อเดือน พ.ค. โดยมีการติดแท็กทำประวัติ และนำไปปล่อยที่เขาเรดาร์ ให้บินกลับฝูง

ผศ.น.สพ. ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (28 ก.ย.2562) หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ ได้ร่วมมือกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนง.ประจวบคีรีขันธ์ นำเหยี่ยวผึ้งชื่อ 'โขงหลง' KU718 ไปปล่อยบนเขาเรดาร์ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้บินกลับเข้าฝูงเหยี่ยวอพยพ เพราะในช่วงปลายเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่มีฝูงเหยี่ยวอพยพนับแสนตัวบินผ่าน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ทั้งนี้ โขงหลงเป็นเหยี่ยวอพยพเพศเมียซึ่งบาดเจ็บจากการหมดแรงจนไม่สามารถบินได้ และตกลงบริเวณบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้นำมารักษาอาการและฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงฝึกบินจนกระทั่งมั่นใจว่า 'โขงหลง' มีสุขภาพที่แข็งแรง และพร้อมสำหรับการกลับคืนสู่ธรรมชาติแล้ว จึงได้ทำการเก็บข้อมูล บันทึกชื่อ เจ้าโขงหลง รหัส เหยี่ยวผึ้ง KU718 ติด #ห่วงขาขวา15A00040 และ #ห่วงขาซ้าย F11/สีเขียว ก่อนนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

ปล่อยเหยี่ยวผึ้ง_KU718_๑๙๐๙๒๘_0002.jpgปล่อยเหยี่ยวผึ้ง_KU718_๑๙๐๙๒๘_0007.jpgปล่อยเหยี่ยวผึ้ง_KU718_๑๙๐๙๒๘_0006.jpg

นายเกรียงศักดิ์ ศรีบัวรอด หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า เหยี่ยวผึ้งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จึงต้องทำการร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยเหยี่ยวผึ้งตัวนี้ ชาวบ้านนำมามอบให้หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเดือน พ.ค.เป็นช่วงเวลาที่เหยี่ยวอพยพ หรือนกล่าเหยื่อบินกลับไปยังประเทศต้นกำเนิดเพื่อทำรังวางไข่ หากเราฟื้นฟูแล้วปล่อยเหยี่ยวผึ้งตัวนี้ทันที มันจะบินอยู่ในประเทศไทย ไม่กลับไปทำรังตามธรรมชาติ เนื่องจากสภาพอากาศและกระแสลม เจ้าหน้าที่จึงเลือกที่จะปล่อยเหยี่ยวในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ฝูงเหยี่ยวอพยพบินผ่านประเทศไทย จะทำให้ 'โขงหลง' มีโอกาสที่จะเจอฝูงหรือเหยี่ยวผึ้งตัวอื่นแล้วพากันบินกลับไปได้

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นนกล่าเหยื่อหรือสัตว์ป่าได้รับบาดเจ็บ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ได้ที่เบอร์ 1362 โดยขอให้บันทึกภาพสัตว์ป่าที่พบ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบชนิด และส่งต่อไปรักษาได้อย่างรวดเร็ว

ภาพโดย:  ไชยยันต์ เกษรดอกบัว,พนม ยิ่งไพบูลย์สุข