ไม่พบผลการค้นหา
ยุกติ มุกดาวิจิตร มองความเคลื่อนไหวของคณะราษฎร 63 เป็นพลังสร้างสรรค์สังคม ทะลุทะลวง 5 กำแพงของสังคมไทยแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ยังเหลืออีก 4 พรมแดนอันมืดมนในอนาคตอันใกล้ที่ท้าทายการต่อสู้ ย้ำความเจ็บปวดในเวลานี้คือ การเปิดเปลือยความอยุติธรรมอำมหิตขนานใหญ่ของรัฐไทย

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564 เครือข่ายพีเพิลโก (People Go Network) ได้จัดกิจกรรมสนทนาปราศัย 'เปิดไฟให้ดาว' เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับผู้ถูกสั่งขังระหว่างการพิจารณาคดีหมิ่นกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และผู้ถูกสั่งขังในคดีการเมืองอันเกิดจากความเคลื่อนไหวตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา

รองศาสตราจารย์ ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะนักวิจัยที่ผลิตผลงานเรื่อง "ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย" เผยแพร่เมื่อปลายปี 2556 ได้ร่วมเป็นหนึ่งในวิทยากร ผู้ปราศรัยภายในงานดังกล่าวด้วย

ยุกติ กำหนดหัวข้อที่พูดในวันนั้นว่า "คณะราษฎร 2563 ผู้สาดแสงดาวฝ่ากำแพง และความมืดมน" โดยเป็นการนำเสนอมุมมองต่อความเคลื่อนไหวในนามคณะราษฎร 63 ตลอดปีที่ผ่านมาว่าคือ การต่อสู้เรียกที่แสดงให้เห็นถึงพลังสร้างสรรค์สังคมไทย และพลังลักษณะนี้แทบจะไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หรือหากจะมี ก็ไม่เคยปรากฏพร้อมกันอย่างทรงพลังกว้างขวางเท่ากับช่วงเวลาที่ผ่านมา

ม็อบ คณะราษฎร ชุมนุม อนุสาวรีย์ม็อบ คณะราษฎร แยกเกษตร 019.jpg

การเคลืื่อนไหวในระลอกนี้ ยุกติ มองว่า หากจะเทียบกับขบวนการประชาชนในอดีต คงต้องเทียบกับพลังของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในทศวรรษ 2470 - 2480 การเคลื่อนไหวของเสรีไทยในทศวรรษ 2480 การเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา ประชาชน ชาวไร่ ชาวนา กรรมกร ในทศวรรษ 2510 ขบวนการคอมมิวนิสต์ในทศวรรษ 2510 - 2520 ม็อบมือถือกลางกรุงเทพฯ ในทศวรรษ 2530 สมัชชาคนจน และการเมืองบนท้องถนนของ NGOs และชนชั้นกลาง คนจน ชาวไร่ ชาวนา และชนชั้นล่าง ในทศวรรษ 2540-2550 และสุดท้ายการเคลื่อนไหวของมวลชนเสื้อแดงในทศวรรษ 2540-2550

การเทียบกับความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพียงการเทียบกันในแง่ของพลัง แต่นัยสำคัญที่ยุกติเสนอคือ การสานต่อและสร้างประวัติศาสตร์ประชาชนหน้าใหม่ให้แก่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างสำคัญและทรงพลัง 

ยุกติ เห็นว่า คณะราษฎร 63 ได้ส่องแสงทะลุกับแพงมาแล้วมากมาย สรุปรวมได้อย่างน้อย 5 กำแพงด้วยกัน ตั้งแต่การทะลุทะลวง สานต่อผลงาน และเพิ่มอำนาจทางการเมืองของประชาชนอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากแต่ละยุคสมัยสั่งสม ก้าวไปข้างหน้าไปเรื่อยๆ อย่างสร้างสรรค์ และมีมิติใหม่ๆ มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ดังนี้ 

10 เม.ย. 64 รำลึกสดุดีวีรชน  ณัฐวุฒิ เสื้อแดง นปช
  • กำแพงชนชั้น

คณะราษฎร 63 เป็นการรวมตัวต่อสู้เพื่อสิทธิทางการเมืองที่ข้ามพรมแดนของชนชั้นมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย การที่ทนายอานนท์ เป็นลูกชาวนา ไมค์ เป็นลูกกรรมกร มาร่วมต่อสู้กับลูกหลานชนชั้นกลางระดับบน ระดับล่างหลายกลุ่ม ตลอดจนโรงเรียน และมหาวิทยาลัย ต่างระดับการศึกษากัน ต่างช่วงชั้นทางสังคมกัน มีการเชื่อมต่อกับชนชั้นกลางระดับล่าง อย่างคนเสื้อแดง

ลักษณะการประสานกันของมวลชนเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมต่อกันของขบวนการประชาชนในปัจจุบัน 

การเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงเทียบเท่ากับการเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิต นักศึกษา ในทศวรรษ 2510 ก่อนหน้านั้นการขยายฐานอำนาจประชาชนในทศวรรษ 2470 -2480 ยังเป็นการแสดงพลังของชนชั้นนำ และชนชั้นกลางระดับบนเป็นหลัก ส่วนการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน และคนเสื้อแดง โดยมากก็ยังเป็นพลังของชนชั้นกลางระดับล่าง

คณะราษฎร 63 จึงกล่าวได้ว่าสร้างความเชื่อมโยงของชนชั้นได้อย่างกว้างขวาง ไม่น้อยไปกว่าขบวนนิสิต นักศึกษาในทศวรรษ 2510 

  • กำแพงพื้นที่การเมือง 

คณะราษฎร 63 สร้างความเชื่อมโยงข้ามพื้นที่การเมือง 3 ลักษณะด้วยกัน คือ 

1.ข้ามพื้นที่ทั่วประเทศไทย การชุมนุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า พื้นที่การเมือง ไม่ใช่กรุงเทพฯ เท่านั้นอีกต่อไป

ในอดีตมีสหพันธชาวนาชาวไร่ ในทศวรรษ 2510 ขบวนการคอมมิวนิสต์ ในทศวรรษ 2510 - 2520 และขบวนการคนเสื้อแดง ในทศวรรษ 2550 และปัจจุบันมีขบวนการราษฎร ที่มีมวลชนเข้ารวมครอบคลุ่มทั่วประเทศ 

2.ข้ามประเทศ ในอดีตคณะราษฎร 2475 และขบวนการเสรีไทย ในทศวรรษ 2480 ได้สร้างเครือข่ายข้ามประเทศในการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น และยุโรป

ในปัจจุบัน คณะราษฎร 63 ได้สร้างเครือข่ายข้ามประเทศ ผ่านเครือข่ายออนไลน์ เกิดการรวมตัวอย่างหลวมๆ เพื่อเกื้อหนุนกันสร้างกระแสประชาธิปไตยข้ามชาติ ผ่านเครือข่าย #milkteaalliance (พันธมิตรชานม) และการเชื่อมต่อออนไลน์ในแฟลทฟอร์มรูปแบบต่างๆ แม้กระทั้งวรรณกรรมออนไลน์ ในแอปพลิเคชั่นอ่านและเขียนวรรณกรรมอย่าง ‘จอยลดา’  ก็ถือเป็นพื้นที่การเมืองอีกลักษณะหนึ่ง 

3. ข้ามพื้นที่ออนไลน์-ออฟไลน์ ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และแพลทฟอร์มออนไลน์ต่างๆ คณะราษฎร 63 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเขาขยับและเชื่อมการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ เข้ากับออฟไลน์อย่างชาญฉลาด

พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงนักเลงคีย์บอร์ด ที่กลัวแดด กลัวฝน ไม่อดทน และกลัวความเสี่ยง ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่าปัญหาของประเทศไทยใหญ่หลวง และใกล้ตัวของพวกเขาอย่างยิ่ง จนทำให้พวกเขาตระหนักว่า ลำพังการเคลื่อนไหวบนโลกอินเทอร์เน็ตไม่เพียงพอที่จะสร้างผลสะเทือนแต่อย่างใด ทำให้เขาต้องลุกจากหน้าจอมาลงถนน 

