คลิปการแย่งที่จอดรถของผู้พิการที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 เมืองพัทยา กลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง โดยต่อมาทางห้างออกมาขอโทษ พร้อมตำหนิไปที่พนักงานรักษาความปลอดภัย ที่ปล่อยให้รถหรูเข้ามาจอดแทนในจุดจอดรถของผู้พิการ นอกจากนี้ยังยืนยันว่าจะปรับปรุงและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นอีก
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับการแย่งที่จอดรถคนพิการ แต่พูดได้ว่า ‘ซ้ำแล้วซ้ำเล่า’
‘ซาบะ’ มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิคนพิการ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Accessibility Is Freedom ถอดบทเรียนเหตุการณ์ดังกล่าวโดยระบุว่า มีต้นเหตุสำคัญ 3 ประการ
1.สำนึกสาธารณะ
เขาเห็นว่าความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและสำนึกสาธารณะในสังคมไทยยังอยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง เช่น ขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า ไม่เคารพกฎจราจร ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง รวมถึงจอดรถในที่คนพิการ ทั้งหมดคือเรื่องสำนึกสาธารณะทั้งสิ้น ซึ่งต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ข้ามคืน
อย่างไรก็ตาม ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ซาบะเปลี่ยนตัวเองจากเหยื่อเป็นนักเคลื่อนไหว เขาเห็นว่าคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นและตื่นตัวต่อปัญหาการละเมิดสิทธิหรือเอาเปรียบผู้พิการ
“ดูจากกระแสโซเชียล หากมีใครกระทำความผิดเขาจะถูกโจมตีอย่างหนัก ในฐานะที่ผมผลักดันรณรงค์เรื่องนี้ ชื่นใจนะครับ ที่สังคมเริ่มช่วยกันส่งเสียงต่อ”
2. นโยบายของผู้บริหาร
นโยบายของผู้บริหารสถานที่หรือห้างสรรพสินค้าสำคัญมากในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสำนึกสาธารณะ
“พูดอย่างตรงไปตรงมา คือผู้บริหารเขาไม่อยากทะเลาะกับลูกค้า ต้องการดูแล และไม่กล้ารักษากฎระเบียบอย่างจริงจัง ส่งผลให้พนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ปลายทางปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูก ไม่รู้จะทำอย่างไร หากเจอคนไร้สำนึกยืนยันว่าฉันจะจอด”
เขาเสนอว่า ห้างต้องกำหนดกฎระเบียบอย่างชัดเจน หากเกิดปัญหาแย่งที่จอดรถคนพิการ รปภ. มีหน้าที่ปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างไร เช่น ห้ามคนทั่วไปเข้ามาจอดเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะถูกล็อกล้อหรือปรับเงิน เป็นต้น
“สิ่งเหล่านี้จะช่วยผลักดันให้คนไทยเกิดจิตสำนึกที่ดี และมีส่วนช่วยสร้างวัฒนธรรมที่เราอยากให้เป็น” ชายผู้ที่นั่งวีลแชร์มานานกว่า 30 ปี กล่าว
3. นโยบายและความจริงจังจากภาครัฐ
นับตั้งแต่เริ่มรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการเมื่อ 5 ปีก่อน มานิตย์บอกว่าเขาไม่เห็นความจริงจังในการช่วยเหลือจากภาครัฐเสียที แม้ประเทศไทยจะมีกฎระเบียบ แต่ในเชิงปฏิบัติจริงกลับมีจุดอ่อน เมื่อไร้ข้อบังคับในลักษณะให้คุณให้โทษ
“ไม่มีการกำหนดว่า ถ้าจอดรถแล้วจะถูกปรับ 5,000 บาท เหมือนกับการปรับผู้สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ พอไม่มีบทลงโทษมันก็ส่งเสริมให้เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นได้ไม่หยุดหย่อน”
สำหรับซาบะ วัย 52 ปี เขามีร่างกายไม่สมบูรณ์มาตั้งแต่กำเนิดป่วยเป็นโรคโปลิโอทำให้ขาซ้ายลีบ เดินไม่ค่อยสะดวก จนกระทั่งอายุได้ 24 ปี ต้องประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์พลิกคว่ำ ส่งผลให้เป็นอัมพาตตั้งแต่เอวลงมาและต้องใช้ชีวิตบนวีลแชร์นับแต่นั้น
“คนพิการเรามีโอกาสน้อยกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว สมัยก่อนเงินเดือนผม 13,000 บาท พึ่งพารถเมล์ก็ไม่ได้ หมดไปกับค่าแท็กซี่วันละไม่ต่ำกว่า 300 บาท หรือประมาณ 9,000 บาทต่อเดือน ผมเก็บเงินอยู่หลายสิบปี วันหนึ่งกว่าจะมีรถยนต์เป็นของตัวเองว่าหนักหนาแล้ว ยังไม่วายต้องมาเจอพวกเบียดเบียนอีก” เขาเล่าถึงความลำบากที่ยังไม่หายไปในปัจจุบัน เมื่อยังถูกแย่งที่จอดรถโดยพวกคนมือดีเท้าดีอยู่เรื่อยๆ
“มันคือการละเมิดสิทธิและผิดกฎหมายครับ” เขาทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ��บว่า ปี 2561 มีการออกใบอนุญาตขับรถใหม่ให้เเก่คนพิการทั่วประเทศ จำนวนรวมทั้งสิ้น 4,161 ราย โดยแบ่งเป็นผู้พิการหูหนวก 723 ราย พิการทางสายตา 1,906 และพิการเเขนขา 1,532 ราย
กฎหมายกำหนดว่าอย่างไร ?
ตามกฎกกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548 ไว้ดังนี้
ข้อ 23 อาคารตามต้องจัดให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา อย่างน้อยตามอัตราส่วน ดังนี้
(1) ถ้าจำนวนที่จอดรถตั้งแต่ 10 คัน แต่ไม่เกิน 50 คัน ให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราอย่างน้อย 1 คัน
(2) ถ้าจำนวนที่จอดรถตั้งแต่ 51 คัน แต่ไม่เกิน 100 คัน ให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราอย่างน้อย 2 คัน
(3) ถ้าจำนวนที่จอดรถตั้งแต่ 101 คัน ขึ้นไป ให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราอย่างน้อย 2 คัน และเพิ่มขึ้นอีก 1 คัน สำหรับทุก ๆ จำนวนรถ 100 คันที่เพิ่มขึ้น เศษของ 100 คัน ถ้าเกินกว่า 50 คัน ให้คิดเป็น 100 คัน