วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายมาซาฮิโกะ มาเอดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชีย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และนายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และคณะผู้บริหาร เยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้พบคณะผู้บริหารจากบริษัทโตโยต้า โดยยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลตระหนักดีถึงความสำคัญของบริษัทยานยนต์ญี่ปุ่นห่วงโซ่อุปทานของไทย ซึ่งไม่ใช่เพียงบริษัทโตโยต้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกบริษัทยานยนต์ญี่ปุ่น ทั้งนี้ ด้วยบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลจึงได้เตรียมความพร้อม ทั้งการเชิญชวนการลงทุนต่าง ๆ การหาแนวทางและมาตรการที่เหมาะสม เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะมีการหารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ร่วมกันในอนาคตให้ครอบคลุม ทั้งปัจจัยภายใน คือ การปรับปรุงโครงสร้าง (Internal structure) และปัจจัยภายนอก คือ การเพิ่มมาตรการหรือแรงจูงใจ (Incentive) ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนธันวาคม 2566 นี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีกำหนดการที่จะเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น
ด้านบริษัทโตโยต้า กล่าวว่า บริษัทเล็งเห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ในไทยที่มีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะกลุ่มรถกระบะและ Eco-Car ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งไทยมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจึงกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกไปทั่วโลก โดยยืนยันว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมไปถึงแนวทางการผลิตยานยนต์ทั้งประเภทรถยนต์สันดาป (ICE) ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า ทั้ง HEV, PHEV, BEV และ FCEV เพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานและภาคการส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นด้านนโยบายและมาตรการยานยนต์ของไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายด้าน EVs พลังงานสะอาด สนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ และมุ่งเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งในอาเซียน ด้านบริษัทโตโยต้าเห็นพ้องที่จะสนับสนุนนโยบายของไทย โดยขอให้มีการสนับสนุนระยะยาวผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินอุดหนุน เพื่อรับประกันการผลิตและการขายรถยนต์ทั้งการขายในประเทศและการส่งออก รวมถึงเสนอแนะให้รัฐบาลมีมาตรการที่ครอบคลุมถึงการรองรับยานพาหนะที่หมดอายุการใช้งาน (ELV) ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมดตามนโยบายพลังงานสะอาดของไทยอีกด้วย โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือร่วมกัน เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมร่วมกัน
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลจะสนับสนุนการลงทุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ สร้างผลประโยชน์ที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งร่วมกันได้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อประโยชน์ร่วมกันต่อไป