ชุมนุม-LGBT-สิทธิทางเพศชุมนุม-LGBT-สิทธิทางเพศ
  • กำแพงเพศสภาวะ 

การก้าวข้ามที่สำคัญของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ย่อมมีการทำลายกำแพงเพศสภาวะเสมอ แต่กำแพงเพศสภาวะที่ผ่านมายังอยู่ในกรอบของสังคม 2 เพศ หากแต่การใช้สิทธิ หรือการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมทางเพศในปัจจุบันไปพ้นจากการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศระหว่างชาย-หญิง แต่นับรวมถึงการเรียกร้องความเท่าเทียมกันของความหลากหลายทางเพศสภาวะ ทั้งในแง่ของผู้มีส่วนปลุกและผลักดันขับเคลื่อนมวลชนเอง หรือผู้มีส่วนร่วมในนามมวลชนเองก็เป็นกลุ่มบุคคลที่มีอัตลักษณ์หลากหลายทางเพศ แสดงสัญลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย แม้กระทั้งการใช้ภาษาที่แสดงอัตลักษณ์ทางเพศ

เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า คณะราษฎร 63 ไม่เพียงแค่เปิดรับความหลากหลายทางเพศ แต่ยังทำให้เห็นว่าความหลากหลายทางเพศเหล่านี้ เป็นความปกติที่ต้องได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ยังมีประเด็นทางเพศอื่นๆ ที่ปรากฏให้เห็น และเกิดกระแสความเปลี่ยนแปลงไปได้มากมายหลายประการ

การส่องแสงดาวทลายกำแพงเพศสภาวะนี้ นับว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ก้าวหน้าไปไกลกว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตอย่างชัดเจน 

นักเรียนเลว
  • กำแพงของการไม่เคารพความเป็นคน หรือการมองคนไม่เท่ากัน 

การไม่เคารพความเป็นคน หรือการมองคนไม่เท่ากันเป็นกำแพงพื้นฐานของการเคลื่อนไหวของประชาชนตั้งแต่ไหนแต่ไรมา กล่าวได้ว่าทุกการเคลื่อนไหวของประชาชนคือ การเรียกร้องสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมือง การเรียกร้องสิทธิในการตัดสินชะตาชีวิตของตนเอง การเคารพประชาชนในฐานะคนเท่ากัน แต่ความโดดเด่นประการหนึ่งของคณะราษฎร 63 คือการทำลายกำแพงระบบอาวุโส

การท้าทายระบบอาวุโส พัฒนามาตั้งแต่การต่อต้านระบบโซตัส (SOTUS) ในโรงเรียน และมหาวิทยาลัย การตั้งคำถามกับระเบียบเครื่องแบบ และทรงผมของนักเรียน รวมไปถึงการละเมิดสิทธินักเรียนในโรงเรียน การตั้งกลุ่มเพื่อปกป้องสิทธิของนักเรียนเอง เช่น กลุ่มนักเรียนเลว 

การเคลื่อนไหวเหล่านี้ ทำลายเส้นแบ่งระหว่างเด็ก และผู้ใหญ่ ความเป็นผู้ใหญ่เดิมที่เคยถูกขีดเส้นไว้ถูกทลายลง จนเกิดการมีส่วนร่วมของนักเรียน เยาวชนอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ทำให้กล่าวกันว่า เป็นไปได้อย่างยิ่งที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้มีเยาวชนที่อายุน้อยที่สุด เข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หรืออย่างน้อย นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งหลังจากขบวนการนิสิต นักศึกษา ในทศวรรษ 2510 ที่มีเยาวชนเข้าร่วมมากขนาดนี้

ศาล.jpgทนายอานนท์.jpg
  • กำแพงสถาบันศักดิ์สิทธิ์ 

จากเคลื่อนไหวที่ผ่านมาได้ส่งผลให้ทั้งสถาบันกษัตริย์ และสถาบันตุลาการ ถูกเปิดเปลือยให้เห็นว่า กำลังเป็นสถาบันที่ก่อปัญหาให้แก่ระบอบประชาธิปไตย กลายเป็นสถาบันที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันประชาชน กล่าวคือ คณะราษฎร 63 เป็นมวลชนกลุ่มแรกๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง หลังคณะราษฎร 2475 

