การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของ รฟท. โดยใช้ชื่อว่า บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท พร้อมกับเห็นชอบให้ รฟท.กู้ยืมเงิน 200 ล้านบาท เพื่อนำมาลงทุนเป็นทุนจดทะเบียน โดย รฟท.จะรับภาระต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงิน รวมถึงพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม
ขณะที่กระทรวงคมนาคมรายงานถึงความจำเป็นในการจัดตั้งบริษัทลูกในครั้งนี้ว่า รฟท.มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถจำนวน 38,469 ไร่ มูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท แต่มีรายได้ผลตอบแทนจากการบริหารสินทรัพย์ประมาณปีละ 2,400 ล้านบาท หรือ 1% ของมูลค่าสินทรัพย์ เนื่องจากการบริหารสินทรัพย์ไม่ใช่กิจกรรมหลักที่ รฟท.มีความชำนาญเฉพาะด้าน ทำให้ไม่สามารถนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาบริหารจัดการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่เพื่อบริหารสินทรัพย์เป็นกิจกรรมหลัก
สำหรับรายได้ของบริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด จะมาจาก 3 ส่วน ได้แก่
ส่วนผลประโยชน์ที่ รฟท.จะได้รับนั้น รฟท.จะมีรายได้จากบริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด มาลดภารระหนี้สิน โดยประมาณการผลตอบแทนที่ รฟท.จะได้รับในระยะเวลา 30 ปี จะอยู่ที่ 631,628 ล้านบาท เพียงพอที่จะนำมาแก้ไขปัญหาหนี้สินในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 มีภาระหนี้สินรวม 177,611 ล้านบาท
เพิ่มกรอบวงเงิน 'ไฮสปีดไทย-จีน' อีก 12,075 ล้านบาท
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ครม.เห็นชอบปรับกรอบวงเงินและร่างข้อตกลงการจ้างและสัญญาจ้างสัญญางาน ระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ฉบับสมบูรณ์ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา)
สำหรับในส่วนของการปรับกรอบวงเงินนั้น ครม.เห็นชอบปรับกรอบวงเงินของสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ที่ ครม.เคยอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560 จาก 38,558.38 ล้านบาท เป็น 50,633.50 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 12,075.12 ล้านบาท ซึ่งไม่กระทบกับกรอบวงเงินรวมของโครงการ และให้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของสัญญา 2.3 และให้รัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ทั้งนี้ในส่วนของกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้นนั้นประกอบด้วย
1.การย้ายขอบเขตงานของงานระบบรถไฟความเร็วสูงที่ซ้อนทับอยู่ในขอบเขตของงานโยธาเป็นเงิน 7,032.78 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Maintenance) สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับขบวนรถไฟฟ้า (EMU Facility) โรงเชื่อมรางและกองเก็บ (Track Welding and Storage Base) และโรงกองเก็บราง (Long Track Storage Base) จึงได้ย้ายขอบเขตงานจากงานโยธาไปไว้ยังงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลฯ
2.การเปลี่ยนรุ่นขบวนรถ EMU จากรุ่น CRG2G (Hexie Hao) เป็น CR Series (Fuxing Hao) ซึ่งเป็นรถรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีและสมรรถนะที่ดีกว่า เป็นเงินเพิ่มขึ้น 2,530.38 ล้านบาท
3. การปรับเปลี่ยนทางแบบใช้หินโรยทาง (Ballasted Track) เป็นทางแบบไม่ใช้หินโรยทาง (Ballastless Track) ในทางวิ่งช่วงสถานีบางซื่อ – สถานีดอนเมือง ในสถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง สถานีนครราชสีมา และภายในอุโมงค์เพื่อให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงในอนาคต อีกทั้งยังรักษาภาพลักษณ์และทัศนียภาพตลอดจนมลภาวะต่างๆ ที่จะเกิดจากการซ่อมบำรุงทางในสถานี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองและภายในอุโมงค์ คิดเป็นค่าใช้จ่ายการเปลี่ยนโครงสร้างทาง เป็นเงินทั้งสิ้น 2,227.57 ล้านบาท
4.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่ารับประกันผลงานจากความชำรุดบกพร่องจาก 1 ปี เป็น 2 ปี ตามระเบียบฯ ค่าดำเนินการต่าง และอื่นๆ เป็นจำนวนเงิน 284.39 ล้านบาท
ส่วนสาระสำคัญของร่างสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) มีดังนี้คือ เป็นสัญญาการจ้างรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่ได้รับการรับรองคุณภาพและประสิทธิภาพจาก National Development and Reform Commission แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD. และ CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) มาเป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูง จัดหาขบวนรถไฟ และฝึกอบรมบุคลากร ชื่อสัญญาภาษาอังกฤษว่า The Trackwork, Electrical and Mechanical (E&M) System, EMU, and Training Contract มีวงเงินของสัญญา 50,633.50 ล้านบาท ระยะเวลาเริ่มต้นของสัญญาแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่
1.การเริ่มต้นงานออกแบบระบบรถไฟความเร็วสูง และออกแบบระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนออกแบบขบวนรถไฟ
2.การเริ่มต้นงานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง และการถ่ายทอดเทคโนโลยี
3.การเริ่มต้นงานก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูงที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาสิ้นสุดสัญญา 64 เดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: