นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 15 ประจำปี 2568 วันอังคารที่ 22 เมษายน 2568 นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในการประชุม ดังนี้
1. การดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตึก สตง. ถล่มจากการที่ นายกรัฐมนตรี ได้มีการสั่งการให้มีการสืบสวนสอบสวนถึงสาเหตุ และข้อเท็จจริงของตึก สตง. ถล่ม เพื่อให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้กระทำความผิดนั้น พบว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากหลายๆหน่วยงานเท่าที่ควร นายกรัฐมนตรีจึงมีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีดังนี้
1.1 ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการส่งเอกสารข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถสืบสวนถึงสาเหตุได้โดยเร็ว
1.2 ขอความร่วมมือกับ สตง. ในการส่งเอกสารทั้งหมด รวมถึงการรายงานผลจากคณะกรรมการตรวจสอบที่พบว่ามีผู้รับจ้างมีการผิดสัญญา แต่ไม่มีการยกเลิกสัญญาในเวลาที่กำหนดตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา
1.3 ให้กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมทรัพยากรธรณี ส่งรายงานผลกระทบจากแผ่นดินไหวในบริเวณ กทม. ให้กับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยด่วน
1.4 ให้กรมบัญชีกลาง ซึ่งดูแลในเรื่องมาตรฐานในการจัดซื้อจัดจ้างและคุณภาพของวัสดุก่อสร้าง ร่วมมือในการตรวจสอบ โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง และอำนาจในการบอกเลิกสัญญากับบริษัทที่ทำผิดระเบียบ
1.5 ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ร่วมตรวจรับการออกแบบการก่อสร้าง รวมทั้งตรวจรับงานในอาคาร สตง. ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการตรวจรับตึก สตง. ซึ่งที่ผ่านมาควรจะแยกออกจากกระบวนการสืบสวน
1.6 ขอให้ กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI ในการดำเนินการคดีเรื่องมาตรฐานของเหล็กและคุณภาพของปูนที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย และการฮั้วประมูลกับผู้ที่กระทำผิดอย่างเด็ดขาด
นายจิรายุ กล่าวต่อไป ว่า ในส่วนของการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความเสียหายนั้น นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการต่อไปว่า
2 . สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับกระทบในที่อยู่อาศัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากกรณีที่มีข้อร้องเรียนว่า การเยียวยาค่าเสียหายตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง ยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงขอสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมบัญชีกลาง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการฯ และ กรุงเทพมหานครให้เร่งหาแนวทาง ที่เป็นไปได้ในการปรับแก้ไขระเบียบหรือหลักเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นและสามารถจ่ายเงินเยียวยาให้สอดคล้องกับสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ จะต้องไม่ซ้ำซ้อน กับเงินประกันภัยที่ทางอาคารได้รับจากบริษัทประกันภัย เพื่อซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหายอยู่แล้ว
3. ให้ศึกษาถึงความเหมาะสมในปรับมาตรการ Visa free จากการที่รัฐบาลมีมาตรการในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในการให้ Visa free กับบางประเทศ เป็นจำนวน 60 วัน และ 90 วันนั้น ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มใช้สิทธิดังกล่าวในการทำผิดกฎหมาย เช่น การอยู่เกินเวลา และการเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมาย จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เร่งกวดขันและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำผิด รวมทั้งศึกษาและรวบรวมผลกระทบของมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะความเหมาะสมของระยะเวลาในการอยู่ในประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนมาตรการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อประเทศ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นหลัก
นายจิรายุ กล่าวต่อไป ว่า นายกรัฐมนตรี “ได้ขอให้ทุกกระทรวงช่วยกัน เร่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนและท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยรัฐบาลมีความพร้อม ทั้งในเรื่องการดูแลความปลอดภัย และมีมาตรการในการส่งเสริมต่าง ๆ รองรับเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในช่วงครึ่งปีหลังนี้”