หลังขบวนการ 14 ตุลา (2516) เป็นต้นมา สถาบันกษัตริย์ขยายฐานอำนาจทั้งในเชิงสังคม การเมือง และเศรษฐกิจมาโดยลำดับ โดยขาดการทัดทานอย่างจริงจังของขบวนการประชาชนใดๆ มาก่อน หากจะไม่นับขบวนการคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต ขบวนการประชาชนต่างๆ ไม่เพียงไม่ทัดทานอำนาจสถาบันกษัตริย์ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการประชาชนที่ผ่านมากลับเสริมอำนาจทางสังคมให้กับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งกลับกลายเป็นการขยายทุนทางการเมืองให้แก่สถาบันกษัตริย์อย่างต่อเนื่อง 

ตรงกันข้ามคณะราษฎร 63 ตั้งคำถามต่อบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ตลอดจนเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์กลับมาเป็นเป็นสถาบันที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และเป็นสถาบันที่อยู่นอกและเหนือการเมืองอย่างแท้จริง เป็นที่เคารพเลื่อมใส เป็นศูนย์รวมอำนาจอธิปไตยของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ตำรวจ-ชุมนุมรัฐสภา ตำรวจ กลุ่มราษฎร สลายการชุมนุม รัฐสภา

แต่เมื่อรัฐบาลเผด็จการ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจในการปราบปรามการเคลื่อนไหวของคณะราษฎร 63 อย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ ทั้งโดยการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง การจับกุมอย่างไม่ยุติธรรม ตลอดจนการไม่เคารพสิทธิการประกันตัวของศาล การปฏิบัติต่อผู้ต้องหาทางความคิดของเรือนจำ และกรมราชทัณฑ์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากระบวนการยุติธรรมของไทย ปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไร้มนุษยธรรม ไร้หลักนิติธรรมอย่างต่อเนื่อง อย่างไร

แกนนำคณะราษฎรจึงกลายเป็นตัวแทนของเหยื่อความยุติธรรมและไร้มนุษยธรรม ของขบวนการตุลาการ และขบวนการยุติธรรมไทยทั้งหมด นับเป็นปฏิบัติการเปิดเปลีอยความอยุติธรรมอำมหิตขนานใหญ่แบบที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย 

ยุกติ เสนอมุมมองต่อว่า ถึงแม้พลังนี้ได้ทะลุทะลวงกำแพงขวางกั้นต่างๆ นาๆ ตามที่กล่าวมา แต่ในอนาคตอันใกล้ยังมีอีก 4 พรมแดนอันมืดมนที่ท้าทายการต่อสู้ต่อไป 

  • พรมแดนที่ 1 ความมืดมนของกลุ่มคนเบี้ยล่าง 

ประชาชน และคณะราษฎร 63 ต้องเรียนรู้มิติของความเหลื่อมล้ำที่หลากหลายขึ้น ใช้แสงของสิทธิมนุษยชนนำทางให้ชัดขึ้น เข้าใจปัญหาผู้ทุพพลภาพทางกายภาพ และจิตใจ ปัญหาชาติพันธุ์ ปัญหากรรมกร ปัญหาชาวไร่ ชาวนา เรียนรู้ชนข้ามชาติ ข้ามพรมแดน สู่แรงงานผลัดถิ่น เรียนรู้ให้มากขึ้นถึงปัญหาการรวมศูนย์อำนาจ

  • พรมแดนที่ 2 ความมืดมนของกลไกอำนาจ 

คณะราษฎร 63 จะต้องร่วมกันแปลงพลังการเคลื่อนไหวของมวลชน ในโลกออนไลน์ และบนท้องถนนให้กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงในระบบ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถาบันทางการเมือง ทำให้เกิดวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตแบบประชาธิปไตย และเคารพในสิทธิมนุษยชน ทำให้การเห็นคนเท่ากัน และการเคารพความเห็นต่างต้องกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวัน เป็นบรรทัดฐานของสังคม

โดยต้องสร้างสะพานระหว่างพลังมวลชน กับกลไกของรัฐ หาวิธีเข้าสู่ระบบการเมือง สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบ เปลี่ยนแปลงกลไกต่างๆ ได้แก่ การแก้รัฐธรรมนูญ การแก้กฎหมาย ตั้งแต่กฎหมายการชุมนุม การควบคุมฝูงชน กระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ศาล รวมทั้งมาตรา 112

  • พรมแดนที่ 3 ความมืดมนของวัฒนธรรมทางการเมือง 

ความมืดมนนี้มาจากความคิดทางการเมือง และวิถีชีวิตที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ความมืดมนนี้ก่อให้เกิดพรมแดนระหว่างคนต่างรุ่น หรือแม้แต่ระหว่างคนรุ่นเดียวกันที่ยังไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย พวกเขายังเชื่อมั่นในระบอบเผด็จการ ยังเชื่อในลัทธิคนดี 

คณะราษฎร 63 ซึ่งมีความเชื่อมั่นในวัฒนธรรมอุดมการณ์สิทธิมนุษยชน เชื่อมั่นในอุดมการณ์แบบประชาธิปไตย จะต้องสื่อสารข้ามพรมแดนที่ปิดกั้นคนเหล่านี้ สร้างแนวร่วมให้เพิ่มขึ้น ดึงคนที่ยังเชื่อว่าแค่ให้คนดีปกครองบ้านเมืองทุกอย่างก็จะดีเองกลับมา และที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่เพียงแต่ความดีจะมีหลายแบบ ลำพังความดี คนดียังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หากระบบไม่เอื้อให้ความเท่าเทียมกัน ไม่เอื้อให้เกิดการตรวจสอบอำนาจ ไม่เอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมือง 

การเคารพในความเป็นมนุษยจะต้องเกิดขึ้น จะต้องชี้ให้เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยเองไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายที่ประชาชนจะมีความสุขกว่านี้ได้ ไม่มีทางลัดอื่นใดนอกจากระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น 

  • พรมแดนที่ 4 ความมืดของอนาคตของแต่ละคน 

แม้ว่าทุกวันนี้พวกเราจะยังเชื่อมั่นต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม และประเทศชาติ และยังเชื่อว่า เวลาจะอยู่ข้างเรา แต่อย่าเพิ่งเชื่อว่าเวลาจะอยู่ข้างเรา เพราะเมื่อเราเติบโตขึ้น เมื่อพวกคุณเติบโตขึ้น มีอำนาจวาสนา พวกคุณเองนั่นแหละที่อาจจะเป็นพวกอนุรักษนิยม อย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าจะได้เห็นวันนั้นจริงๆ ว่า อนาคตหลังจากนี้ประเทศไทยไปจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

ยุกติ ย้ำว่า เมื่อผ่านไปอีกสัก 10 - 20 ปี ถ้ายังมีชีวิตอยู่ อยากจะรู้นักว่า พวกคุณจะยังเป็นนักต่อสู้แบบนี้ต่อไปไหม ทำอย่างไรที่อุดมการณ์จะยังคงอยู่ ทำอย่างไรที่จะทำให้พวกคุณไม่ถูกดูดกลืนไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ตนเองต่อต้าน ทำอย่างไรจึงจะไม่กลายไปเป็นคนเดือนตุลาเลี้ยวขวา หรือคอมมิวนิสต์นิยมเจ้า ไม่ต้องกราบไปสู้ไปอีก นี่เป็นอีกความมืดมนหนึ่งที่ท้าทายแสงดาวปัจจุบันอยู่ในอนาคตอันใกล้ ตัวคุณเองนั่นแหละที่จะเป็นอุปสรรคของตัวคุณเอง

ในระยะเพียงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ด้วยความกล้าหาญ ซื่อตรงต่อตนเอง และประวัติศาสตร์ ยึดมั่นต่อหลักการที่ให้ความสำคัญต่อพลังสร้างสรรค์ ความเสมอหน้า และมนุษยธรรม คณะราษฎร 63 ได้ทำให้ขบวนการประชาชนก้าวไปไกลและสานต่อความเคลื่อนไหวจากยุคก่อนหน้า 

แม้ในวันนี้ดวงดาวของเราหลายดวงจะยังคงรอการปลดปล่อยจากการคุมขังที่ไม่ชอบธรรม และไร้มนุษยธรรม เราในที่นี้ต่างก็มั่นใจว่า แสงดาวของเราย่อมไม่อาจถูกกักขังจองจำได้ พวกเราจะต้องมั่นคงต่อตนเองว่า จนต่อสู้เพื่อให้พวกเขาได้รับอิสรภาพ และสานต่อการต่อสู้ของประชาชนโดยสันติ ไปจนกว่าวันที่ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินอย่างแท้จริง